การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2103 (LAW 2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 คุณโอ๋ให้เช่าอาคารทาวน์โฮม 2 ชั้น ย่านสีลม-สุรวงศ์แก่นางสาวพาย ซึ่งใช้อาคารดังกล่าวในการออกอากาศสด (Live) ขายสินค้าทางแพลตฟอร์มออนไลน์และเป็นคลังเก็บสินค้าบางส่วน ตกลงการเช่ากันเป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกําหนดการเช่า นางสาวพายยังคงเข้ามาใช้สอยอาคารที่เช่า โดยไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินของตนออกไปจากอาคารที่เช่านั้นเลย ถึงแม้ว่าคุณโอ๋ได้บอกกล่าวก่อน และเมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่าว่า ประสงค์ที่จะให้นักธุรกิจชาวต่างชาติรายหนึ่งเช่าอาคารนั้น เดือนละ 150,000 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และจะไม่ต่ออายุการเช่ากับนางสาวพาย หลังจาก ล่วงพ้นไป 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ครบกําหนด คุณโอ๋จึงได้มอบหมายให้ลูกจ้างของตนขนย้ายทรัพย์สินของนางสาวพายออกไปและเปลี่ยนกุญแจล็อกประตูทางเข้า-ออกทุกด้านของอาคารนั้น นางสาวพายอ้างต่อคุณโอ๋ว่าจากการที่ไม่อาจเข้าไปในอาคารนั้นได้ทําให้ธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์ของตนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะไม่สามารถจัดการส่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามมูลค่าประมาณ 1 แสนบาท ให้แก่ลูกค้าหลักร้อยรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ รวมทั้งทรัพย์สินบางส่วนที่ ถูกลูกจ้างของคุณโอ๋ขนย้ายออกไปได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ขณะที่คุณโอ๋อ้างว่าตนใช้สิทธิ โดยสุจริตเพราะบังคับตามสัญญาเช่าและไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วนแต่อย่างใด
จากเหตุการณ์นี้ผู้ใดที่ทําละเมิด เพราะเหตุใด และมีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนใดได้บ้าง จงอธิบายตามข้อกฎหมายละเมิด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคา ทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”
มาตรา 440 “ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์ อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจํานวนเงินที่จะต้องใช้คิดตั้งแต่เวลา อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้”
มาตรา 441 “ถ้าบุคคลจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทําของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไปหรือขณะที่ทําให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น……..”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน” คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิ ที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทําที่บุคคลผู้กระทํามีสิทธิที่จะกระทําได้ตามกฎหมาย แต่ได้ใช้สิทธินั้นเกินส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิด ความรําคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิด
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีของนางสาวพาย
การที่นางสาวพายได้กระทําในลักษณะที่ยังคงอาศัยอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปโดยไม่ได้ขนย้าย ทรัพย์สินของตนออกไปจากอาคารที่เช่านั้นเลยหลังสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏชัดเจนว่าผู้ให้เช่าได้แจ้งไปยังผู้เช่าแล้วว่าตนไม่ประสงค์ต่ออายุการเช่าและจะให้ผู้อื่น เช่าอาคารต่อไป การกระทําของนางสาวพายถือเป็นการกระทําโดยจงใจและโดยผิดต่อกฎหมายทําให้คุณโอ๋ ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 เพราะสิทธิที่จะครองและใช้สอยอาคารตามสัญญาเช่าได้สิ้นสุดไปแล้ว รวมทั้งไม่มีสิทธิอื่นใดตามกฎหมายที่ตนจะสามารถอ้างได้ต่อการกระทําดังกล่าว ทําให้ผู้ให้เช่าได้รับความเสียหายต่อสิทธิของตนจากการที่ไม่ได้รับส่งมอบทรัพย์สินคืนจนไม่อาจนําอาคารไปให้ผู้อื่นเช่าและได้รับค่าเช่าจากผู้เช่ารายใหม่ ดังนั้น คุณโอ๋ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายต่อสิทธิ ซึ่งกําหนดจํานวน ค่าเสียหายเท่ากับความเสียหายจริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจประเมินจากค่าเช่า 150,000 บาท ที่ได้ตกลงกับผู้เช่ารายใหม่ และค่าเสียหายอื่นที่เกี่ยวกับสัญญาเช่าเดิม กรณีของคุณโอ๋
การที่คุณโอ๋ให้ลูกจ้างของตนขนย้ายทรัพย์สินของนางสาวพายออกไปและเปลี่ยนกุญแจล็อกประตูทางเข้า-ออกทุกด้านของอาคารนั้น ถือเป็นการกระทําที่ผิดต่อกฎหมายในลักษณะใช้สิทธิในทางที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 421 เพราะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต ทําให้นางสาวพายได้รับความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สิน การที่คุณโอ๋อ้างว่าตนใช้สิทธิโดยสุจริตเพราะบังคับตาม สัญญาเช่าและไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วนแต่อย่างใดนั้น การกล่าวอ้างของคุณโอ๋จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตามกฎหมายแล้วผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิใช้กําลังบังคับ ผู้ให้เช่าจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องเป็นคดีขับไล่ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการบังคับให้ผู้เช่าออกจากอาคารที่เช่าต่อไป ดังนั้น นางสาวพายจึงมีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนจากคุณโอ๋สําหรับความเสียหายต่อสิทธิตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง และความเสียหายต่อทรัพย์สิน ตามมาตรา 438 วรรคสองได้ โดยการให้ชดใช้ค่าเสียหายซึ่งอาจประเมินจากมูลค่าของสินค้าประมาณ 1 แสนบาท ที่นางสาวพายไม่สามารถส่งให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ตามมาตรา 441 และโดยให้ชดใช้ราคา ทรัพย์สินซึ่งประเมินจากทรัพย์สินบางส่วนที่เสียหายจากการที่ลูกจ้างของคุณโอ๋ได้ขนย้ายออกไปตามมาตรา 440
