การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562 ข้อสอบกระบวนวิชา
LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายไก่ตกลงขายที่ดิน 1 แปลงให้นายไข่ในราคา 1 ล้านบาท โดยยอมให้นายไข่ผ่อนชําระราคาที่ดิน ได้เป็น 10 งวด ๆ ละ 1 แสนบาท โดยนายไก่ส่งมอบที่ดินให้แก่นายไข่ได้ครอบครองเรียบร้อยแล้ว และจะทําการโอนให้เมื่อนายไข่ชําระราคาครบถ้วน 1 ล้านบาท และนายไก่ได้ตกลงขายกวางดาว จํานวน 4 ตัวให้แก่นายเป็ดในราคาตัวละ 5 พันบาท โดยมีการส่งมอบกวางดาว และนายเป็ดชําระ ราคาครบถ้วน 2 หมื่นบาทถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(1) สัญญาซื้อขายระหว่างนายไก่และนายไข่ นายไก่และนายเป็ดเป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน และมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
(2) หากนายไข่ผ่อนค่าซื้อไปแค่ 2 งวดแล้วไม่ยอมผ่อนต่ออีกเลย นายไก่จะฟ้องนายไข่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”
มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐาน
เป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้
บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”
วินิจฉัย
จากบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ
แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือได้มีการชําระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ตกลงขายที่ดิน 1 แปลงให้นายไข่ในราคา 1 ล้านบาท โดยยอมให้นายไข่ผ่อนชําระราคาที่ดินได้เป็น 10 งวด ๆ ละ 1 แสนบาท โดยนายไก่ส่งมอบที่ดินให้แก่นายไข่ได้ ครอบครองเรียบร้อยแล้ว และจะทําการโอนให้เมื่อนายไข่ชําระราคาครบถ้วน 1 ล้านบาทนั้น ถือว่าสัญญาซื้อขาย ที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาจะซื้อขาย (จะซื้อจะขาย) อสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสัญญาที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําเป็น หนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั่นเอง และสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่ สมบูรณ์แม้จะตกลงกันด้วยวาจา เพราะในทางกฎหมายนั้น สัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบแต่อย่างใด ส่วนการที่นายไก่ได้ตกลงขายกวางดาวจํานวน 4 ตัวให้แก่นายเป็ดในราคาตัวละ 5 พันบาท
โดยมีการส่งมอบกวางดาว และนายเป็ดชําระราคาครบถ้วน 2 หมื่นบาทถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น สัญญาซื้อขาย กวางดาวระหว่างนายไก่และนายเป็ดเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่วไป มิใช่เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์ตามมาตรา 453 และมีผลสมบูรณ์ เพราะเป็นสัญญาซื้อขายที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
(2) แม้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่จะมิได้ทําเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายไข่ซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดก็ตาม เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ และเมื่อ ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันตามมาตรา 456 วรรคสอง คือได้มีการชําระหนี้บางส่วนแล้ว โดยนายไข่ชําระราคาค่าซื้อที่ดินแล้ว 2 งวด และนายไก่ได้ส่งมอบ ที่ดินให้นายไข่ได้ครอบครองแล้ว ดังนั้น เมื่อนายไข่ผิดสัญญาไม่ยอมผ่อนค่าซื้อที่ดินอีกเลย นายไก่จึงสามารถฟ้อง
นายไข่ได้
สรุป
(1) สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนสัญญาซื้อขายกวางดาวระหว่างนายไก่และนายเป็ดเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(2) หากนายไข่ผ่อนค่าซื้อที่ดินไปแค่ 2 งวดแล้วไม่ยอมผ่อนต่ออีกเลยนั้น นายไก่สามารถฟ้องนายไข่ได้
ข้อ 2 นายนกตกลงขายรถยนต์ใช้แล้วซึ่งนายนกไปขโมยรถยนต์ของนายหนูมาแล้วเอามาขายต่อให้นายหมู
ในราคาพิเศษโดยนายหมูทราบดีว่าเป็นรถยนต์ที่นายนกขโมยมาขาย ต่อมานายหนูติดตามเอารถยนต์ ของตนเองคืนจากนายหมูพร้อมแสดงพยานหลักฐานความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน นายหมูจึงคืน
รถยนต์ให้นายหนูไป นายหมูจะฟ้องให้นายนกรับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”
มาตรา 476 “ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้น ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด”
วินิจฉัย
กรณีการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 475 วางหลักไว้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิถ้าผู้ซื้อ ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาได้โดยปกติสุข เพราะมีบุคคลอื่นที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้น อยู่ในเวลาซื้อขายมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ แต่ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้น ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วในเวลา ซื้อขาย ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธินั้น (มาตรา 476)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนายนก และต่อมาได้ถูกนายหนูเจ้าของ รถยนต์ที่แท้จริงที่ถูกนายนกขโมยไปได้ติดตามเอารถยนต์ของตนเองคืนจากนายหมูพร้อมแสดงพยานหลักฐาน ความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ทําให้นายหมูต้องคืนรถยนต์ให้แก่นายหนูไปนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่านายหมูผู้ซื้อ ถูกรอนสิทธิแล้วตามมาตรา 475 ซึ่งโดยหลักแล้วนายนกผู้ขายจะต้องรับผิดต่อนายหมู
