การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2105 (LAW 2005) ป.พ.พ.ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1 นายแดงตกลงซื้อขายที่ดินจากนายดําในราคา 1 ล้านบาท โดยในวันที่ตกลงซื้อขายกัน นายแดง ได้ชําระเงินไว้ 2 แสนบาท และทั้งคู่ตกลงกันว่าค่าธรรมเนียมโอนให้ออกคนละครึ่ง หลังจากนั้น นายดําขายที่ดินให้นายขาวในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาท โดยไปจดทะเบียนโอนให้ทันที กรณีดังกล่าว สัญญาซื้อขายระหว่างนายแดงกับนายดําเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และสัญญาซื้อขายระหว่าง นายดํากับนายขาวเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด มีผลทางกฎหมายอย่างไร และระหว่างนายแดง กับนายขาว ใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐาน เป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้
บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”

มาตรา 457 “ค่าฤชาธรรมเนียมทําสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายจึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย”

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือได้มีการชําระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 สัญญาซื้อขายระหว่างนายแดงกับนายดํา

การที่นายแดงได้ตกลงซื้อขายที่ดินจากนายดําในราคา 1 ล้านบาท โดยทั้งคู่ตกลงกันว่าค่าธรรมเนียมโอนให้ออกคนละครึ่งนั้น ถือว่านายแดงและนายดําได้แสดงเจตนาทําสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่ง เป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 453 และการที่ทั้งสองได้มีข้อตกลงกันว่าค่าธรรมเนียมโอนให้ออกคนละครึ่ง ตามมาตรา 457 นั้น แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญายังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะ ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทําตามแบบที่
กฎหมายกําหนดไว้ให้เสร็จสิ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายแดงและนายดําจึงเป็นสัญญา จะซื้อจะขายตามมาตรา 456 วรรคสอง และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแม้ทั้งสองจะมิได้ทําสัญญากันเป็นหนังสือ และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายแดงและนายดํานั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่มีหลักฐานในการฟ้องร้อง บังคับคดีตามมาตรา 456 วรรคสอง เพราะการที่นายแดงได้ชําระเงินไว้ 2 แสนบาทนั้นถือเป็นการชําระหนี้บางส่วน

2 สัญญาซื้อขายระหว่างนายดํากับนายขาว

การที่นายดําได้ขายที่ดินให้นายขาวในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาท และได้ไปจดทะเบียนโอนกัน ทันทีนั้น ถือเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และเมื่อทั้งสองได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย มาตรา 456 วรรคหนึ่ง และจะมีผลทําให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันคือที่ดินได้โอนไปเป็นของนายขาว ตั้งแต่ที่ได้ทําสัญญาซื้อขายกันโดยถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 458

ดังนั้น ระหว่างนายแดงกับนายขาว นายขาวจึงมีสิทธิในที่ดินดีกว่านายแดง เพราะเป็นผู้รับ โอนสิทธิในที่ดินถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกําหนด ส่วนนายแดงมีสิทธิแต่เพียงการฟ้องให้นายดําผู้ขายคืนเงิน ให้แก่ตนพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าปรับตามสัญญา (ถ้ามี) ได้เท่านั้น

สรุป

สัญญาซื้อขายระหว่างนายแดงกับนายดําเป็นสัญญาจะซื้อจะขายและมีผลสมบูรณ์ ส่วนสัญญาซื้อขายระหว่างนายดํากับนายขาวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน
และนายขาวจะมีสิทธิในที่ดินดีกว่านายแดง

ข้อ 2 นายเอกนํารถยนต์ของตนออกขายทอดตลาดโดยมีนายสองเป็นผู้ซื้อ หลังจากนายสองได้รถยนต์มา
ก็นําไปขายต่อให้กับนางสวย โดยนายสองรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมานั้นระบบเบรกมีปัญหาโดยในการขายนายสองทําข้อตกลงกับนางสวยว่าตนจะไม่ขอรับผิดหากมีความชํารุดบกพร่องเกิดขึ้น หลังจากนางสวยได้รถไปก็พบว่าระบบเบรกมีปัญหา จึงไปเรียกให้นายสองผู้ขายรับผิดใน ความชํารุดบกพร่องดังกล่าว นายสองต่อสู้ว่าทรัพย์นี้ตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดประกอบกับ มีข้อตกลงว่าจะไม่ต้องรับผิด คนจึงไม่ต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องดังกล่าว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายสองฟังขึ้นหรือไม่ แล้วนายสองจะฟ้องนายเอกให้รับผิดในความ ชํารุดบกพร่องได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อม ราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า
ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

มาตรา 483 “คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องหรือ เพื่อการรอนสิทธิก็ได้”