สรุป จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถือว่าทั้งนางสาวพายและคุณโอ๋ได้ทําละเมิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และ แต่ละคนย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อ 2 นายกบเป็นเจ้าของสุนัขดุ วันเกิดเหตุสุนัขหลุดออกไปได้ขณะนายกบเปิดประตูเพื่อจะออกไป ทํางานและไม่ได้ติดตามให้กลับมา ปรากฏว่าสุนัขตัวดังกล่าววิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ ของนายเขียดในระยะกระชั้นชิด ทําให้รถจักรยานยนต์ล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บ ขณะเกิดเหตุนายเขียดขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วปกติและระมัดระวัง
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายกบจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายเขียดอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยง รับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขดุของนายกบหลุดออกไปนอกบ้านในขณะที่นายกบเปิดประตู เพื่อจะออกไปทํางานและนายกบไม่ได้ติดตามให้กลับมานั้น ถือได้ว่านายกบไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อสุนัขตัวดังกล่าวได้วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของนายเขียดในระยะกระชั้นชิดทําให้รถจักรยานยนต์ล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บ โดยขณะเกิดเหตุนั้นนายเขียดได้ขับรถจักรยานยนต์
ด้วยความเร็วปกติและระมัดระวัง กรณีที่รถจักรยานยนต์ของนายเขียดล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บนั้น ย่อมเป็นผลโดยตรงจากสุนัขของนายกบ ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายกบ ซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์ (สุนัข) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเขียดผู้ที่ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 433 วรรคหนึ่ง
สรุป นายกบต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเขียด
ข้อ 3 นางสาวพฤกษา บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายรุ่ง แอบหยิบกุญแจรถยนต์ที่นายรุ่ง ให้นางสาวเรืองภริยานําไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ ต่อมานางสาวพฤกษาได้ขับรถยนต์ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แต่นางสาวพฤกษาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวัง เป็นเหตุให้ขับรถไปชนนายซวยได้รับบาดเจ็บสาหัส นายซวยตะโกนร้องขอให้นายกิตติเข้าช่วยเหลือ นายกิตติจดจําได้ว่านายซวยเคยกลั่นแกล้งตนมาก่อนจึงต้องการให้นายซวยตาย เลยไม่เข้าช่วยเหลือ ทั้งที่สามารถช่วยเหลือได้ ขณะเกิดเหตุ นางสาวพฤกษาเป็นผู้เยาว์ อยู่ในความปกครองดูแลของ บิดามารดา และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายซวยบ้างหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”
มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ใน ความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวพฤกษาบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายรุ่ง แอบหยิบกุญแจ รถยนต์ที่นายรุ่งให้นางสาวเรื่องภริยานําไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้วนางสาวพฤกษาได้ขับรถยนต์ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แต่นางสาวพฤกษาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ขับรถไปชนนายซวยได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือว่านางสาวพฤกษาได้กระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดย ผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย นางสาวพฤกษาผู้ทําละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการ ละเมิดนั้นตามมาตรา 420 และแม้ว่าขณะเกิดเหตุนางสาวพฤกษาจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตน ทําละเมิดนั้นตามมาตรา 429
สําหรับนางสาวเรืองซึ่งเป็นมารดาของนางสาวพฤกษานั้น จะต้องรับผิดร่วมกับนางสาวพฤกษา ในผลของการทําละเมิดนั้นด้วยตามมาตรา 429 ส่วนนายรุ่งซึ่งเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวพฤกษา ถือเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถคือนางสาวพฤกษาซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายรุ่ง ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บกุญแจรถยนต์ ดังนั้น นายรุ่งจึงต้องร่วมรับผิดกับนางสาวพฤกษา ผู้ทําละเมิดด้วยตามมาตรา 430
