การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างนายเอกและนายโทกําหนดระยะเวลาการเช่า 2 ปี โดยสัญญาเช่า ที่มีการลงลายมือชื่อนายโทผู้เช่ามีข้อความตอนหนึ่งว่า หากนายเอกผู้ให้เช่าจะขายอาคารพาณิชย์นี้ จะแจ้งให้นายโทผู้เช่าทราบโดยให้นายโทเป็นผู้มีสิทธิซื้อก่อนในราคา 1,000,000 บาท ต่อมานายตรี ได้ติดต่อขอซื้ออาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวจากนายเอก นายเอกจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังนายโทว่า หากนายโทมีความประสงค์จะซื้ออาคารพาณิชย์ให้ตอบกลับมาภายใน 7 วันต่อจากนี้
ดังนี้การที่นายเอกปฏิเสธไม่ยอมขายอาคารพาณิชย์ให้นายโทเมื่อนายโทโทรศัพท์มายังนายเอกเพื่อแสดง
ความจํานงว่าจะทําการซื้อขายอาคารพาณิชย์ให้สําเร็จตลอดไปเมื่อเวลาผ่านไป 5 วันจากที่นายเอกได้โทรศัพท์มา นายโทจะสามารถฟ้องบังคับนายเอกเพื่อให้ปฏิบัติตามคํามั่นที่เคยให้ไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 454 “การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คํามั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้น จะมีผลเป็นการซื้อขาย ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจํานงว่าจะทําการซื้อขายนั้นให้สําเร็จตลอดไปและคําบอกกล่าวเช่นนั้นได้
ไปถึงบุคคลผู้ให้คํามั่นแล้ว
ถ้าในคํามั่นมิได้กําหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คํามั่นจะกําหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากําหนดนั้นก็ได้ ว่าจะทําการซื้อขายให้สําเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกําหนดเวลานั้นไซร้ คํามั่นซึ่งได้ให้ ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล
มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้
บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างนายเอกและนายโท มีข้อความตอนหนึ่งว่า หากนายเอกผู้ให้เช่าจะขายอาคารพาณิชย์นี้จะแจ้งให้นายโทผู้เช่าทราบโดยให้นายโทเป็นผู้มีสิทธิซื้อก่อนในราคา 1,000,000 บาทนั้น มีลักษณะชัดเจนแน่นอนในสาระสําคัญ จึงมีผลเป็นคํามั่นว่าจะขาย ผูกพันนายเอกให้ต้อง ขายอาคารพาณิชย์ให้แก่นายโทตามคํามั่นที่ได้ให้ไว้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคํามั่นว่าจะซื้อขายของนายเอกนั้นเป็นคํามั่นที่ไม่ได้กําหนดเวลาเอาไว้เพื่อ การบอกกล่าว แต่เมื่อนายเอกได้บอกกล่าวไปยังนายโทแล้วว่าหากนายโทมีความประสงค์จะซื้ออาคารพาณิชย์ ให้นายโทตอบกลับมาภายใน 7 วัน คํามั่นจะขายของนายเอกจึงถือเป็นคํามั่นที่มีกําหนดระยะเวลา ซึ่งนายโท จะต้องตอบรับมาภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงจะมีผลเป็นการซื้อขายตามมาตรา 454 วรรคสอง และเมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเวลาผ่านไป 5 วันหลังจากที่ได้รับคําบอกกล่าวจากนายเอก นายโทได้บอกกล่าวไปยัง นายเอกโดยแสดงความจํานงว่าจะทําการซื้ออาคารพาณิชย์ให้สําเร็จตลอดไป กรณีเช่นนี้ ย่อมมีผลผูกพันที่นายเอกจะต้องขายอาคารพาณิชย์ให้แก่นายโทตามคํามั่นที่นายเอกได้ให้ไว้ตามมาตรา 454 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม คํามั่นว่าจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 456 วรรคสองด้วย กล่าวคือ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด