การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์จะจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมด แล้วจันทร์จะกระทําการส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกําหนด 6 เดือน นับแต่วันทําสัญญา และอังคารจะทําการสร้างอาคารสิบชั้นทันที เมื่อครบกําหนด 6 เดือนตามสัญญา ปรากฏว่าจันทร์ไม่ได้ไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารได้ตามสัญญา แต่อังคารก็ไม่ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่อจันทร์แต่ประการใด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชําระหนี้นั้นจะต้องทําก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทําการอันนั้นภายในเวลากําหนด”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทําการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กําหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ และถือว่า เจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชําระหนี้หรือขอปฏิบัติการชําระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกันว่า จันทร์จะต้องจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมด และส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกําหนด 6 เดือน นับแต่วันทําสัญญานั้น ถือเป็นเรื่องการชําระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชําระหนี้ โดยมีการตกลงกําหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการไว้เป็นที่แน่นอน ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าจันทร์ เจ้าหนี้ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้แก่อังคารได้ตามสัญญา จันทร์เจ้าหนี้ย่อมเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกําหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้หาจําต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่ประการใดไม่

สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท สัญญากําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันกู้ยืม ปรากฏว่าภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้นมาขอชําระหนี้คืน ให้แก่อังคาร

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า จันทร์มีสิทธิชําระเงินคืนให้แก่อังคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 203 ได้วางหลักไว้ว่า ถ้าเวลาในการชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ได้ทันที และลูกหนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะชําระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ได้ทันทีเช่นเดียวกัน (มาตรา 203 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเวลาในการชําระหนี้นั้นได้กําหนดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน แต่กรณีเป็นที่สงสัยว่ากําหนดเวลาดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้หรือฝ่ายเจ้าหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ฝ่ายเดียว ซึ่งทําให้เจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ก่อนกําหนดเวลาไม่ได้ แต่ฝ่ายลูกหนี้สามารถชําระหนี้ก่อนกําหนดเวลาได้ (มาตรา 203 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไป 1 ล้านบาท กําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันกู้ยืมนั้น ถือว่าได้มีการกําหนดเวลาในการชําระหนี้ไว้ และกําหนดเวลาดังกล่าวถือว่า เป็นประโยชน์แก่จันทร์ลูกหนี้ ดังนั้น จันทร์ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะชําระหนี้อังคารเจ้าหนี้ก่อนครบกําหนดเวลาได้ คือ จันทร์สามารถชําระเงินคืนให้แก่อังคารก่อนครบกําหนด 1 ปีได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง

สรุป จันทร์มีสิทธิชําระเงินคืนให้แก่อังคารได้

 

ข้อ 3 พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง บ้านหลังนี้มีราคาหนึ่งล้านบาท พุธจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ซึ่งพฤหัสก็รับไว้

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวนหนึ่งล้านบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ โดยผลของกฎหมาย ทําให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ของ การรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้

1 ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

2 ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชําระก่อน

3 ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชําระหนี้กัน ส่งผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ได้ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ทําให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังโดยบ้านหลังนี้มีราคา 1 ล้านบาทนั้น ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ พฤหัสโดยการกระทําของศุกร์ และความเสียหายดังกล่าวพุธซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้อง รับผิดชอบในความเสียหายต่อพฤหัสผู้ให้เช่า ดังนั้น พุธจึงมิใช่ลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 227 การที่พุธได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ก่อให้เกิด การรับช่วงสิทธิใด ๆ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 227 พุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนได้

สรุป

พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนไม่ได้

 

ข้อ 4 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท อังคารมีที่ดินอยู่หนึ่งแปลงราคาประมาณห้าแสนบาท จดจํานองเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ไว้ นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้วไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลย ก่อนที่หนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารจะถึงกําหนดชําระ อังคารได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่พุธโดยเสน่หา โดยพุธรู้เรื่องหนี้สินระหว่างจันทร์กับอังคารเป็นอย่างดี

ดังนี้ จันทร์จะสามารถใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมทรัพย์สินของอังคารได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 702 วรรคสอง “ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงนั้น ไม่ได้ทําให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใดแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อังคารเป็นลูกหนี้จันทร์อยู่ 5 แสนบาท โดยได้นําที่ดินซึ่งอังคารมีอยู่เพียงแปลงเดียวจดทะเบียนจํานองเป็นหลักประกันหนี้รายนี้ไว้ นอกนั้นไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลย และก่อนที่หนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารจะถึงกําหนดชําระ อังคารได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่พุธโดยเสน่หานั้น แม้การทํานิติกรรม การโอนที่ดินให้แก่พุธได้กระทําภายหลังที่อังคารเป็นหนี้จันทร์ โดยที่พุธก็รู้เรื่องหนี้สินระหว่างจันทร์กับอังคาร เป็นอย่างดีก็ตาม แต่การโอนที่ดินที่ติดจํานองไปให้แก่พุธนั้น ภาระจํานองก็ต้องโอนตามไปด้วย โดยพุธผู้รับโอน ก็จะต้องรับภาระจํานองนั้นด้วย และจันทร์ผู้รับจํานองมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 702 วรรคสอง ดังนั้น การที่อังคารได้โอนที่ดินให้แก่พุธจึงมิใช่การทํานิติกรรมที่จะทําให้เจ้าหนี้คืออังคารเสียเปรียบแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จันทร์จะใช้มาตรการ ทางกฎหมายเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธไม่ได้

สรุป จันทร์จะใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ ไม่ได้

Advertisement