การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 จันทร์เป็นลูกหนี้อังคารเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินกู้ยืมสองแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 20 มกราคม 2563 เมื่อถึงกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2563 จันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสองแสนบาท โดยวิธีโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของอังคาร ซึ่งอังคารเองก็ยอมรับว่ามีการโอนเงินจํานวนดังกล่าวเข้าบัญชีของอังคารจริง แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับการชําระหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องชําระด้วยเงินสด ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”
มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”
มาตรา 320 “อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชําระหนี้เป็นอย่างอื่น ผิดไปจากที่จะต้องชําระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ
1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ
2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นหนี้เงินกู้ยืมอังคารจํานวน 200,000 บาท และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวน 200,000 บาท โดยขอชําระด้วยวิธีโอนเงินทางโทรศัพท์ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของอังคารนั้น ถือว่าเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชําระให้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ได้ และลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 320
ดังนั้น เมื่อจันทร์ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบ และอังคารเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ โดยมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง และมาตรา 320 การปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ของอังคาร จึงไม่ทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207
สรุป การปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ของอังคาร ไม่ทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด
ข้อ 2 บริษัทฯ เป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากรอยู่สองล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็เป็นเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นในมูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบอยู่ร้อยละเจ็ดสิบ แต่กรรมการบริษัทฯ ก็ขัดขืน เพิกเฉย ไม่เรียกเอามูลค่าหุ้นดังกล่าวมาชําระหนี้ภาษี กรมฯ จึงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องบริษัทฯ เป็นจําเลยที่ 1 และใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ ฟ้อง สอง สาม สี่ ห้า หก ผู้ถือหุ้นเป็นจําเลยที่ 2 – 6 ตามลําดับ ขอบังคับเอามูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบมาชําระหนี้ภาษีแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 — 4 ทําสัญญา ประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จําเลยที่ 5 ต่อสู้ว่าเมื่อมีการทําสัญญาประนีประนอมฯ ตนไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์อีก ส่วนจําเลยที่ 6 อ้างว่าตนได้ชําระค่าหุ้นที่ค้างชําระให้กับบริษัทฯไปครบถ้วนแล้ว ตนไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกเช่นกัน ข้อต่อสู้และข้ออ้างของจําเลยที่ 5, 6 ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุ ให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิ
มาตรา 234 “เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย”
มาตรา 235 “เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจํานวนที่ยังค้างชําระแก่ลูกหนี้ โดย ไม่ต้องคํานึงถึงจํานวนที่ค้างชําระแก่ตนก็ได้ ถ้าจําเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจํานวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชําระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วน จํานวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจํานวนที่ค้างชําระแก่ตนนั้นเลย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทฯ เป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากรอยู่ 2 ล้านบาท และในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็เป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นในมูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบอยู่ร้อยละ 70 แต่กรรมการบริษัทฯ ก็ขัดขืนเพิกเฉย ไม่เรียกเอามูลค่าหุ้นดังกล่าวมาชําระหนี้ภาษีนั้น การที่กรมสรรพากรใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ ฟ้องจําเลยที่ 2 – 6 นั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของจําเลยที่ 1 ตามมาตรา 233 และการที่โจทก์ได้ฟ้องบริษัทฯ ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นจําเลยที่ 1 ด้วยนั้น ถือว่าเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีแล้วตามมาตรา 234
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลยที่ 1 – 4 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และ จําเลยที่ 5 ต่อสู้ว่าเมื่อมีการทําสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ตนก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกนั้น ข้อต่อสู้ ของจําเลยที่ 5 ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะการประนีประนอมยอมความของโจทก์นั้นไม่ทําให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ จําเลยที่ 1 ที่มีต่อจําเลยที่ 5 ระงับสิ้นไป จําเลยที่ 5 จะหลุดพ้นไม่ต้องชําระหนี้ก็ต่อเมื่อได้ส่งใช้ค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว เท่านั้น ส่วนจําเลยที่ 6 อ้างว่าตนได้ชําระค่าหุ้นที่ค้างชําระให้บริษัท ฯ ครบถ้วนแล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ข้ออ้างของจําเลยที่ 6 จึงฟังขึ้น ตามมาตรา 235
