การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW 2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกใช้สิทธิฟ้องขับไล่นายโทออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายเอกกับนายโททําสัญญาประนีประนอมยอมความกันความว่า หากนายโทได้ปฏิบัติ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้แก่นายเอกครบถ้วนแล้ว โดยผลแห่งข้อกําหนด ตามสัญญาระหว่างนายเอกและนายโทที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ย่อมตกเป็นของนายโท ศาล พิพากษาตามยอม ดังนี้ เมื่อนายโทชําระเงินให้แก่นายเอกครบแล้ว นายโทจะมีสิทธิเข้ายึดถือ ครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้หรือไม่ และนายโทจะมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอก จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายโทเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อ บุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกใช้สิทธิฟ้องขับไล่นายโทออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายเอกกับนายโททําสัญญาประนีประนอมยอมความกันความว่า หากนายโท ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้แก่นายเอกครบถ้วนแล้ว โดยผลแห่งข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างนายเอกและนายโทที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ย่อมตกเป็นของนายโทและศาลพิพากษาตามยอมนั้น เมื่อนายโทได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้นายเอกครบถ้วนแล้ว ที่ดินย่อมตกเป็นของนายโท และถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตาม มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง
และโดยผลแห่งนิติกรรมนี้แม้จะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หามีผลทําให้นิติกรรมการได้มาดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพียงแต่ทําให้การได้มาของนายโท ไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิเท่านั้น แต่ในระหว่างคู่กรณีย่อมมีผลผูกพันกันในฐานะบุคคลสิทธิ ทําให้นายโทมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินยันนายเอกได้
และเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์คือโฉนดที่ดิน นายโทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้
สรุป นายโทมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาท และมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้
ข้อ 2 เอกเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจากร้านขายรถจักรยานยนต์ของโทที่เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์ มา 5 ปีแล้ว โดยตกลงผ่อนค่าเช่าซื้อ 30 งวด และงวดสุดท้ายจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แก่ผู้เช่าซื้อ หลังจากที่เอกนํารถมาใช้และจ่ายค่าเช่าซื้อได้ 6 งวด ตรีผู้เป็นเจ้าของรถที่แท้จริงพบว่าเอกครอบครองรถจักรยานยนต์ของตนเองอยู่จึงขอให้เอกส่งคืนรถแก่ตน เอกต่อสู้ว่าเอกไม่ต้องคืนรถแก่ตรี เว้นแต่ ตรีจะจ่ายเงินค่าเช่าซื้อรถ 6 งวดคืนแก่เอกก่อน แต่ตรีอ้างว่าเอกทําสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาไม่ใช่บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมา จึงไม่สามารถต่อรองให้ตรีชําระราคารถมอเตอร์ไซค์ได้ ดังนี้ ให้ท่าน วินิจฉัยว่าจากข้อต่อสู้ของเอกและตรี ผู้ใดถูกต้องและมีสิทธิในรถจักรยานยนต์คันนี้ดีกว่ากัน
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านขายรถจักรยานยนต์ของโทซึ่ง เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์มา 5 ปีแล้ว โดยตกลงผ่อนค่าเช่าซื้อ 30 งวด และงวดสุดท้ายจะโอนกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์แก่ผู้เช่าซื้อนั้น เมื่อปรากฏว่าเอกได้นํารถมาใช้และได้จ่ายค่าเช่าซื้อไปเพียง 6 งวดเท่านั้น จึงยังไม่ถือ ว่าเอกได้รถจักรยานยนต์มาจากการซื้อทรัพย์สินตามนัยมาตรา 1332 เอกจึงไม่สามารถยกมาตรา 1332 ขึ้นมา เป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ตรีชดใช้ค่าเช่าซื้อรถ 6 งวดคืนแก่ตนได้ ดังนั้น ข้ออ้างของตรีที่ว่าเอกทําสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มา จึงไม่ใช่บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาจึงถูกต้อง เอกจึงต้องคืนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้แก่ตรี ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง
สรุป
ข้อต่อสู้ของตรีถูกต้องและตรีมีสิทธิในรถจักรยานยนต์ดีกว่าเอก
ข้อ 3 เต่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของวาฬซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ใด ๆ วันหนึ่งเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ดินของวาฬโดยวาฬไม่รับทราบแต่เต่ามิได้เข้าครอบครองทําประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินของวาฬ อีก 10 ปีต่อมาเมื่อวาฬเข้ามาสํารวจที่ดินแล้วเห็นว่าเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินนั้น วาฬจึงบอกกล่าวให้เต่ารื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากที่ดินของตน แต่เต่าอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่มีการล้อมรั้วลวดหนาม โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬแล้ว
ให้ท่านวินิจฉัยว่าเต่าจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
2 ได้ครอบครองโดยความสงบ
3 ครอบครองโดยเปิดเผย
4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เต่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของวาฬซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ และเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ดินของวาฬโดยวาฬ ไม่รับทราบนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เต่ามิได้เข้าครอบครองทําประโยชน์อย่างอื่นอีกแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเต่าเข้าครอบครองที่ดินของวาฬด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้เต่าจะล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไป ในที่ดินของวาฬติดต่อกันนานถึง 10 ปีแล้วก็ตาม เต่าก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่มีการล้อมรั้วลวดหนามโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬตามมาตรา 1382 แต่อย่างใด เต่าจึงไม่สามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬได้
สรุป
เต่าจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬไม่ได้
ข้อ 4 นายหนึ่งเดินผ่านที่ดินของนายสองออกสู่ทางสาธารณะในลักษณะปรปักษ์ต่อนายสองเจ้าของที่ดิน เพื่อให้ได้ภาระจํายอม ถึงแม้ว่านายสองจะห้ามมิให้นายหนึ่งเดินผ่าน นายหนึ่งก็ยังคงเดินต่อไป อย่างเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 14 ปี หลังจากที่นายหนึ่งยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อให้ตนได้มา ซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว นายสองได้โต้แย้งอ้างว่าที่ดินของนายสองไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีโฉนดที่ดินเมื่อเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า นายหนึ่งจึงไม่อาจได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินนี้ได้ ดังนี้ ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังได้หรือไม่ ท่านในฐานะผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเดินผ่านที่ดินของนายสองออกสู่ทางสาธารณะในลักษณะปรปักษ์ต่อนายสองเจ้าของที่ดินเพื่อให้ได้ภาระจํายอม ถึงแม้ว่านายสองจะห้ามมิให้นายหนึ่งเดินผ่าน แต่นายหนึ่งก็ยังคงเดินต่อไปอย่างเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 14 ปีนั้น นายหนึ่งย่อมได้ภาระจํายอมบนที่ดินของนายสอง โดยอายุความแล้วตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ดังนั้น นายหนึ่งย่อมมีสิทธิยื่นคําร้องขอต่อศาล เพื่อให้ตนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความได้
ส่วนการที่นายสองได้โต้แย้งว่าที่ดินของนายสองไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีโฉนดที่ดินเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า นายหนึ่งจึงไม่อาจได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินนี้ได้นั้น ข้อกล่าวอ้างของนายสองดังกล่าวย่อมรับฟัง ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งภาระจํายอมตามมาตรา 1387 นั้น ไม่ใช่กรณีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินภารยทรัพย์จึงอาจเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือที่ดินมือเปล่าก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ที่ที่ดินภารยทรัพย์ต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น (คําพิพากษา ฎีกาที่ 1568/2505)
สรุป
ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาในคดีนี้จะวินิจฉัยว่า นายหนึ่งย่อมได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินของนายสอง ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังไม่ได้