การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ตาแป๋วตกลงให้มันม่วงยืมรถยนต์โดยตกลงกันด้วยวาจา เมื่อมันม่วงได้รับมอบรถจากตาแป๋วแล้ว วันหนึ่งมันม่วงต้องไปทําธุระที่สถานีตํารวจ จึงนํารถยนต์ของตาแป๋วไปจอดไว้ใกล้ ๆ สถานีตํารวจ ซึ่งบริเวณนั้นมีรถยนต์ของบุคคลอื่นที่มาติดต่อจอดอยู่เช่นกัน โดยปิดกระจกล็อคกุญแจและตรวจสอบความเรียบร้อยของรถเป็นอย่างดี เมื่อทําธุระเสร็จกลับมาพบว่ารถของตาแป๋วหายไป จึงรีบแจ้งความ และติดตามหารถคืนในทันที แต่สุดท้ายก็ไม่อาจติดตามเอารถคืนมาได้ เมื่อตาแป๋วทราบว่ารถของตน หายไป จึงเรียกให้มันม่วงรับผิดในความสูญหายของรถ มันม่วงอ้างว่าไม่ได้กระทําผิดสัญญายืมและกรณีนี้ไม่ได้ทําสัญญายืมเป็นลายลักษณ์อักษรจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถ
ดังนี้ ข้อต่อสู้ของมันม่วงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”
มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”
มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตาแป๋วตกลงให้มันม่วงยืมรถยนต์โดยตกลงกันด้วยวาจา และได้ส่งมอบ รถยนต์ให้มันม่วงแล้วนั้น สัญญายืมระหว่างตาแป๋วกับมันม่วงถือเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและมีผลสมบูรณ์ตาม กฎหมายตามมาตรา 640 และมาตรา 641 ทั้งนี้เพราะสัญญายืมใช้คงรูปนั้นเป็นสัญญาที่กฎหมายไม่ได้กําหนดแบบ ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงอาจตกลงกันทําสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือจะตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ เพียงแต่มาตรา 641 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญายืมใช้คงรูปนั้น ย่อมบริบูรณ์เมื่อได้มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
การที่มันม่วงไปทําธุระที่สถานีตํารวจ จึงนํารถยนต์ไปจอดไว้ใกล้ ๆ สถานีตํารวจ ซึ่งบริเวณนั้น มีรถยนต์ของบุคคลอื่นจอดอยู่ด้วย โดยปิดกระจกล็อคกุญแจ และตรวจสอบความเรียบร้อยของรถเป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อพบว่ารถของตาแป๋วหายไปก็รีบแจ้งความและรีบติดตามหารถคืนในทันที จึงเป็นกรณีที่ถือว่ามันม่วงได้ใช้ ความระมัดระวังในการสงวนรถยนต์ที่ยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 644 แล้ว
และนอกจากนั้น จากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่ามันม่วงได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมมาฝ่าฝืนต่อหน้าที่ของผู้ยืมตาม มาตรา 643 แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีที่รถยนต์ของตาแป๋วหายไปนั้น มันม่วงจึงอ้างได้ว่าตนไม่ได้กระทําผิดสัญญายืม จึงไม่ต้องรับผิด แต่จะอ้างว่าตนไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ได้ทําสัญญายืมเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่ได้
สรุป ข้อต่อสู้ของมันม่วงที่ว่าตนไม่ได้กระทําผิดสัญญายืม จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของ รถยนต์นั้นฟังขึ้น ส่วนกรณีที่อ้างว่าสัญญายืมไม่ได้ทําเป็นลายลักษณ์อักษรตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโท 1,000,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กําหนด ชําระหนี้ 1 ปี และมีข้อตกลงในสัญญากู้ยืมด้วยว่า หากถึงกําหนดชําระหนี้นายเอกไม่มีเงินคืน ยินยอมโอนรถยนต์โบราณของตนให้นายโทแทน ต่อมาเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ นายเอกไม่มีเงิน ชําระหนี้จึงได้ทําการโอนรถยนต์โบราณของตนให้นายโทจนเสร็จเรียบร้อย โดยมีราคาตาม ท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบเท่ากับ 1,150,000 บาท ซึ่งเป็นจํานวนพอดีกับต้นเงินและ ดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม สองเดือนต่อมานายโทได้นําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวที่มีลายมือชื่อของนาย เอกไปฟ้องศาลเรียกเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดด้วย แต่นายเอกไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการชําระหนี้คืนมานําสืบให้ศาลเห็นแต่ประการใด ดังนี้ นายเอกจึงมาปรึกษาท่านซึ่งเป็นทนายความว่าควรทําเช่นใด และนายเอกจะต้องชําระหนี้ เงินกู้ยืมดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”
มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว
หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
มาตรา 656 “ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทน จํานวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชําระโดยจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้น ในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชําระหนี้แทน
เงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชําระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือ ทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโท 1,000,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี กําหนดชําระหนี้ 1 ปี และมีข้อตกลงในสัญญากู้ยืมด้วยว่า หากถึงกําหนดชําระหนี้นายเอกไม่มี เงินคืน ยินยอมโอนรถยนต์โบราณของตนให้นายโทแทนนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนายเอกและนายโทถือเป็นการทํา สัญญากู้ยืมเงินที่ผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจํานวนเงินตามาตรา 656 วรรคหนึ่ง และ สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีผลสมบูรณ์และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง
