การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 แมวครอบครองที่ดินมีโฉนดของหมูเพื่อปลูกข้าว จนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของหมูโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ แต่ยังไม่ได้นําไปจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาหมูได้ทราบเรื่องดังกล่าว หมูจึงวางแผนกับนกซึ่งเป็นเพื่อนสนิทว่าตนเองจะยกที่ดินแปลงดังกล่าวของตนให้แก่นก โดยสัญญาให้ทําถูกต้องตามแบบของกฎหมายทุกประการ (ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) เมื่อนกได้รับที่ดินมาแล้วนกจึงไปฟ้องขับไล่แมว
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า แมวจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมู ขึ้นต่อสู้ กับนกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แมวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของหมูโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ถือว่าแมวเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าแมวยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว แมวจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น แมวจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้
เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า การที่หมูได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นกซึ่งเป็นเพื่อนสนิทนั้น เป็นการทําสัญญาให้โดยที่นกไม่ได้เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด และนกก็ทราบอยู่แล้วว่าแมวได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงจะถือว่านกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินนั้น มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหาได้ไม่ ดังนั้น นกจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเมื่อนกไปฟ้องขับไล่แมว แมวจึงสามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ของหมูขึ้นต่อสู้กับนกได้
สรุป แมวสามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูขึ้นต่อสู้กับนกได้
ข้อ 2 เอ บี และซีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวขนาด 3 คูหาแห่งหนึ่ง โดยทั้งเอ บี และซีมีสัดส่วน ความเป็นเจ้าของในที่ดินและตึกแถวนั้นเท่า ๆ กัน ในวันหนึ่ง เอพบว่าฝ้าเพดานภายในตึกแถวนั้น ผุพังและอาจถล่มลงมาทําให้เกิดความเสียหายได้ เอจึงเรียกช่างให้มาซ่อมแซมฝ้าเพดานโดย ไม่ได้ปรึกษาบีและซี และชําระค่าซ่อมเพดานไปเป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท เอจึงมาเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานกับบีและซี บีและซีปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าเอไม่ได้มาปรึกษาพวกตนก่อนการซ่อมฝ้าเพดาน
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า เอจะสามารถเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานจากบีและซีได้หรือไม่ เป็นจํานวนเงิน เท่าใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1356 “ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 1358 “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ
ในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสําคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน
การเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน”
มาตรา 1362 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จําต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตามส่วนของตนในการ ออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอ บี และซี เป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวขนาด 3 คูหาแห่งหนึ่ง โดยทั้งเอ บี และซีมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในที่ดินและตึกแถวเท่า ๆ กัน เมื่อเอพบว่าฝ้าเพดานภายในตึกแถวนั้น ผุพังและอาจถล่มลงมาทําให้เกิดความเสียหายได้ เอจึงเรียกช่างให้มาซ่อมแซมฝ้าเพดาน ในการซ่อมฝ้าเพดานนั้น ถือว่าเป็นการทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินคือตึกแถวให้อยู่ในสภาพดี ดังนั้น เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจทําการ เพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอตามมาตรา 1358 วรรคสองตอนท้าย เอจึงสามารถซ่อมฝ้าเพดานได้โดยไม่ต้องปรึกษา บีและซีก่อน และเมื่อได้จัดการไปแล้ว เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้น ตามส่วนของตนตามมาตรา 1362 และเมื่อเอได้ชําระค่าซ่อมฝ้าเพดานไปเป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท เอจึง สามารถเรียกให้บีและซีช่วยออกค่ารักษาทรัพย์สินที่ตนได้ชําระไปแล้วได้คนละ 5,000 บาท
สรุป เอสามารถเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานจากบีและซีได้คนละ 5,000 บาท
ข้อ 3 กุมภาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของมีนาที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ติดต่อกันได้ 7 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยที่มีนาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว พอขึ้นปีที่ 8 เมษาได้มาชักชวนให้กุมภาไปทํางานที่กรุงเทพฯ กุมภาตอบตกลงไปทํางานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน แล้วถูกเลิกจ้างเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี กุมภาจึงกลับมาทํานาในที่ดินแปลงเดิมของมีนา มีนารู้เรื่องจึงแจ้งให้กุมภาออกไปจากที่ดินนั้น แต่กุมภาอ้างว่าตนเองไม่มีงานอื่นทําแล้ว จึงขอครอบครองที่ดินเพื่อทํานาหาเลี้ยงชีพต่อไปโดยจะให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้บางส่วนแก่มีนาเป็นการตอบแทน มีนาสงสารจึงตอบตกลง เมื่อกุมภาทํานาในที่ดินของมีนาและส่งมอบข้าวให้มีนาอย่าง ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี กุมภาก็เลิกส่งมอบข้าวให้มีนา เมื่อมีนามาทวงถาม กุมภาจึงอ้างว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว ดังนั้น ตนจึงไม่จําเป็นต้องส่งข้าวให้มีนาเพื่อเป็นการตอบแทนการใช้ที่ดิน อีกต่อไป มีนาโกรธมากจึงฟ้องขับไล่กุมภา
