การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายดําเกิงเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยช่วงแรก

ที่เปิดให้บริการนั้นทางห้างฯ ของนายดําเกิงมีการให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้า ที่เข้ามาซื้อสินค้า และทางห้างฯ เคยจัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง หลังจากเปิดให้บริการได้ระยะหนึ่งทางห้างฯ ของนายดําเกิงได้ยกเลิกวิธีการดังกล่าวโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน โดยปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ทั้งลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ก็นํารถเข้ามาจอดตามปกติเวลาที่มาซื้อสินค้า

ภายในห้างฯ วันเกิดเหตุ นายเด่นได้นํารถยนต์มาจอดในห้างฯ เพื่อเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างฯปรากฏว่าได้มีคนร้ายเข้ามาโจรกรรมรถของนายเด่นไปได้

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี สรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อ ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจําต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทําละเมิดมี “การกระทํา” หรือไม่ หากบุคคล ไม่มี “การกระทํา” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับการกระทํานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทําโดยรู้สํานึก นอกจากนี้การกระทํายังหมายความรวมถึงการงดเว้น การเคลื่อนไหวอันพึงต้องทําเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทํา

ตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทําตามหน้าที่ที่จะต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับนายเด่นในกรณีที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงนั้นได้ถูกโจรกรรมไป เนื่องจากเดิมทีห้างฯ ของนายดําเกิงได้เปิดให้บริการนั้นได้มีการจัดให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าและได้จัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านแล้วกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง และแม้ภายหลังทางห้างฯ ของนายดําเกิงจะได้ ยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทนนั้น แม้จะได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหาย หรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถแต่ก็ยังนํารถเข้ามาจอดก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องข้อกําหนดของทางห้างฯ นายดําเกิงฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในทางละเมิดของ ห้างฯ นายดําเกิงแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงถูกโจรกรรมไป ย่อมถือว่า เป็นความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการทําละเมิดของห้างฯ ของนายดําเกิงโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลนั้นขึ้น โดยถือว่าเป็นการงดเว้นการที่จะต้องกระทําตามหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากการกระทําครั้งก่อนของห้างฯ (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7471/2556) ดังนั้น นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจึงต้องรับผิด ทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

สรุป นายดําเกิงเจ้าของห้างฯ จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

 

ข้อ 2 นายเอว่าจ้างบริษัท การช่าง จํากัด สร้างอาคาร 5 ชั้น บริษัท การช่าง จํากัด มอบหมายให้นายแมน วิศวกรประจําบริษัทออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ระหว่างการก่อสร้างชั้นที่ 4 ปรากฏว่าอาคารได้ถล่มลงมาเนื่องจากความผิดพลาดในการคํานวณน้ำหนักเป็นเหตุให้นายโชคถึงแก่ความตาย

จงวินิจฉัยว่า ทายาทของ นายโชคจะมีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลใดรับผิดในทางละเมิดได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้าง ทําของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทํา หรือในคําสั่ง ที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อาคารได้ถล่มลงมาเนื่องจากความผิดพลาดในการคํานวณน้ำหนักของนายแมนวิศวกรประจําบริษัท การช่าง จํากัด เป็นเหตุให้นายโชคถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าความเสียหายถึงแก่ชีวิตของนายโชคเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายแมนตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทํา โดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของนายแมน ดังนั้น นายแมนจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายโชค

สําหรับบริษัท การช่าง จําากัดนั้น เมื่อการกระทําของนายแมนดังกล่าว ได้กระทําไปในขณะเป็นลูกจ้างของบริษัท การช่าง จํากัด และได้กระทําไปในทางการที่จ้าง ดังนั้น บริษัท การช่าง จํากัด ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายแมนซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 425

ส่วนนายเอซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัท การช่าง จํากัด สร้างอาคาร 5 ชั้นดังกล่าวไม่ต้องรับผิด เพื่อความเสียหายในกรณีที่บริษัท การช่าง จํากัด ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงาน ที่ว่าจ้างตามมาตรา 428, เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทํางานที่ผู้ว่าจ้าง สั่งให้ทําหรือในคําสั่งที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้แต่อย่างใด

ดังนั้น ทายาทของนายโชคมีสิทธิเรียกร้องให้นายแมน และบริษัท การช่าง จํากัด รับผิดในทาง ละเมิดได้ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 แต่จะเรียกร้องให้นายเอรับผิดในทางละเมิดไม่ได้

สรุป

ทายาทของนายโชคมีสิทธิเรียกร้องให้นายแมน และบริษัท การช่าง จํากัด รับผิดในทาง ละเมิดได้ แต่จะเรียกร้องให้นายเอรับผิด ไม่ได้