และตามมาตรา 653 วรรคสอง นั้น ในกรณีที่การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในการนําสืบว่า มีการใช้เงินแล้วจะสามารถนําสืบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง
หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
เมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ การที่นายเอกไม่มีเงินชําระหนี้จึงได้ทําการโอนรถยนต์โบราณของตนให้นายโทจนเสร็จเรียบร้อยโดยมีราคาตามท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบเท่ากับ 1,150,000 บาท ซึ่งเป็น จํานวนพอดีกับต้นเงินและดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นการชําระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจํานวนเงิน และเมื่อนายโท ผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้ว หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมระงับไปตามมาตรา 656 นายโทจะให้นายเอก ชําระหนี้ใหม่ไม่ได้ แม้ว่าการชําระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นของนายเอกจะไม่มีหลักฐานการคืนอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 653 วรรคสองก็ตาม เพราะการชําระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจํานวนเงินตาม มาตรา 656 นั้น ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อนายโทได้นําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปฟ้องศาลเรียกเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดด้วยนั้น นายเอกจึงไม่ต้องชําระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวอีกครั้ง โดยนายเอกสามารถ นําพยานหลักฐานอย่างอื่นมานําสืบได้ว่าตนได้ชําระหนี้ด้วยรถยนต์โบราณของตนไปแล้ว หนี้จึงระงับลง
สรุป นายเอกสามารถนําพยานหลักฐานอย่างอื่นมานําสืบได้ว่าตนได้ชําระหนี้ด้วยรถยนต์โบราณ ของตนให้แก่นายโทแล้ว ทําให้หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวระงับลง และนายเอกไม่ต้องชําระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวอีกครั้ง
ข้อ 3 นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนสุขุมวิท โดยมีนายจันทร์เข้าพักอยู่ด้วยในห้อง เดียวกัน ในการเข้าพักครั้งนี้นายอาทิตย์เป็นผู้ลงชื่อในใบลงทะเบียนเข้าพักเพียงคนเดียว หลังจากนํากระเป๋าเดินทางเข้าไปเก็บในห้องพักแล้ว ทั้งคู่ได้ออกไปเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าและเมื่อ กลับเข้ามาที่ห้องอีกครั้งก็พบว่ากระเป๋าเดินทางถูกรื้อค้น มีของที่ถูกขโมยไปคือรองเท้ากีฬา ของนายจันทร์ 1 คู่ ราคา 7,000 บาท นายอาทิตย์และนายจันทร์รีบแจ้งต่อนายสมศักดิ์ซึ่งเป็น ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมให้ทราบทันที แต่นายสมศักดิ์ต่อสู้ว่านายจันทร์ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏ ในการลงทะเบียนเข้าพัก เจ้าสํานักจึงไม่ต้องรับผิดในทรัพย์สินของนายจันทร์
ในท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายสมศักดิ์รับฟังได้หรือไม่ เจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่ เป็นจํานวนเท่าใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง
ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”
มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 674 และ 675 ได้กําหนดให้เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ลจะต้องรับผิดชอบในความสูญหาย หรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยนั้น ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่เข้าพักอาศัย
ร่วมกับผู้เดินทางด้วย ความรับผิดของเจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ลไม่ได้จํากัดเฉพาะทรัพย์สินของผู้ที่ลงทะเบียน เข้าพักแรมเท่านั้น ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์เมื่อทรัพย์สินของนายจันทร์หายไป นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไป ของโรงแรมจึงต้องรับผิดชอบ จะต่อสู้ว่านายจันทร์ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏในการลงทะเบียนเข้าพักไม่ได้
และเมื่อทรัพย์สินที่สูญหายไป คือ รองเท้ากีฬาของนายจันทร์ 1 คู่ ราคา 7,000 บาท นั้น เป็น ทรัพย์ทั่ว ๆ ไปตามมาตรา 675 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง ดังนั้น แม้ว่าจะ ไม่ได้มีการฝากทรัพย์นั้นไว้แก่เจ้าสํานัก เจ้าสํานักโรงแรมก็ต้องรับผิดชอบเต็มจํานวน และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อนายจันทร์พบเห็นว่าทรัพย์สินนั้นสูญหาย นายจันทร์ได้แจ้งความนั้นต่อนายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมทันที ตามมาตรา 676 ดังนั้นกรณีนี้นายสมศักดิ์จึงต้องรับผิดต่อนายจันทร์เป็นจํานวนเงิน 7,000 บาท
สรุป ข้อต่อสู้ของนายสมศักดิ์ที่ว่านายจันทร์ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏในการลงทะเบียนเข้าพักเจ้าสํานักจึงไม่ต้องรับผิดในทรัพย์สินของนายจันทร์นั้นรับฟังไม่ได้ เจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดต่อนายจันทร์เป็นจํานวนเงิน 7,000 บาท