มาตรา 485 “ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการ อันผู้ขายได้กระทําไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์
อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473
เช่น ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกนํารถยนต์ของตนออกขายทอดตลาดโดยมีนายสองเป็นผู้ซื้อ ต่อมานายสองได้นํารถยนต์คันดังกล่าวขายต่อให้นางสวย โดยนายสองรู้อยู่แล้วว่าระบบเบรกของรถที่ตนซื้อมานั้นมีปัญหา แต่ปกปิดไม่บอกให้นางสวยทราบ ซึ่งหลังจากนางสวยได้รถไปแล้วก็พบว่าระบบเบรกมีปัญหา การที่ระบบเบรก มีปัญหาถือเป็นกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นมีความชํารุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ดังนั้น นายสองผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อนางสวยผู้ซื้อตามมาตรา 472 โดยนายสองจะต่อสู้ว่า ทรัพย์นี้ตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดอันจะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 473 (3) ไม่ได้ เพราะในการ ซื้อขายระหว่างนายสองและนางสวยนั้นไม่ใช่การซื้อขายจากการขายทอดตลาดแต่อย่างใด เป็นเพียงการซื้อขายปกติเท่านั้น และนายสองจะต่อสู้ว่าตนได้ทําข้อตกลงกับนางสวยว่าตนจะไม่ต้องรับผิดหากมีความชํารุดบกพร่อง เกิดขึ้นตามมาตรา 483 ก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากข้อตกลงว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสียตามมาตรา 485 ดังนั้น นายสองจึงต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นต่อนางสวย และข้อต่อสู้ทั้ง 2 กรณีของนายสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนการที่นายสองได้ซื้อรถยนต์จากนายเอกนั้น เมื่อเป็นการซื้อขายจากการขายทอดตลาด ดังนั้นแม้จะมีความชํารุดบกพร่องเกิดขึ้น นายเอกผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดต่อนายสองเพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 (3) นายสองจึงฟ้องให้นายเอกรับผิดชอบในความชํารุดบกพร่องนั้นไม่ได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายสองทั้ง 2 กรณีฟังไม่ขึ้น และนายสองจะฟ้องนายเอกให้รับผิดในความชํารุดบกพร่องไม่ได้

ข้อ 3 จําเลยทําสัญญาเป็นหนังสือจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของจําเลยไว้กับโจทก์ ในราคา 500,000 บาท ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ กําหนดเวลาไถ่คืน 4 ปี ขายฝากที่ดินไปได้ 2 ปี จําเลยกับ โจทก์ได้ทําบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งโจทก์และจําเลยว่าโจทก์ยินยอมให้จําเลยไถ่ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกําหนดเวลาไถ่ตามสัญญาแล้ว แต่ไม่ได้กําหนดเวลาขยายต่อไปอีกกี่ปี เมื่อขายฝากไปได้ 5 ปี จําเลยได้นําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืนจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมให้จําเลยไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืน โดยอ้างว่าเลยกําหนดเวลาไถ่ตามสัญญา 4 ปีแล้ว และการตกลงให้ขยายกําหนดเวลาไถ่ก็ไม่ได้กําหนดเวลาขยายไว้ว่ากี่ปี การขยายกําหนดเวลาไถ่ จึงใช้บังคับโจทก์ไม่ได้ และค่าสินไถ่ก็ไม่ครบถ้วน ยังขาดดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจากราคาขายฝาก

ให้ท่านวินิจฉัยว่า จําเลยได้ใช้สิทธิไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืนแล้วหรือยัง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการขยาย เวลาไม่ใช้บังคับไม่ได้ จํานวนสินไถ่ไม่ถูกต้อง ใช้ได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายในกําหนดเวลาไถ่
โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไม่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 496 “กําหนดเวลาไถ่นั้น อาจทําสัญญาขยายกําหนดเวลาไม่ได้ แต่กําหนดเวลาไถ่รวมกัน ทั้งหมด ถ้าเกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกําหนดเวลาตามมาตรา 494

การขยายกําหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่…”

มาตรา 498 “สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้นจะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านั้น คือ

(1) ผู้ขายเดิมหรือทายาทของผู้ขายเดิม….”

มาตรา 499 วรรคหนึ่ง “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก”

วินิจฉัย

สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้น คืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝาก อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยทําสัญญาเป็นหนังสือจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของจําเลย ไว้กับโจทก์ในราคา 500,000 บาท แต่ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ไว้ โดยกําหนดเวลาไถ่คืน 4 ปีนั้น สัญญาขายฝาก ดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง และกําหนดเวลาไถ่คืน ก็ไม่เกินจากที่กฎหมายได้กําหนดไว้ตามมาตรา 494 (1)

หลังจากขายฝากที่ดินไปได้ 2 ปี การที่จําเลยกับโจทก์ได้ทําบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
ทั้งโจทก์และจําเลยว่าโจทก์ยินยอมให้จําเลยไถ่ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกําหนดเวลาไถ่ตามสัญญาแล้วนั้น ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกําหนดเวลาไถ่ แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผล บังคับให้ผูกพันโจทก์ผู้มีหน้าที่รับไถ่ตามมาตรา 498 (1) ซึ่งได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตามมาตรา 496 วรรคสองที่ต้องปฏิบัติตาม และเมื่อสัญญาขยายกําหนดเวลาไถ่มิได้กําหนดเวลาไว้จึงต้องบังคับตามมาตรา 494 (1) กล่าวคือ จําเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากได้ภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันทําสัญญาขายฝาก เมื่อขายฝาก ไปได้ 5 ปี จําเลยนําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากโจทก์ การใช้สิทธิไถ่ที่ดินแปลงนี้ ของจําเลยจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อถือว่าจําเลยได้ไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้จึงโอนกลับมาเป็นของจําเลยแล้วตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง ส่วนจํานวนเงินสินไถ่ เมื่อไม่ได้กําหนดจํานวนไว้ว่าเท่าใด จําเลยจึงสามารถไถ่ได้ตามราคาที่ขายฝากคือ 500,000 บาท ตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการขยายเวลาไม่ใช้บังคับไม่ได้ และจํานวนสินไถ่ไม่ถูกต้องนั้นจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการขยายเวลาไม่ใช้บังคับไม่ได้ จํานวนสินไถ่ไม่ถูกต้อง จึงใช้ไม่ได้

Advertisement