เป็นสําคัญ หรือได้มีการวางประจําไว้ หรือได้มีการชําระหนี้บางส่วนแล้ว จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างนายเอกและนายโทนั้นมีเพียงการลงลายมือชื่อของ นายโทผู้เช่าฝ่ายเดียว โดยนายเอกไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้แต่อย่างใด อีกทั้งคํามั่นจะซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการวาง ประจําไว้ และไม่ได้มีการชําระหนี้บางส่วน ดังนั้น เมื่อนายเอกปฏิเสธไม่ยอมขายอาคารพาณิชย์ให้แก่นายโท นายโทจึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับนายเอกเพื่อให้ปฏิบัติตามคํามั่นที่เคยให้ไว้ได้
สรุป นายโทจะฟ้องร้องบังคับนายเอกเพื่อให้ปฏิบัติตามคํามั่นที่เคยให้ไว้ไม่ได้
ข้อ 2 ฟ้าขอยืมรถยนต์ตู้คันหนึ่งจากฝน แล้วได้ปลอมทะเบียนนํามาขายให้น้ำในราคา 300,000 บาท โดยน้ำไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นฟ้ายืมฝนมาใช้ และฟ้าได้ตกลงไว้ในสัญญาซื้อขายว่าจะไม่รับผิด ในการรอนสิทธิใด ๆ เมื่อน้ำซื้อรถยนต์คันนั้นมาได้ 3 เดือน ฝนเจ้าของรถยนต์จึงได้มาทวงรถยนต์ คันนั้นจากน้ำ และนําเอกสารทะเบียนรถยนต์มายืนยันกับน้ำ น้ำจึงตกลงคืนให้ แต่เนื่องจาก ตอนนี้น้ำต้องใช้รถยนต์คันนี้อยู่ จึงขอเช่ารถยนต์คันนี้จากฝนอีก 6 เดือน ฝนตกลงให้น้ำเช่า รถยนต์คันนี้ น้ําจึงยังคงครอบครองรถยนต์คันนี้อยู่ต่อ ยังไม่ได้คืนให้กับฝน ดังนี้น้ำจะฟ้องให้ฟ้า รับผิดในการรอนสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ภายในอายุความเท่าใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”
มาตรา 481 “ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับ บุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิ เมื่อพ้นกําหนดสามเดือนนับแต่วันคําพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น”
มาตรา 483 “คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้
มาตรา 485 “ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการ อันผู้ขายได้กระทําไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ฟ้าขอยืมรถยนต์ตู้คันหนึ่งจากฝน แล้วได้ปลอมทะเบียนนํามาขายให้น้ำ ในราคา 300,000 บาท โดยน้ำไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นฟ้ายืมฝนมาใช้ และฟ้าได้ตกลงไว้ในสัญญาซื้อขายว่าจะ ไม่รับผิดในการรอนสิทธิใด ๆ และเมื่อน้ำซื้อรถยนต์คันนั้นมาได้ 3 เดือน ฝนเจ้าของรถยนต์จึงได้มาทวงรถยนต์คันนั้น จากนำ โดยนําเอกสารทะเบียนรถยนต์มายืนยันกับน้ำ น้ำจึงตกลงคืนให้ แต่เนื่องจากตอนนี้น้ำต้องใช้รถยนต์คันนี้อยู่ จึงขอเช่ารถยนต์คันนี้จากฝนอีก 6 เดือน และฝนตกลงให้น้ำเช่ารถยนต์คันนี้ น้ำจึงยังคงครอบครองรถยนต์คันนี้อยู่ ยังไม่ได้คืนให้กับฝนนั้น กรณีดังกล่าวถือว่ามีบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้ามารบกวนขัดสิทธิทําให้ผู้ซื้อคือน้ำไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข จึงเป็นกรณีที่น้ำผู้ซื้อ ถูกรอนสิทธิตามมาตรา 475 ซึ่งฟ้าผู้ขายจะต้องรับผิดต่อน้ำ ดังนั้นน้ำจึงสามารถฟ้องให้ฟ้ารับผิดที่ตนถูกรอนสิทธิได้ แต่น้ำจะต้องฟ้องฟ้าภายในกําหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่น้ำตกลงคืนรถยนต์คันนั้นให้แก่ฝนตามมาตรา 481
