การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมายถึงอะไร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ อาจแยกออกได้ กี่วิธี ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายและตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หมายถึง การแก้ไขทั้งในแง่ของการแก้ไขถ้อยคําหรือข้อความเดิม รวมทั้งการเพิ่มเติมถ้อยคําหรือข้อความใหม่

รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้ 2 วิธี คือ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่ายและรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่าย คือ รัฐธรรมนูญที่อาจแก้ไขได้โดยวิธีเดียวกันกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา ดังนั้นกฎหมายฉบับหนึ่งจึงอาจจะออกมาแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ เช่น รัฐธรรมนูญ ของอังกฤษ อิสราเอล และนิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะแก้ไขง่าย กล่าวคือ เพียง พระราชบัญญัติธรรมดาก็อาจยกเลิกบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญได้

รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก คือ รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขโดยวิธีเดียวกันกับการแก้ไขกฎหมาย ธรรมดาไม่ได้ แต่จะต้องทําโดยวิธีพิเศษและยากกว่า ดังนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชนิดนี้โดยออกกฎหมาย ธรรมดาไม่ได้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมีกระบวนการแก้ไขสลับซับซ้อนและยุ่งยากกว่ากฎหมายธรรมดา เช่น รัฐธรรมนูญ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญประเภทแก้ไขยาก โดยนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 มาจนถึงปัจจุบันมีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่มีเพียงไม่กี่ครั้ ต่มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่มีการแก้ไขจริงจังได้ตามที่เสนอ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากเช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2 ให้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างน้อยต้องประกอบด้วยหลักการสําคัญใดบ้าง และภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการดังกล่าวอย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะเหตุใด (อธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจน)

ธงคําตอบ

โดยหลักการพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้อง มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์ในการกําหนดให้ประชาชนมีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศโดยอาจใช้อํานาจผ่านผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทําหน้าที่แทนตน โดยผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทําหน้าที่ ต้องใช้อํานาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และอย่างน้อยรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยหลักการสําคัญ ได้แก่

1 หลักอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชนทุกคนย่อมสามารถใช้อํานาจอธิปไตย ในกิจการทั้งปวงได้โดยตรงและด้วยตนเอง หรืออาจจะเลือกผู้แทนขึ้นมาเพื่อทําการแทนตนก็ได้

2 หลักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือจะต้องมีการเลือกตั้งที่เที่ยงตรงยุติธรรมและโดยเสรี มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันสําหรับทุกคน

3 หลักเสียงข้างมาก หมายถึงบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ถ้าหากไม่ได้รับเลือกตั้ง จากราษฎรโดยตรงแล้ว ก็ต้องเป็นคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมากของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา รวมทั้งการออกกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหา หรือการตัดสินใจในนโยบายต่าง ๆ ก็ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบ ของเสียงข้างมากของผู้แทนในสภา

4 หลักความเสมอภาค หมายถึงประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพเสมอกันในการที่จะได้รับการคุ้มครอง และการได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน

5 หลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม หมายถึง การใช้อํานาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อํานาจรัฐ ทางด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ รัฐจะต้องใช้อํานาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติ ให้อํานาจไว้เท่านั้น

ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังปรากฏบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญที่มิได้เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังเช่นกรณีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 ซึ่งกําหนดให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมี หน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 โดยให้ถือว่าบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้

การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 กําหนดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลทําให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมี อํานาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะเข้ารับหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การกําหนดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว มีผลทําให้มีการใช้อํานาจของหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ไม่เป็นไปตามหลักอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เนื่องจากเป็นการใช้อํานาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างอํานาจอธิปไตยซึ่งเป็นอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่ต้องเป็นอํานาจของประชาชน เพื่อสร้างจุดเกาะเกี่ยวให้อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม เนื่องจากการใช้อํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ อํานาจอย่างเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ทั้งการใช้อํานาจทางนิติบัญญัติ การใช้อํานาจทางการบริหารราชการแผ่นดิน และ การใช้อํานาจทางตุลาการ ซึ่งอาจนํามาซึ่งการใช้อํานาจที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันมีผลทําให้ ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ข้อ 3 จงอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

ธงคําตอบ

ที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติ

อํานาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อํานาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”

และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ

1 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดย

(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 350 คน และ

(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจํานวน 150 คน

 

(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้

ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้

(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดส่งผู้รับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทําบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อจะต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัคร รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การคํานวณจํานวนหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับให้มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ ทั้งประเทศมาคํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง โดยพรรคการเมือง จะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทไม่เกินจํานวนโควต้าที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

2 วุฒิสภา (ส.ว.)

วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งมาจาก

(1) กกต. ดําเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จํานวน 200 คน โดยให้คัดเลือกมาจากระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จํานวน 200 คน แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

(2) คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันที่จะ เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกิน 400 คน แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน

(3) ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ จํานวน 6 คน

 

ข้อ 4 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ากฎหมายซึ่งยังไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 35 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง… ผู้นั้นจะถูกจํากัดสิทธิ ดังนี้ (4) การดํารง ตําแหน่งข้าราชการการเมือง…. (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น…” ย่อมขัดหรือแย้งต่อมาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควร…. อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ” เพราะมาตรา 35 (4) และ (5) การที่ผู้ใดจะเข้าดํารงตําแหน่งนั้นเป็นอํานาจของบุคคลอื่นในการแต่งตั้งไม่ใช่ เป็นสิทธิของบุคคล ดังนั้น เมื่อไม่ใช่สิทธิจึงไม่อาจถูกจํากัดได้ในกรณีนี้ ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ขัดหรือแย้งต่อ มาตรา 95 วรรคสาม รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 148 “ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับ ความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า มาตรา 210 “ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย”

มาตรา 263 “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภา นิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ยังคง ทําหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ซึ่งทําหน้าที่แทนประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 263) ได้ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายซึ่งยังมิได้ ประกาศบังคับใช้คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 95 วรรคสามนั้น เมื่อการที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่ง ความเห็นดังกล่าวนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติที่นายกรัฐมนตรียังมิได้นําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย กรณีจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 148 (1) ประกอบมาตรา 263 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 210 (1)

(ข) การที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง… ผู้นั้น จะถูกจํากัดสิทธิ ดังนี้ (4) การดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง…. (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง รองผู้บริหารท้องถิ่น…” นั้น ย่อมไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควร… อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างใด เนื่องจากการดํารงตําแหน่งตามมาตราดังกล่าวนั้นถือเป็นสิทธิของบุคคลชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ออกกฎหมายจํากัดสิทธิดังกล่าวได้

สรุป

(ก) ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้

(ข) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 95 วรรคสาม

Advertisement