การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งและนายสองเป็นเพื่อนเรียนคณะนิติศาสตร์ด้วยกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นายสอง มาขอยืมหนังสือ LAW 2009 จากนายหนึ่งเพื่อไปอ่านเตรียมสอบเทอม 1/62 นายหนึ่งเห็นว่า ตนสอบผ่าน LAW 2009 มานานแล้ว จึงตกลงให้นายสองยืมพร้อมทั้งส่งมอบหนังสือให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 นายสามซึ่งเป็นน้องชายของนายหนึ่งได้มาขอยืมหนังสือ LAW 2009 จากนายหนึ่งเช่นเดียวกัน ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองเพื่อเอาไปให้นายสามน้องชายของตนได้หรือไม่ เพราะ เหตุใด
ข หากนายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่งแล้วต่อมาเกิดความเสียหายขึ้น กับหนังสือ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียก
ของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก การที่นายหนึ่งตกลงให้นายสองยืมหนังสือ LAW 2009 เพื่อไปอ่านเตรียมสอบเทอม 1/62 และ ได้ส่งมอบหนังสือให้เรียบร้อยแล้วนั้น สัญญายืมระหว่างนายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 640 และมาตรา 641 และเป็นสัญญายืมใช้คงรูปที่ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการยืมไว้ซึ่งตามมาตรา 646 ได้กําหนดไว้ว่าให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา

ดังนั้น เมื่อนายสองยังสอบไม่เสร็จ นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองเพื่อเอาไปให้นายสามน้องชายของตนไม่ได้

ข ตามมาตรา 643 ได้กําหนดหน้าที่ของผู้ยืมไว้ว่า ผู้ยืมจะต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่น นอกจากการอันเป็นปกติของทรัพย์นั้นหรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา ต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้ บุคคลภายนอกใช้สอย และต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ซึ่งถ้าผู้ยืมกระทําผิดหน้าที่ของ ผู้ยืมดังกล่าว ผู้ยืมจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ยืม แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ดังนั้น การที่นายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ที่ยืมไว้ นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ต่อมาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับหนังสือ ผู้ยืมคือนายสองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบใน ความเสียหายนั้น

สรุป
ก. นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองในขณะที่นายสองยังสอบไม่เสร็จไม่ได้
ข. หากนายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่งแล้วต่อมาเกิดความ เสียหายขึ้นกับหนังสือ นายสองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ข้อ 2 นางสาวใบเตยยืมเงินเสี่ยท็อปเป็นเงิน 20,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย ทั้งคู่ ตกลงคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมครั้งนี้ 3,000 บาท ต่อมานางสาวใบเตยชําระหนี้งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ย โดยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้จํานวน 3,000 บาท ครั้งที่สองชําระหนี้เงินต้นด้วยเช็คจํานวน 20,000 บาท แต่ถึงกําหนดเช็คไม่มีเงินจึงถูกเสี่ยท็อปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในข้อหา ไม่มีการใช้เงินตามเช็ค นางสาวใบเตยจึงได้นําเงินจํานวน 20,000 บาท มามอบให้พนักงานสอบสวน เพื่อมอบให้แก่เสี่ยท็อป พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้เสี่ยท็อปลงชื่อรับเงินไว้ในบันทึก ดังกล่าว ดังนี้ หากเสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตยคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ นางสาวใบเตยจะนําสืบว่าตนชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 321 วรรคหนึ่ง “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวใบเตยยืมเงินเสี่ยท็อปเป็นเงิน 20,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็น หนังสือตามกฎหมายนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนางสาวใบเตยและเสี่ยท็อปย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 653 วรรคสองนั้น ในกรณีที่การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในการนําสืบว่า
มีการใช้เงินแล้วจะสามารถนําสืบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

การที่นางสาวใบเตยได้ชําระหนี้งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ยโดยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้จํานวน
3,000 บาทนั้น ถือเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ และเมื่อเสี่ยท็อปเจ้าหนี้ยอมรับหนี้ ในส่วนดอกเบี้ยจํานวน 3,000 บาท ย่อมระงับไปตามมาตรา 321 วรรคหนึ่ง เสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตย ชําระหนี้ใหม่ไม่ได้ แม้ว่าการชําระหนี้ด้วยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้ของนางสาวใบเตยจะไม่มีหลักฐานอย่างใด อย่างหนึ่งตามมาตรา 653 วรรคสองก็ตาม เพราะการชําระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นแทนจํานวนเงิน ตามมาตรา 321 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสองที่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น นางสาวใบเตย จึงสามารถนําพยานบุคคลมาสืบถึงการชําระหนี้ (ดอกเบี้ย) ได้

