การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003) ป.พ.พ.ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ในพื้นที่ธุรกิจย่านใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง บริษัท เมตาแอท จํากัด โดยนายณัฐ กรรมการผู้จัดการ ทําสัญญาเช่าพื้นที่ชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์รวม 4 คูหา และได้ติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ ประเภทไดโอดเปล่งแสง (Light-emitting diode หรือ LED) มีความสูง 8 เมตร ผู้ที่อยู่อาศัย จํานวนมากที่อาศัยอยู่ในชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ฝั่งตรงข้ามซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับ ป้ายโฆษณาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากแสงจ้าที่มาจากการฉายภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข อ่อนเพลีย ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้สูงอายุตาพร่ามัว เพราะถูกแสง ส่องสว่างตลอดเวลาจนถึงขั้นหกล้มได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และการไปซื้อผ้าและแผ่นทึบแสงที่ทําจากวัสดุต่าง ๆ มาติดตั้งเพื่อปิดกั้นแสงจ้า นอกจากนี้ ยังพบว่าการติดตั้งสิ่งปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าวเข้าข่ายการก่อสร้างดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอีกด้วย จากเหตุการณ์นี้ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องในทางละเมิดโดยอาศัยข้อกฎหมายใดได้บ้าง จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 444 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบ ที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือ
แต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
วินิจฉัย
การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้
1. บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2. ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา
ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เมตาแอท จํากัด โดยนายณัฐ กรรมการผู้จัดการ ทําสัญญาเช่าพื้นที่ ชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์รวม 4 คูหา และได้ติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ประเภทไดโอดเปล่งแสง (LED) ซึ่งมีความสูง 8 เมตร ทําให้ผู้ที่อยู่อาศัยจํานวนมากที่อาศัยอยู่ในชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ฝั่งตรงข้าม
ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับป้ายโฆษณาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากแสงจ้าที่มาจากการฉายภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข อ่อนเพลีย ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้สูงอายุตาพร่ามัว เพราะถูกแสงส่องสว่าง ตลอดเวลาจนถึงขั้นหกล้มได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการไปซื้อผ้าและ แผ่นทึบแสงที่ทําจากวัสดุต่าง ๆ มาติดตั้งเพื่อปิดกั้นแสงจ้านั้น การกระทําของบริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการ ถือเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย และการกระทํานั้นมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ประกอบกับเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยทําให้เดือดร้อนหรือรําคาญ ซึ่งเป็นการอันมิชอบ ด้วยกฎหมายตามมาตรา 421 ดังนั้น บริษัทและกรรมการผู้จัดการจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับ ค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายต้องเสียไปตามมาตรา 444 คือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่ไปซื้อวัสดุทึบแสงมาปิดกั้น แสงจ้า รวมถึงผู้ที่ต้องรับผิดควรต้องกระทําหรือการงดเว้นที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอีกทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วย
ส่วนกรณีการติดตั้งสิ่งปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าวที่เข้าข่ายการก่อสร้างดัดแปลงโดย
ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องไปรับผิดต่างหากเป็นอีกส่วนหนึ่ง
สรุป จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องในทางละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 420 และ 421 โดยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายได้ตามมาตรา 444
ข้อ 2 นายช่วงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้มอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่นายม่วงบุตรชายไปครอบครอง และใช้สอย วันเกิดเหตุนายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเพื่อไปส่งของที่อําเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา นายพ่วงขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากเร่งรีบเพื่อที่จะไปส่งของให้ถึงอําเภอปากช่องโดยเร็ว เพราะนายพ่วงนัดกับนางสาวบ่วงแฟนสาวเอาไว้ ปรากฏว่าเวลาดังกล่าว มีช้างป่าเดินข้ามถนนมาโดยที่นายพ่วงไม่ได้ระมัดระวังทําให้นายพ่วงต้องเหยียบเบรกกะทันหัน รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทําให้นายง่วง ได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคัน