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ระหว่างกุมภากับมีนาผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”
มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยน ลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอํานาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกําหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
2 ได้ครอบครองโดยความสงบ
3 ครอบครองโดยเปิดเผย
4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กุมภาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของมีนาติดต่อกันได้ 7 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีนาไม่ทราบเรื่องดังกล่าวนั้น ถือว่ากุมภาเป็นผู้ครอบครอง ที่ดินของผู้อื่นโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันเพียง 7 ปี ดังนั้น กุมภาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของมีนาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
ในปีที่ 8 การที่กุมภาตกลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน ตามที่เมษาชักชวนนั้น ย่อมถือว่ากุมภามีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิการครอบครองของกุมภาจึงสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1384 และเมื่อกุมภากลับมาทํานาในที่ดินแปลงเดิมของมีนาอีกครั้ง จึงต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ แต่เมื่อมีนารู้เรื่องจึงแจ้งให้กุมภาออกไปจากที่ดินนั้น แต่กุมภาขอครอบครองที่ดินเพื่อทํานาโดย จะให้ข้าวแก่มีนาเป็นการตอบแทนนั้น จึงเป็นกรณีที่กุมภาได้รับอนุญาตจากมีนาในการครอบครองที่ดิน ทําให้กุมภาขาดเจตนาเป็นเจ้าของในการครอบครองที่ดินในคราวหลัง จึงไม่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองได้ เพราะถือว่ากุมภาเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินแทนมีนาตามมาตรา 1368 เท่านั้น
ต่อมา การที่กุมภาเลิกส่งมอบข้าวให้มีนาและเมื่อมีนาทวงถาม กุมภาจึงอ้างว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วนั้น ถือเป็นกรณีที่กุมภาบอกเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือไปยังมีนาตามมาตรา 1381 และเมื่อกุมภาได้บอกเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือยังไม่ครบ 10 ปี กุมภาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของมีนา โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้น มีนาจึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากุมภา
สรุป มีนามีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากุมภา
ข้อ 4 นาคมีที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทางทิศตะวันออกติดกับที่ดินมีโฉนดของเพชรซึ่งเป็นพี่ชายของตนโดยนาคเดินผ่านที่ดินของเพชรด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรเพื่อออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทาง ที่ถนนใหญ่มาเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคยขออนุญาตเพชรเลย ในปีที่ 13 เพชรต้องการย้ายทางเดินที่นาคเดินออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทางไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินซึ่งทําให้นาคต้องเดิน เป็นระยะทางไกลกว่าเดิม และลดขนาดทางเดินจากเดิมกว้าง 1.5 เมตร เหลือเพียง 1 เมตร เนื่องจากเพชรต้องการสร้างสวนหย่อมในบริเวณที่เป็นทางเดินแต่เดิมนั้น นาคไม่ยินยอมให้เพชรย้ายทางเดินดังกล่าว
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ที่ดินของนาคจะได้สิทธิภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบน ที่ดินของเพชรหรือไม่ และเพชรจะสามารถย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจําหน่ายทรัพย์สิน ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”
มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาคมีที่ดินมีโฉนดติดกับที่ดินมีโฉนดของเพชรซึ่งเป็นพี่ชายของตน และนาคได้เดินผ่านที่ดินของเพชรด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรเพื่อออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทางที่ถนนใหญ่ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว โดยไม่เคยขออนุญาตเพชรเลยนั้น ถึงแม้ว่าที่ดินของเพชรจะเป็นที่ดินมีโฉนด และแม้ทางเดินนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อที่ดินของนาคและใช้มาเกิน 10 ปีแล้วก็ตาม แต่การที่นาคเดินผ่านที่ดินของเพชร ด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรนั้น ถือเป็นการเดินผ่านโดยวิสาสะโดยไม่เป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดิน ดังนั้น นาคจึงไม่ได้ภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบนที่ดินของเพชร ตามมาตรา 1387 ประกอบ มาตรา 1401 และมาตรา 1382 และเมื่อนาคไม่ได้ภาระจํายอมบนที่ดินของเพชร เพชรจึงอาศัยสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 ในการย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้โดยไม่ต้องคํานึงถึงความสะดวกของนาค ตามมาตรา 1392 แต่อย่างใด
สรุป
ที่ดินของนาคไม่ได้สิทธิภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบนที่ดินของเพชร และเพชรสามารถย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้