สรุป ข้อต่อสู้ของจําเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างของจําเลยที่ 6 ฟังขึ้น
ข้อ 3 นายหล่อทําสัญญากู้เงินนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ต่อมาบิดาของนายหล่อซึ่งเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พันล้านประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอย่างกะทันหัน นายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวและเป็นผู้ได้รับ มรดกทั้งหมดของบิดา นายหล่อจึงได้ทําหนังสือปลดหนี้จํานวน 1,000,000 บาท ให้แก่นายโชค คนขับรถเก่าแก่ประจําตระกูล โดยที่นายโชคก็มิได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายหล่อที่มีต่อนายรวย แต่อย่างใด ต่อมาความจริงปรากฏว่า บิดาของนายหล่อได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด ให้แก่วัดโดยมีนายโชคลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น ครั้นเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระนายหล่อ ไม่สามารถชําระหนี้ให้แก่นายรวยได้ และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว นอกจากรถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 500,000 บาท
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายรวยจะสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายหล่อลูกหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”
วินิจฉัย
กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายหล่อลูกหนี้ได้หรือไม่ อย่างไรนั้น เห็นว่า การที่นายหล่อลูกหนี้ทําสัญญากู้เงินจากนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ต่อมาบิดาของนายหล่อเสียชีวิต ซึ่งนายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่า ตนเองเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียว และจะเป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของบิดา จึงได้ทําหนังสือปลดหนี้จํานวน 1,000,000 บาทให้แก่นายโชคนั้น ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ทํานิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินและทําให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบเนื่องจากนายหล่อไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว นอกจากรถยนต์ 1 คัน ราคา 500,000 บาทเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะทํานิติกรรมปลดหนี้ให้แก่นายโชคดังกล่าวนั้น นายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นทายาทเพียงคนเดียว และเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดของบิดา โดย นายหล่อลูกหนี้มิได้รู้ว่านิติกรรมที่ตนเองได้กระทําลงไปนั้น เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด ดังนั้น นายรวยเจ้าหนี้จึงไม่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้ของนายหล่อตามมาตรา237 ได้
สรุป นายรวยไม่สามารถใช้มาตการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายหล่อลูกหนี้ได้
ข้อ 4 นายกิตติ นายรุ่ง และนายเรืองร่วมกันทําสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น เนื้อที่ 120 ตารางเมตร จากนายมั่งมีโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคาร ต่อมานายกิตตินําอาคารบางส่วนไปให้นายพฤกษาเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายมั่งมี ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า นายมั่งมี จึงบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายกิตติ นายรุ่ง และนายเรือง และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคาร ที่เช่า นายกิตติให้การยอมรับว่าให้เช่าช่วงไปจริง ส่วนนายรุ่งและนายเรืองต่อสู้ว่า นายมั่งมีไม่มีสิทธิ เลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ เพราะนายรุ่งกับนายเรืองไม่ได้มีส่วนทําผิดสัญญา
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายรุ่งกับนายเรืองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”
มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึง ตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง
ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติ นายรุ่ง และนายเรืองร่วมกันทําสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น จากนายมั่งมีโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคารนั้น ถือได้ว่าทั้งสามคนเป็นผู้เช่าร่วมกัน และเป็นลูกหนี้ ร่วมกันตามมาตรา 291 ต่อมาการที่นายกิตตินําอาคารบางส่วนไปให้นายพฤกษาเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอม จากนายมั่งมี ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า ทําให้นายมั่งมีบอกเลิกสัญญาเช่านั้น แม้ตามมาตรา 295 จะถือว่าเป็น ข้อความจริงที่ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งและเป็นโทษแก่นายกิตติเพียงคนเดียวก็ตาม แต่เมื่อการเช่ารายนี้ มีสภาพแห่งหนี้ที่มีลักษณะไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครเช่าพื้นที่ส่วนใด จึงย่อมถือได้ว่านายรุ่งและนายเรืองเป็นผู้ผิด สัญญาเช่าด้วย ตามมาตรา 295 วรรคหนึ่งตอนท้าย นายมั่งมีจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายรุ่งและนายเรืองได้ ดังนั้น เมื่อนายมั่งมีบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายกิตติ นายรุ่งและนายเรือง และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคารเช่า นายรุ่งและนายเรืองจะต่อสู้ว่านายมั่งมีไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่ โดยอ้างว่าทั้งสองไม่ได้มีส่วนทําผิดสัญญาเช่านั้นไม่ได้
สรุป ข้อต่อสู้ของนายรุ่งและนายเรืองดังกล่าวฟังไม่ขึ้น