 

ข้อ 3 นายแดงเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง วันเกิดเหตุสุนัขหลุดจากคอกออกมาเดินเล่นริมถนน นายเอกขว้างก้อนหินไปที่สุนัขแต่ก้อนหินไม่ถูกสุนัข สุนัขเข้าใจว่านายโทซึ่งเดินผ่านมาพอดีเป็นคนขว้าง จึงวิ่ง เข้าไปกัดนายโทได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นนายเอกได้ขว้างก้อนหินไปที่สุนัขอีกครั้งหนึ่ง ก้อนหินไม่ถูกสุนัขแต่สุนัขมองเห็นว่านายเอกเป็นคนขว้าง จึงวิ่งเข้ามาจะกัดนายเอก นายเอกจึงใช้ไม้ตีไปที สุนัข ปรากฏว่าสุนัขได้รับบาดเจ็บ เสียค่ารักษาพยาบาลไป 500 บาท ให้ตอบคําถามดังต่อไปนี้

(1) การที่นายโทได้รับบาดเจ็บ นายโทจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) การที่นายเอกใช้ไม้ตี สุนัขได้รับบาดเจ็บ นายเอกต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง เจ้าของสุนัขหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิ์ ของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกว่านิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายแดงเลี้ยงสุนัข และสุนัขหลุดจากคอกออกมาเดินเล่นริมถนน นายเอกขว้างก้อนหินไปที่สุนัขทําให้สุนัขวิ่งเข้าไปกัดนายโทได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าความเสียหายที่นายโทได้รับเป็นความเสียหายที่ เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายแดงเจ้าของสุนัขจึงต้องรับผิดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง นายโทจึงสามารถเรียกร้อง ให้นายแดงเจ้าของสุนัขรับผิดในทางละเมิดได้

และเมื่อนายแดงได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโทไปแล้ว นายแดงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายเอกผู้ที่เร้าหรือตั๋วสัตว์โดยละเมิดได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

(2) การที่นายเอกได้ขว้างก้อนหินไปที่สุนัขอีกครั้งหนึ่ง ทําให้สุนัขได้วิ่งเข้ามาจะกัดนายเอก ทําให้นายเอกได้ใช้ไม้ตีไปที่สุนัขและสุนัขได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาลไป 500 บาทนั้น นายเอกจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงเจ้าของสุนัข เพราะการกระทําของนายเอกคือการใช้ไม้ตีไปที่สุนัขนั้น

มิใช่การกระทําเพื่อจะป้องกันสิทธิของตนจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ แต่เป็น ภยันตรายที่เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายเอกเองที่ใช้ก้อนหินขว้างไปที่สุนัขตามมาตรา 450 วรรคสาม

สรุป

(1) การที่นายโทได้รับบาดเจ็บ นายโทสามารถเรียกร้องให้นายแดงรับผิดในทางละเมิดได้ และนายแดงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายเอกได้

(2) การที่นายเอกใช้ไม้ตีสุนัขได้รับบาดเจ็บ นายเอกต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายแดงเจ้าของสุนัข

 

ข้อ 4 นายหมอกอายุ 18 ปี บิดามารดาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่นายหมอกอายุ 16 ปี นายหมอกจึงอยู่ใน การอุปการะเลี้ยงดูของนายเมฆซึ่งเป็นลุง วันเกิดเหตุนายหมอกเดินทางไปต่างจังหวัดกับเพื่อนระหว่างทางมีรถยนต์ซึ่งนายพายุขับมาด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของนายพายุทําให้รถยนต์คันดังกล่าวชนกับรถยนต์ที่นายหมอกนั่งมากับเพื่อนทําให้นายหมอกถึงแก่ความตายทันที เพื่อนของนายหมอกบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายเมฆมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุในกรณีที่นายหมอกถึงแก่ ความตายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพายุขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ทําให้รถยนต์คันดังกล่าวชมกับรถยนต์ที่นายหมอกนั่งมากับเพื่อนทําให้นายหมอกถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายพายุเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อ บุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทําของนายพายุสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายหมอก ดังนั้น นายพายุจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวรรคสามนั้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ นายเมฆซึ่งเป็นลุงของนายหมอกจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจาก นายพายุในกรณีที่นายหมอกถึงแก่ความตายได้หรือไม่ ซึ่งกรณีค่าขาดไร้อุปการะตามบทบัญญัติมาตรา 443 สามนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ซึ่งได้แก่ สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร เมื่อนายหมอกผู้ตายไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูนายเมฆ ซึ่งเป็นลุงตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น นายเมฆจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุตามมาตรา 443 วรรคสาม

สรุป นายเมฆไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุ

Advertisement