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายช่วง นายพ่วง และ นายม่วง ต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไป ในทางการที่จ้างนั้น”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกเพื่อไปส่งของ โดยนายพ่วง ได้ขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาทําให้นายพ่วงซึ่งไม่ได้ระมัดระวังต้องเหยียบเบรกกะทันหัน
รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทําให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคันนั้น ความเสียหายแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินของนายง่วงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายพ่วงตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาได้รับความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของนายพ่วง ดังนั้นนายพ่วงจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วง
สําหรับนายม่วงนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายพ่วงทําละเมิดนั้น นายพ่วงได้ขับรถยนต์บรรทุก ของนายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อไปส่งของ จึงถือว่านายพ่วงได้ทําละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงาน ในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกันกับนายพ่วงลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่ง นายพ่วงได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425 ส่วนนายช่วงเมื่อไม่ใช่นายจ้างของนายพ่วง
จึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายง่วง
สรุป นายพ่วงและนายม่วงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 ส่วนนายช่วงไม่ต้องรับผิด
ข้อ 3 นางอังกอร์เป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ดุตัวหนึ่ง นางอังกอร์กําลังไปเที่ยวต่างจังหวัดจึงฝากนายบังเลี้ยงสุนัขดังกล่าวไว้ชั่วคราว วันเกิดเหตุ นายบังพาสุนัขไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ โดยล่ามโซ่ไว้ อย่างแน่นหนา สุนัขตื่นผู้คนแล้วตกใจ จึงวิ่งเข้ากัดนายโชคถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโชคอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดี มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ นายมีชัย อายุ 23 ปี ทํางานเป็นวิศวกรอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายโชคบ้างหรือไม่ และนางสาวดีกับนายมีชัยสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”
มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า
บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายอังกอร์ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ดุตัวหนึ่งได้ฝากนายบังเลี้ยงสุนัขดังกล่าวไว้ ชั่วคราว ในวันเกิดเหตุ นายบังพาสุนัขไปเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยล่ามโซ่ไว้อย่างแน่นหนา แต่สุนัขตื่นผู้คน แล้วตกใจ จึงวิ่งเข้ากัดนายโชคถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดกับนายโชคถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะสัตว์ ดังนั้น นายบังซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนนายอังกอร์ จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนทาง ละเมิดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง ส่วนนายอังกอร์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดเนื่องจากมิใช่ผู้ดูแลสัตว์ตามความจริงในขณะเกิดความเสียหาย
ส่วนกรณีที่นางสาวดีและนายมีชัยจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่
แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น นางสาวดีซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายโชคจึงมิใช่ทายาท จึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้ ส่วน นายมีชัยซึ่งเป็นบุตรของนายโชคสามารถเรียกค่าปลงศพได้
2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น เมื่อนางสาวดีไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโชค และนายมีชัยแม้จะเป็นบุตรของนายโชคแต่ได้ บรรลุนิติภาวะแล้ว ดังนั้น ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ที่ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดอุปการะได้
สรุป นายบังต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายโชค ส่วนนายอังกอร์ไม่ต้องรับผิด นางสาวดีไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้ แต่นายมีชัยสามารถเรียกค่าปลงศพได้ทั้งนางสาวดีและนายมีชัยไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้