ส่วนการที่นายซวยได้ตะโกนร้องขอให้นายกิตติเข้าช่วยเหลือ แต่นายกิตติไม่เข้าช่วยเหลือทั้งที่ สามารถช่วยเหลือได้นั้น เมื่อนายกิตติไม่ได้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จําต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้น จึงไม่ถือว่านายกิตติ ได้มีการกระทําโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทํา และเมื่อไม่ถือว่ามีการกระทําจึงไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้น นายกิตติจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดแต่อย่างใด
สรุป บุคคลที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายช่วย ได้แก่ นางสาวพฤกษา นายรุ่ง และนางสาวเรือง
ข้อ 4 ชมพู่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กองโอซึ่งรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ ตรวจคนเข้าเมือง ปฏิบัติหน้าที่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สวนพลู กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่กักตัว คนต่างชาติที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง นายราฮิมซึ่งเป็นผู้ต้องกักและพวกรวม 3 คน ได้ร่วมกัน จับตัวผู้กองโอไว้เป็นตัวประกัน มีระเบิดมือและมีดเป็นอาวุธ พร้อมกับข่มขู่ว่าจะฆ่าตัวประกัน และเผาสถานกักตัวฯ หากไม่ยอมให้หลบหนีออกไปจากสถานกักตัวคนต่างด้าว ต่อมานายราฮิมและพวกควบคุมตัวประกันไปตามทางเดินไปสู่ประตูทางออก ทําท่าจะขว้างระเบิดมายังกองอํานวยการกลางที่ พ.ต.อ. เรืองยศ และเจ้าพนักงานตํารวจอื่นกําลังยื่นอยู่ ซึ่งห่างกันเพียง 4 – 5 เมตร พ.ต.อ. เรืองยศ จึงได้ตัดสินใจสั่งการให้ผู้กองหมีและหมวดกวางยิงไปที่นายราฮิมและพวกในลักษณะ เป็นรายบุคคล โดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มคนดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้นายราฮิมและพวก กระทําเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ อาจเป็นภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องกักอื่นและเจ้าพนักงาน ตํารวจ ต่อมาได้มีการยิงปืนออกไปตามที่ได้สั่งการไว้และระเบิดที่นายราฮิมถืออยู่เกิดระเบิดขึ้นมาส่งผลให้นายราฮิมและผู้กองโอเสียชีวิต ชมพู่ฟ้องคดีต่อศาลเรียกร้องให้จําเลยทั้งสาม คือ พ.ต.อ. เรืองยศ ผู้กองหมี และหมวดกวางร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน ด้วยเหตุผล ที่ว่ามีการสั่งการและการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวประกัน และอาจใช้วิธีการอื่น ๆ ที่สามารถระงับเหตุได้ จึงเป็นละเมิดทําให้ผู้กองโอเสียชีวิต ตามกฎหมายละเมิด จําเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชมพู่หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้”
วินิจฉัย
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
1 จะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น
2 ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
3 เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
4 ผู้กระทําได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ
โดยหลักแล้ว เมื่อมีการทําละเมิดตามมาตรา 420 ทําให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของผู้กองโอ ชมพู่ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กองโอย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทําละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่ตนได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายที่ทําให้ผู้ทําละเมิดไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น กรณีที่เข้าหลักของนิรโทษกรรมอันเกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ เกิดจากการกระทําตามคําสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายราฮิมซึ่งเป็นผู้ต้องกักและพวกรวม 3 คน ได้ร่วมกันจับตัวผู้กองโอ ไว้เป็นตัวประกัน โดยมีระเบิดมือและมีดเป็นอาวุธ ข่มขู่ว่าจะฆ่าตัวประกันและเผาสถานกักตัวฯ หากไม่ยอมให้ หลบหนีออกไปจากสถานกักตัวฯ พร้อมแสดงท่าทางจะขว้างระเบิดมายังกองอํานวยการกลางที่ พ.ต.อ.เรืองยศ และเจ้าพนักงานตํารวจอื่นกําลังยืนอยู่ ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 4 – 5 เมตรนั้น ถือได้ว่ามีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่ พ.ต.อ.เรืองยศได้ตัดสินใจ สั่งการให้ผู้กองหมีและหมวดกวางยิงไปที่นายราฮิมและพวกในลักษณะเป็นรายบุคคล โดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไป ในกลุ่มคนดังกล่าวนั้น แม้การกระทําของ พ.ต.อ.เรืองยศจะเป็นการละเมิด แต่การกระทํานั้นก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 เพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น และการกําหนดให้ยิ่งเป็นรายบุคคลโดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มคนดังกล่าวก็ถือเป็นการปฏิบัติตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของตัวประกันและเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ แม้ว่าตัวประกันจะเสียชีวิตเพราะการกระทําละเมิดดังกล่าวตามมาตรา 420 รวมทั้งการที่ลูกระเบิดมือเกิดระเบิดขึ้นและถูกตัวประกันถึงแก่ความตายถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น เมื่อเป็น นิรโทษกรรมตามมาตรา 449 จําเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7362/2537)
สรุป จําเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชมพู่