การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนข้อ 1 พระธรรมสาสตร์คืออะไร ให้อธิบายถึงการกำเนิดพระธรรมศาสตร์ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมาโดยสังเขป
ธงคำตอบ
พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง
ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ความว่า มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์ ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร มีเทพกินนร กินนรี คนธรรม์ เป็นบริวาร ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่สองชื่อ มโนสารกุมร เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา
ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง จึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้ และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล มีปริมาณเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์ หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย
ข้อ 2 หลักอินภาษคืออะไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษมีผลอย่างไรต่อตุลาการ อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักอินทภาษ เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ 4 ประการ คือ ฉันทาคติ (รัก) โทสาคติ (โกรธ) ภยาคติ (กลัว) โมหาคติ (หลง) และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส ซึ่งหมายความว่า พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว อิสริยยศ และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ 4 ประการดังกล่าว อิสริยยศ และบริวารยศ ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม
ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น หมายถึง ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง
การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ หมายถึง อย่าตัดสินความโดยความโกรธ พยาบาท อาฆาต เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน
การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ คือ ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์ หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก
การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ หมายความว่า จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้ คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์ จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง
การตัดสินคดีโดยมีอคติ 4 ประการนี้ นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง กล่าวว่า ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง
หลักอินทภาษ มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย
ข้อ 3 การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนมีชื่อเรียกโดยรวมว่าอะไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
การประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียน มีชื่อเรียกโดยรวมว่า Corpus Juris Civilis ซึ่งประกอบด้วย
1 Code จักรพรรดิจัสติเนียนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน 10 คน ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชั้นนำ และศาสตราจารย์ทางกฎหมายจัดการรวบรวมกฤษฎีกาของจักรพรรดิต่างๆโดยให้ตัดทอนซึ่งที่เห็นว่าล้าสมัยและเลิกใช้ไปแล้ว ตลอดจนสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็ให้ตัดทิ้งไป ผลงานนี้เรียกว่า Code หรือประมวลพระราชบัญญัติ ทำสำเร็จภายในเวลาเพียง 1 ปี และประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี ค.ศ. 529 หลังจากประกาศใช้ไปได้เพียง 5 ปี ก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะว่าล้าสมัย ประมวลกฎหมายฉบับที่ 2 นี้มีชื่อเรียกว่า Justinian Code of the Resumed Reading
2 Digest หรือ Pandect หรือวรรณกรรมกฎหมาย ในปี ค.ศ. 530 จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งทริโบเนียน (Tribonian) เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดหนึ่งจำนวน 16 คน ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางกฎหมายและทนายความ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ การศึกษาข้อเขียนของเหล่าบรรดานักกฎหมายที่ทรงคุณวุฒิ จากหนังสือจำนวน 2,000 เล่ม คณะกรรมการนี้ได้ตัดทอนเอาเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องที่สุดไว้ และให้ตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันทิ้งเสีย และให้ดัดแปลงข้อความต่างๆให้เข้ากับกฎหมายของยุคจักรพรรดิจัสติเนียน ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำนวน 50 เล่ม จัดเรียงเป็นลักษณะต่างๆผลงานนี้ทำสำเร็จภายในเวลา 3 ปี ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 533
จักรพรรดิจัสติเนียนให้ถือว่า Digests แทนหนังสือเก่าๆทั้งหมด และห้ามมิให้ค้นคว้า หรืออ้างอิง กฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด
3 Institutes ในปี ค.ศ. 533 จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วย ทริโบเนียนและศาสตราจารย์ทางกฎหมายอีก 2 คน ให้เรียบเรียงตำรากฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่งไว้เพื่อที่จะแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายและเนื้อหาสาระของกฎหมายชีวิล ลอว์ โดยจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา ตำรากฎหมายฉบับนี้เรียบเรียงมาจากตำราของไกอุส (Gaius) โดยให้ตัดทอนสิ่งที่ล้าสมัยในตำราของไกอุสออก และให้จัดทำเป็นตำราคำอธิบายกฎหมายเบื้องต้นซึ่งจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 533
4 Novels หลังจากที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายในข้อ 1 , 2 และ 3 แล้ว จักรพรรดิจัสติเนียนยังให้รวบรวมกฎหมายใหม่ๆ ที่จักรพรรดิตราขึ้นมารวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แต่ทำไม่สำเร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน ต่อมามีเอกชนผู้อื่นได้จัดการรวบรวมสืบต่อมา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จักรพรรดิจัสติเนียนจึงให้นับเนื่องส่วนที่ 4 นี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของจักรพรรดิจัสติเนียนด้วย