การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นางบุญปิดป้ายประกาศหน้าบ้านว่า “ห้ามจอดรถขวางทางเข้าบ้าน” วันเกิดเหตุนางศรีขับรถมาจอด บนถนนสาธารณะแต่ขวางทางเข้าบ้านของนางบุญ และล็อคเกียร์ไว้ทําให้ไม่สามารถเคลื่อนรถออกจากที่ได้ นางบุญจึงบีบแตรเสียงดังเป็นเวลาสิบนาทีติดต่อกัน ทําให้นายแสงซึ่งกําลังนอนหลับอยู่บริเวณ ข้างบ้านของนางบุญต้องตื่นและเกิดความไม่พอใจ จึงลุกขึ้นเดินไปบอกนางบุญว่า “จะบีบแตรทําไม หนวกหูน่ารําคาญ เอาขวานนี้ไปจามรถมันเลย” นางบุญกําลังโมโหอยู่ จึงนําขวานนั้นไปจามที่รถของนางศรี ทําให้รถของนางศรีได้รับความเสียหาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครทําละเมิดต่อใครบ้าง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”
มาตรา 449 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ ค่าสินไหมทดแทนไม่”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน” คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่า สิทธิที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทําที่บุคคลผู้กระทํามีสิทธิที่จะกระทําได้ตามกฎหมาย แต่ได้ใช้สิทธินั้นเกิน ส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิด ความรําคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิด
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางศรีใช้สิทธิจอดรถบนถนนสาธารณะแต่ขวางทางเข้าบ้านของนางบุญ และล็อคเกียร์ไว้ทําให้ไม่สามารถเคลื่อนรถออกจากที่ได้นั้น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิด ความเสียหายแก่ผู้อื่นซึ่งเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421 แล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เนื่องจากรู้อยู่ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงถือว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน และเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ว่าเป็นผู้ผิดละเมิด จึงต้องรับผิดต่อนางบุญ
การที่นางบุญใช้ขวานจามไปที่รถของนางศรีนั้น ถือว่าเป็นการกระทําโดยจงใจเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนางศรี จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 และนางบุญจะอ้างว่าเป็น การป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 วรรคหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ และได้กระทําไปเกินสมควรแก่เหตุ
ส่วนนายแสงซึ่งได้บอกกับนางบุญว่า “จะบีบแตรทําไม หนวกหูน่ารําคาญ เอาขวานนี้ไปจามรถมันเลย” ทําให้นางบุญซึ่งกําลังโมโหอยู่ จึงนําขวานไปตามที่รถของนางศรีนั้น ถือว่านายแสงเป็นผู้ยุยงให้นางบุญ กระทําละเมิดต่อนางศรีตามมาตรา 432 วรรคสอง จึงต้องร่วมกันรับผิดกับนางศรีตามมาตรา 432 วรรคหนึ่ง
สรุป นางศรีได้กระทําละเมิดต่อนางบุญตามมาตรา 421 ประกอบมาตรา 420 นางบุญได้กระทําละเมิดต่อนางศรีตามมาตรา 420 นายแสงได้กระทําละเมิดร่วมกับนางบุญต่อนางศรีตามมาตรา 432
ข้อ 2 จากเหตุการณ์ในข้อ 1 หากปรากฏว่านางบุญนํารถออกจากบ้านไม่ได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถพา นายหยก (อายุ 15 ปี) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนที่กําลังป่วยหนักอยู่นั้นไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทันเวลา และในเวลานั้นก็ไม่สามารถหารถรับจ้างไปส่งได้ นายหยกจึงได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านางบุญจะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของนายหยกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 443 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย”
มาตรา 1598/29 “การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะ ทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการรับบุตรบุญธรรมนั้น”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับ การปลงศพนั้น จะต้องเป็นทายาทของผู้ตายและเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 จากเหตุการณ์ในข้อ 1 แม้การกระทําของนางศรีจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน และการกระทําดังกล่าวเป็นเหตุให้นายหยกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางบุญถึงแก่ความตายเพราะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลไม่ทันนั้น นางบุญซึ่งเป็นผู้รับบุตรธรรมก็จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของ นายหยกจากนางศรีไม่ได้ เพราะนางบุญมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (มาตรา 1598/29)
สรุป นางบุญจะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของนายหยกไม่ได้
ข้อ 3 นายหมื่นได้จดทะเบียนรับ ด.ญ.จันทร์ไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุ นายหมื่นถูกนายเถื่อน อายุ 17 ปี ยิงเข้าที่กลางอกจนถึงแก่ความตาย นายเถื่อนเป็นบุตรนอกสมรสของนายโหด นายโหดก็ทราบว่าบุตรชายของตนมีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจําแต่ก็ไม่เคย ว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปราม ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดต่อความตายของนายหมื่นบ้าง และ ด.ญ.จันทร์สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”
มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเถื่อนอายุ 17 ปี ใช้ปืนยิงนายหมื่นถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเถื่อนถือเป็นการทําละเมิดต่อนายหมื่นตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดย ผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายต่อชีวิต ดังนั้น นายเถื่อนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