และถึงแม้ว่าฟ้าจะได้ตกลงไว้ในสัญญาซื้อขายว่าตนไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิใด ๆ ก็ตาม แต่ข้อสัญญาว่าฟ้าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มครองความรับผิดของฟ้าผู้ขายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นความผิด ของฟ้าผู้ขายเองที่ได้นํารถยนต์ที่ตนยืมมาจากฝน แล้วยังได้ปลอมทะเบียนมาขายให้น้ำ และปกปิดไม่บอกให้น้ำ ผู้ซื้อทราบ ดังนั้นฟ้าจึงยังคงต้องรับผิดต่อน้ำในกรณีที่น้ำถูกรอนสิทธิดังกล่าวตามมาตรา 485 ประกอบมาตรา 483
สรุป น้ำสามารถฟ้องให้ฟ้ารับผิดในการรอนสิทธิได้ภายในอายุ 3 เดือนนับแต่วันที่ได้ตกลงคืนรถยนต์ให้แก่ฝน
ข้อ 3 นายจันทร์ขายฝากพ่อวัวตัวหนึ่งไว้กับนายอังคารในราคา 100,000 บาท ไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืน กําหนดสินไถ่ 100,000 บาท เท่าราคาขายฝาก โดยทั้งคู่ได้ทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียน กับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อย หลังจากทําสัญญาขายฝากมาได้ 3 ปี 2 เดือน นายจันทร์นําเงิน 100,000 บาท มาขอไถ่คืนพ่อวัว แต่นายอังคารไม่ยอมรับและไม่ยอมส่งมอบพ่อวัวคืนให้แก่ นายจันทร์ ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงนี้ นายจันทร์จะมีสิทธิเรียกร้องพ่อวัวตัวนี้ คืนจากนายอังคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”
มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”
มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายใน กําหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ ผู้ไถ่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี”
มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”
วินิจฉัย
สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์ นั้นคืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝาก อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
ตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ขายฝากพ่อวัวตัวหนึ่งไว้กับนายอังคารในราคา 100,000 บาท โดยทั้งคู่ได้ทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างก็ดี เมื่อสัญญาขายฝากพ่อวัวซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ได้มีการกําหนดเวลาในการ ไถ่คืนไว้ ดังนั้น ถ้านายจันทร์จะใช้สิทธิเพื่อไถ่พ่อวัวคืนจากนายอังคาร และให้ทรัพย์สินที่ไถ่คืนตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายจันทร์ นายจันทร์จะต้องใช้สิทธิไถ่พ่อวัวคืนจากนายอังคารภายในกําหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย
ตามมาตรา 494 (2) และมาตรา 492
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากทําสัญญาขายฝากมาได้ 3 ปี 2 เดือน นายจันทร์ได้นําเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นจํานวนสินไถ่ตามที่ตกลงกันมาขอไถ่คืนพ่อวัว แต่นายอังคารไม่ยอมรับและไม่ยอมส่งมอบ พ่อวัวคืนให้แก่นายจันทร์นั้น นายจันทร์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องพ่อวัวตัวนี้คืนจากนายอังคารได้ เนื่องจากนายจันทร์ ได้ใช้สิทธิไถ่คืนเมื่อพ้นกําหนดเวลา 3 ปีนับแต่เวลาที่ได้ทําสัญญาขายฝากกันแล้วตามมาตรา 494 (2)
สรุป นายจันทร์ไม่มีสิทธิเรียกร้องพ่อวัวตัวนี้คืนจากนายอังคารได้