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์กันนั้น นายหมูได้รู้ถึง สิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นแล้ว คือนายหมูได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ที่ตนได้ซื้อจากนายนกนั้นเป็นรถยนต์ที่นายนก ได้ขโมยมาขาย จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 476 ที่นายนกผู้ขายไม่ต้องรับผิดในกรณีที่นายหมูถูกรอนสิทธิ ดังนั้น นายหมูจะฟ้องให้นายนกรับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิไม่ได้
สรุป
นายหมูจะฟ้องให้นายนกรับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิไม่ได้
ข้อ 3 นายมวงนําช้างแม่ลูกไปทําเป็นหนังสือขายฝากนายครามไว้ ช้างแม่ในราคา 5 แสนบาท ช้างลูก ในราคา 2 แสนบาท มีกําหนดไถ่คืนภายในเวลา 1 ปี ไถ่คืนในราคาเดิม เมื่อขายฝากไปได้เพียง 5 เดือน เกิดโรคระบาดโควิด 19 นายครามกลัวช้างตายจึงไปบังคับให้นายม่วงมาไถ่ช้างคืน และต้องนําเงินมา 7 แสนบาท บวกประโยชน์ที่ตนควรจะได้อีก 15%
(1) สัญญาขายฝากช้างแม่และช้างลูกระหว่างนายม่วงและนายครามมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
(2) นายครามจะบังคับให้นายม่วงมาไถ่ช้างคืนก่อนครบกําหนด 1 ปีได้หรือไม่ นายม่วงจะปฏิเสธ
ได้หรือไม่
(3) นายครามให้นายม่วงน้ําเงินสินไถ่จํานวน 7 แสนบาท บวกประโยชน์อีก 15% เป็นสิทธิโดย ชอบด้วยกฎหมายของนายครามหรือไม่ นายม่วงจะนําเงินมาไถ่เพียง 7 แสนบาทได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”
มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”
มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย
มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไม่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”
วินิจฉัย
สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้น คืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝาก อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉันได้ดังนี้
(1) การที่นายม่วงได้นําช้างแม่ไปทําเป็นหนังสือขายฝากไว้กับนายครามไว้นั้น สัญญาขายฝากช้างแม่ระหว่างนายม่วงและนายครามย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะการขายฝากช้างแม่ซึ่งเป็นสัตว์พาหนะและเป็น
สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้นจะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง เมื่อคู่สัญญาได้ทําสัญญาขายฝากเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะ เปรียบเสมือนคู่สัญญาไม่ได้ทําสัญญาขายฝากช้างแม่กันแต่อย่างใดเลย ดังนั้น นายครามจึงต้องส่งคืน ช้างแม่ให้แก่นายม่วง และนายม่วงก็จะต้องคืนเงิน 5 แสนบาทให้แก่นายครามในฐานลาภมิควรได้
ส่วนสัญญาขายฝากช้างลูกนั้น เมื่อช้างลูกถือเป็นสังหาริมทรัพย์ทั่วไปยังไม่ใช่สัตว์พาหนะ การทําสัญญาขายฝากจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่งที่จะต้องทําเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สัญญาขายฝากช้างลูกซึ่งคู่สัญญาได้ทําเป็นหนังสือนั้น
จึงมีผลสมบูรณ์
(2) การขายฝากสังหาริมทรัพย์นั้น ตามมาตรา 494 (2) คู่สัญญาสามารถกําหนดเวลาไถ่คืนได้ ไม่เกิน 3 ปี ดังนั้นเมื่อคู่สัญญาได้กําหนดเวลาในการไถ่คืนไว้เพียง 1 ปี จึงถูกต้องตามกฎหมายและมีผลทําให้ นายม่วงต้องไถ่ช้างลูกคืนภายในกําหนด : ปีนับแต่เวลาขายฝาก หรือนายม่วงอาจจะใช้สิทธิไถ่คืนก่อนครบกําหนด 1 ปีก็ได้ซึ่งเป็นสิทธิของนายม่วงที่เป็นฝ่ายเลือกว่าจะไถ่คืนเมื่อใดก็ได้ภายในกําหนด 1 ปี นายครามจะบังคับให้ นายม่วงมาไถ่ช้างคืนก่อนครบกําหนด 1 ปีไม่ได้
(3) สินไถ่นั้นคู่สัญญาจะตกลงกันอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี (มาตรา 499) แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาได้ตกลงให้ไถ่คืนตามราคาเดิมคือ 5 แสนบาท และ 2 แสนบาท ก็ต้องเป็นไปตามนั้นจะมาคิดประโยชน์ในภายหลังไม่ได้ ดังนั้น นายม่วงสามารถนําเงินมาไถ่ช้างคืน ได้เพียง 7 แสนบาท นายครามจะบังคับให้นายม่วงน้ําเงินสินไถ่จํานวน 7 แสนบาท บวกประโยชน์ตอบแทนอีก 15 % ไม่ได้ เพราะถือเป็นสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายคราม
สรุป
(1) สัญญาขายฝากช้างแม่ระหว่างนายม่วงและนายครามเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาขายฝาก
ช้างลูกมีผลสมบูรณ์
(2) นายครามจะบังคับให้นายม่วงไถ่ช้างคืนก่อนครบกําหนด 1 ปีไม่ได้
(3) นายครามจะให้นายม่วงน้ําเงินสินไถ่จํานวน 7 แสนบาท บวกประโยชน์อีก 15 % นั้น เป็นสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายม่วงสามารถนําเงินมาไถ่ได้ในจํานวน 7 แสนบาท