สําหรับนายโหดนั้น แม้นายโหดจะเป็นบิดานอกกฎหมายของนายเถื่อนซึ่งเป็นผู้เยาว์ จะไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายเถื่อนตามมาตรา 429 ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามถือว่านายโหดเป็นผู้ดูแลนายเถื่อนตามความเป็นจริง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายโหดมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเนื่องจากนายโหดทราบอยู่แล้วว่าบุตรชายของตนมีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจํา แต่ก็ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปรามนายเถื่อนเลย
ดังนั้น นายโหดจึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายเถื่อนในผลแห่งละเมิดที่นายเถื่อนได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา 430
ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้น ตามมาตรา 443 วรรคท้ายได้กําหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว ซึ่งในกรณีของ ด.ญ.จันทร์นั้น เมื่อนายหมื่นได้จดทะเบียนรับ ด.ญ.จันทร์ไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย
และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28 วรรคท้าย ได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย กล่าวคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู บุตรบุญธรรมตามมาตรา 1564 ประกอบมาตรา 1598/28 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อนายหมื่นถูกกระทําละเมิด ถึงแก่ความตาย ด.ญ.จันทร์ ย่อมขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ด.ญ.จันทร์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย
สรุป นายเถื่อนและนายโหดต้องร่วมกันรับผิดต่อความตายของนายหมื่น และ ด.ญ.จันทร์สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้
ข้อ 4 นายปรีชาและนางเพ้อฝันเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันสองคนคือนางสาวแจง อายุ 21 ปี และนายเท่ง อายุ 18 ปี แต่นางสาวแจงนั้นพิการทางสมองมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต่อมานายปรีชาและนางเพ้อฝันหย่าขาดจากกัน นายเจริญสงสารจึงได้จดทะเบียนรับ นางสาวแจงไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายเอี่ยมได้ขับรถบรรทุก ไปส่งของที่จังหวัดนครสวรรค์ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทําให้นายเอี่ยมขับรถไปชนนายปรีชา และนายเจริญที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันถึงแก่ความตาย และรถบรรทุกยังได้เสียหลักไปชน บริเวณที่นายแหลมผูกวัวซึ่งเช่ามาจากนางบ้าบิ่น ทําให้เชือกที่ผูกวัวเอาไว้ขาด วัววิ่งหนีเตลิดเข้าไปในไร่ข้าวโพดของนางบ้าบิ่นจนข้าวโพดในไร่ล้มเสียหาย นางบ้าบิ่นจึงได้จับวัวดังกล่าวไว้เพื่อยึดไว้เป็นประกันในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแหลมในความเสียหายที่เกิดขึ้น จงวินิจฉัยว่า
(1) ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยม
(2) นายแหลมต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้น ทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 452 วรรคหนึ่ง “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจําเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทําได้”
วินิจฉัย
1 กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอี่ยมได้ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายปรีชา และนายเจริญถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเอี่ยมเป็นการทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทํา โดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายเอี่ยมสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายปรีชาและนายเจริญ นายเอี่ยมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
สําหรับประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยมนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629
กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพ หาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น
(1) ในกรณีความตายของนายปรีชา ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ คือนางสาวแจงและนายเท่งซึ่งเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ส่วนผู้มีสิทธิเรียก ค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงซึ่งเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ และนายเท่งซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์
(2) ในกรณีความตายของนายเจริญ ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ คือนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของนายเจริญตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627
ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้
2 การที่รถบรรทุกที่นายเอี่ยมขับได้เสียหลักไปชนบริเวณที่นายแหลมผูกวัวซึ่งเช่ามาจาก นางบ้าบิน ทําให้เชือกที่ผูกวัวเอาไว้ขาด และวัวได้วิ่งเข้าไปในไร่ข้าวโพดของนางบ้าบิ่นจนข้าวโพดในไร่ล้มเสียหายและนางบ้าบินได้จับวัวไว้เพื่อยึดไว้เป็นประกันในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแหลมในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น นายแหลมไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่น เนื่องจากไม่ต้องด้วยมาตรา 452 วรรคหนึ่ง เพราะวัวซึ่งเป็นสัตว์ที่เข้ามาทําความเสียหายแก่ไร่ข้าวโพดของนางบ้าบินนั้นไม่ใช่สัตว์ของผู้อื่นแต่เป็นสัตว์ของนางบ้าบิ่นเอง อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากการทําละเมิดของนายแหลมแต่อย่างใด
สรุป
1 ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายเอี่ยม ในกรณีความตายของนายปรีชาคือนางสาวแจง และนายเก่ง ส่วนในกรณีความตายของนายเจริญคือนางสาวแจง
ผู้มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยม ในกรณีความตายของนายปรีชาคือ นางสาวแจงและนายเท่ง ส่วนในกรณีความตายของนายเจริญคือนางสาวแจง
2 นายแหลมไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่น