ข้อ 4 นายพายุเป็นเจ้าของเรือยนต์มุกนาวีที่ได้รับอนุญาตผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารในเส้นทางท่าเรือ แหลมบาลีฮาย – เกาะล้าน นายพายุและคนประจําเรือต้องถูกกักตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่าติดเชื้อ โควิต-19 จึงไม่อาจเดินเรือโดยสารได้ จึงได้ร้องขอให้นายสมุทรซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดินเรือที่
ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งนําเรือยนต์มุกนาวีไปรับส่งผู้โดยสารแทนตนเมื่อมีการติดต่อจองเรือเข้ามา และมีจํานวนผู้โดยสารมากพอ นายสมุทรตกลงเดินเรือให้นายพายุตามที่ร้องขอ ต่อมาในช่วง วันหยุดยาวเดือนธันวาคม นายสมุทรสั่งให้นายธรณีซึ่งเป็นลูกจ้างของตนให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวี (เป็นผู้ควบคุมเรือ) รับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากท่าเรือแหลมบาลีฮายไปเกาะล้าน ขณะที่ใกล้ถึงเกาะล้าน นายธรณีค่อย ๆ ขับเรือเข้าสู่ท่าเรือด้วยความระมัดระวัง แต่ปรากฏว่าเรือไปชนเข้ากับหินโสโครก อย่างแรง โดยที่ตนอาจมองเห็นได้ ส่งผลให้ปั๊มน้ำเสียหาย น้ำจึงทะลักเข้าไปในเรือ ทําให้เรือมุกนาวี เอียงและค่อย ๆ จมลง แม้ว่านายธรณีและลูกเรือ (คนประจําเรือ) ได้พยายามตะโกนบอกให้ผู้โดยสาร ไปยืนรวมกันในตําแหน่งที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด ในที่สุดเรือมุกนาวีอับปางลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่โดยสารเรือมาในเรือลํานั้น จํานวน 3 ราย จมน้ําเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้มีผู้ใดบ้างที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติดังกล่าว จงอธิบายตามข้อกฎหมายละเมิดที่เกี่ยวข้อง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทําไป ในทางการที่จ้างนั้น”
มาตรา 427 “บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม”
มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมุทรสั่งให้นายธรณีซึ่งเป็นลูกจ้างของตนให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวี รับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากท่าเรือแหลมบาลีฮายไปเกาะล้าน ขณะใกล้ถึงเกาะล้าน นายธรณีค่อย ๆ ขับเรือเข้าสู่ท่าเรือ ด้วยความระมัดระวัง แต่ปรากฏว่าเรือไปชนเข้ากับหินโสโครกอย่างแรง โดยที่ตนอาจมองเห็นได้ ส่งผลให้ปั๊มน้ำเสียหาย น้ำจึงทะลักเข้าไปในเรือทําให้เรือมุกนาวีเอียงและค่อย ๆ จมลง แม้ว่านายธรณีและลูกเรือได้พยายาม ตะโกนบอกให้ผู้โดยสารไปยืนรวมกันในตําแหน่งที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด จนในที่สุดเรือมุกนาวี อับปางลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่โดยสารเรือมาในเรือลํานั้น จํานวน 3 ราย จมน้ำเสียชีวิตนั้น เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่ผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้ง 3 รายนั้นได้เกิดจากการกระทําโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ ของนายธรณี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นายธรณีซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือ จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายจากการที่ผู้โดยสารที่มากับเรือเสียชีวิตทั้ง 3 ราย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น เป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงอันเกิดขึ้นจากยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกลซึ่งคือ เรือยนต์มุกนาวี
และเมื่อนายธรณีเป็นลูกจ้างของนายสมุทรซึ่งนายสมุทรเป็นผู้สั่งให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวีรับกลุ่ม นักท่องเที่ยวดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดละเมิดขึ้นในระหว่างที่ลูกจ้างได้กระทําการงานไปในทางการที่จ้าง นายสมุทร จึงต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างคือนายธรณีตามมาตรา 425
นอกจากนี้ การที่นายสมุทรตกลงเดินเรือยนต์มุกนาวีรับเดินเรือขนส่งผู้โดยสารให้นายพายุตามที่ นายพายุได้ร้องขอ ย่อมถือว่านายสมุทรเป็นตัวแทนที่ทํากิจการให้แก่นายพายุซึ่งเป็นตัวการ เมื่อเกิดละเมิดขึ้น โดยนายสมุทรและลูกจ้างของนายสมุทรในระหว่างนั้นภายในขอบอํานาจตัวแทน นายพายุในฐานะตัวการจึงต้อง ร่วมรับผิดกับนายสมุทรในผลแห่งละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นด้วยตามมาตรา 427 ดังนั้น นายธรณี นายสมุทร และนายพายุ จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 3 รายดังกล่าว
ดังกล่าว
สรุป นายธรณี นายสมุทร และนายพายุ ต้องรับผิดต่อผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้ง 3 ราย