การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 การปกครองในระบบรัฐสภามีสาระสําคัญอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถือได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบบใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

การปกครองในระบบรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กร ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด และ ตามทัศนะของนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เช่น ศาสตราจารย์โมริส โฮริอู (Maurice Hauriou) การปกครองในระบบ รัฐสภาจะมีสาระสําคัญ 3 ประการ คือ

1 ประมุขของรัฐซึ่งไม่ต้องรับผิดทางการเมืองในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย 2 องค์กร  คือ ประมุขของรัฐและคณะรัฐมนตรี

ประมุขของรัฐอาจมีฐานะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี และทําหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

2 คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในทาง บริหารประเทศแทนประมุข เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชางานประจํากระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายที่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดต่อรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ และถ้ามีมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องออกจากตําแหน่ง

3 เพื่อให้อํานาจบริหาร และอํานาจนิติบัญญัติสมดุลกัน ระบบรัฐสภาได้ให้อํานาจคณะรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติได้

สําหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ภายหลังจากได้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ย่อมถือว่า มีการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้หมดอํานาจไปแล้วตามมาตรา 265 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่ถือว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบบรัฐสภานั้น เพราะ มีลักษณะเข้าเกณฑ์ของการปกครองในระบบรัฐสภาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2 การออกเสียงประชามติ (Referendum) มีแนวความคิดในทางทฤษฎีอย่างไร และภายใต้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 กําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีใดบ้างที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

ธงคําตอบ

ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

เมื่อพิจารณาในทางทฤษฎีแล้ว การออกเสียงประชามติ (Referendum) เป็นแนวคิดในการส่งเสริม ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยการออกเสียงประชามติในการร่างกฎหมายหรือ การกําหนดนโยบายที่สําคัญของประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นกลไกที่แสดงให้เห็นถึงอํานาจของ ประชาชนในการเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริง โดยกําหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่จะบัญญัติมาใช้บังคับกับประชาชนหรือการกําหนดนโยบายของฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศ และนอกจากนี้ระบบการออกเสียงประชามติยังเป็นระบบที่มีผลทําให้อํานาจในการตัดสินใจในประเด็นปัญหา สําคัญไม่ว่าจะเป็นกรณีทางกฎหมายที่สําคัญหรือการดําเนินกิจการที่สําคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน กลับมาสู่การตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นที่มาและเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริง

ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น กรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการ ออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 (8) ได้กําหนดไว้ว่าในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่ง ต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือ องค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนที่จะดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ให้จัดให้มีการออกเสียง ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลของการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 นั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 255 ด้วย กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

 

ข้อ 3 จงอธิบายอย่างละเอียดว่า รัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวข้องและมีความสําคัญกับนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบ การปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยังได้กําหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่พึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อํานาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอํานาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 อํานาจนิติบัญญัติ หมายถึง อํานาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในฐานะ ผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อํานาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจํานวนสมาชิก ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจํานวนเท่าใด และมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กําหนด ไว้ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สําคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

2 อํานาจบริหาร หมายถึง อํานาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อํานาจนี้ในการใช้อํานาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อํานาจในทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคําสั่ง รวมทั้งการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอํานาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน…. คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กําหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

3 อํานาจตุลาการ หมายถึง อํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อํานาจนี้ คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจําเป็น ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้ด้วย

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการโดยองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น เป็นการใช้อํานาจต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน (รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ในการได้มาซึ่งอํานาจและการใช้อํานาจดังกล่าว จึงต้องเป็นการได้มาซึ่งอํานาจ รวมทั้งเป็นการใช้อํานาจที่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” หรือหลักการปกครอง ด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักที่มีแนวคิดว่า ผู้ใช้อํานาจปกครองและการได้มาซึ่งอํานาจปกครองจะต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายและปกครองประเทศอย่างมีคุณธรรมด้วยวิถีทางของกฎหมาย จะต้องมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในการใช้อํานาจของฝ่ายปกครอง ต้องสามารถตรวจสอบได้โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจ หรือโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ข้อ 4 ศาลอาญาได้ออกหมายค้นให้กับ พ.ต.อ.สมใจ ผู้กํากับการฯ เพื่อค้นบ้านของนายสมทรง ในการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการตรวจยึดสิ่งของอื่นหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และมีดทําครัวที่สงสัยว่าใช้ในการกระทําความผิดซึ่งเป็นสิ่งของที่นอกเหนือจากคําสั่งศาลตาม หมายค้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจได้จัดให้มีการแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของดังกล่าวโดยให้นายสมทรงนั่งร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหาด้วยทั้งที่นายสมทรงมิได้ยินยอมแต่อย่างใด ซึ่งสื่อมวลชนได้แพร่ภาพดังกล่าวไปทั่วประเทศ ต่อมานายสมทรงเห็นว่าการตรวจค้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและ ตนได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และนายสมทรงได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ในกรณีใดหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

มาตรา 32 “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูล ส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

มาตรา 33 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน

การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการค้นเคหสถานหรือที่รโหฐานจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 230 “ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

(2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่ศาลอาญาได้ออกหมายค้นให้กับ พ.ต.อ.สมใจ ผู้กํากับการฯ เพื่อค้นบ้าน ของนายสมทรงซึ่งในการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการตรวจยึดสิ่งของอื่นหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือเครื่องคอมพิวเตอร์และมีดทําครัวที่สงสัยว่าได้ใช้ในการกระทําความผิดซึ่งเป็นสิ่งของที่นอกเหนือจากคําสั่งศาล ตามหมายค้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจได้จัดให้มีการแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของดังกล่าวโดยให้นายสมทรงนั่งร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหาด้วยทั้งที่นายสมทรงมิได้ยินยอมแต่อย่างใด ซึ่งสื่อมวลชนได้แพร่ภาพดังกล่าวไปทั่วประเทศ และต่อมานายสมทรงเห็นว่าการตรวจค้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและตนได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญฯ จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น กรณีดังกล่าวนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมมีอํานาจ ที่จะรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 230 (2) เนื่องจากเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัด หรือระงับ ความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น

ประเด็นที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 (2) ได้บัญญัติให้พนักงาน สอบสวนมีอํานาจในการค้นเพื่อพบสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยกระทําผิด หรือได้ใช้ หรือสงสัยว่า ได้ใช้ในการกระทําผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ตรวจยึดสิ่งของที่ สงสัยว่าได้ใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานนอกเหนือจากหมายค้นที่ศาลระบุไว้นั้น การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฯ จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของนายสมทรงตาม มาตรา 33 แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 การแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของโดยให้นายสมทรงซึ่งไม่ยินยอมร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหานั้น ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิของนายสมทรงที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 ประกอบ มาตรา 32 เนื่องจากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชนอันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้นจะกระทํามิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

สรุป ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาได้

นายสมทรงได้ถูกละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 32 แต่ไม่ถูกละเมิดต่อเสรีภาพในเคหสถานตามมาตรา 33

Advertisement