ส่วนในงวดที่สองซึ่งนางสาวใบเตยได้ชําระหนี้เงินต้นจํานวน 20,000 บาท โดยได้นําเงิน 20,000 บาท มามอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อมอบให้แก่เสี่ยท็อป และพนักงานสอบสวนได้ทําบันทึกและให้เสี่ยท็อปลงชื่อรับเงินไว้ในบันทึกดังกล่าวนั้น บันทึกของพนักงานสอบสวนดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืมตามมาตรา 653 วรรคสองแล้ว นางสาวใบเตยจึงสามารถใช้บันทึกฉบับนี้นําสืบต่อศาลถึงการชําระหนี้เงินต้น จํานวน 20,000 บาทได้ว่าตนได้ชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ดังนั้น เสี่ยท็อปจึงไม่อาจฟ้องร้องให้นางสาวใบเตย คืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ได้

สรุป เสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตยคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ไม่ได้ และนางสาวใบเตยสามารถ นําสืบว่าตนชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วได้

ข้อ 3 อาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยได้รับบัตรเชิญให้มาพักฟรีในคืนแรก แต่ถ้าอาทิตย์ต้องการพักในคืนต่อ ๆ ไป โรงแรมจะคิดค่าที่พักแค่ 50% ของค่าห้องปกติ อาทิตย์ จึงตกลงเข้าพักแค่คืนเดียวจึงเป็นการได้เข้าพักฟรี ในระหว่างที่อาทิตย์ลงไปรับประทานอาหาร ที่ห้องอาหารของโรงแรมได้หยิบเอาเหล็กไหลมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นมาอวดแขกอื่น ๆ ที่มานั่ง ในห้องอาหารนี้ เมื่อกลับเข้าห้องพักก็หยิบเหล็กไหลกลับเข้าไปในห้องพักด้วย ตกกลางคืนมีคน แอบงัดแงะเข้าไปขโมยของในห้องของอาทิตย์และขโมยเหล็กไหลดังกล่าวไป อาทิตย์จึงแจ้งให้ จันทร์ผู้เป็นเจ้าของสํานักโรงแรมรับผิดชอบชดใช้ราคาเหล็กไหลจํานวน 10 ล้านบาทแก่อาทิตย์ แต่จันทร์ต่อสู้ว่าอาทิตย์ได้พักที่โรงแรมนี้โดยไม่เสียค่าที่พักจันทร์จึงไม่ต้องรับผิด ไม่อาจถือว่า อาทิตย์เป็น “แขกอาศัย” ตามความหมายของเรื่องเจ้าสํานักโรงแรม ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจันทร์ถูกต้องหรือไม่ จันทร์ต้องรับผิดชดใช้ต่อทรัพย์สิน ของอาทิตย์ที่สูญหายหรือไม่ เพียงไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียง 5,000 บาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมซึ่งมีจันทร์เป็นเจ้าสํานักโรงแรมนั้น แม้การที่อาทิตย์ เข้าพักจะเป็นการพักฟรีเพราะได้รับบัตรเชิญก็ตาม ก็ถือว่าอาทิตย์อยู่ในฐานะของคนเดินทางหรือแขกอาศัยตามนัย ของมาตรา 474 แล้ว ดังนั้น จันทร์ซึ่งเป็นเจ้าสํานักโรงแรมจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือบุบสลาย อย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินของอาทิตย์ซึ่งเป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่ได้พามา

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีคนแอบงัดแงะเข้าไปขโมยของในห้องของอาทิตย์และได้ขโมยเหล็กไหล ซึ่งมีราคา 10 ล้านบาทของอาทิตย์ไป จันทร์จึงต้องรับผิดชอบต่อทรัพย์สินที่สูญหายของอาทิตย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทรัพย์ที่ถูกขโมยไปนั้นคือเหล็กไหลซึ่งมีมูลค่า 10 ล้านบาท และเหล็กไหลเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความหมายของ คําว่าของมีค่าอื่น ๆ ตามมาตรา 675 วรรคสอง แต่อาทิตย์ไม่ได้ฝากของมีค่าดังกล่าวไว้กับเจ้าสํานัก ดังนั้น จันทร์ เจ้าของสํานักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่ออาทิตย์เพียง 5,000 บาทเท่านั้นตามมาตรา 675 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

สรุป ข้อต่อสู้ของจันทร์ที่ว่าอาทิตย์ไม่ใช่แขกอาศัยนั้นไม่ถูกต้อง จันทร์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ต่อกรณีที่ทรัพย์สินของอาทิตย์สูญหาย แต่จันทร์ต้องรับผิดเพียง 5,000 บาทเท่านั้น

 

Advertisement