การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

Advertisement

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต  หรือโดยการสมรสมีผลต่อบุคคลอย่างไรในทางแพ่งและทางอาญาตามพระอัยการลักษณะต่างๆ  ในประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  (ให้อธิบายผลในทางแพ่งมา  3  กรณี  และผลในทางอาญามา  2  กรณี)

ธงคำตอบ

ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต  หรือโดยการสมรสมีผลต่อบุคคลในทางแพ่งและอาญาตามพระอัยการลักษณะต่างๆ  ในประมวลกฎหมายตรา  3  ดวง  ในกรณีต่างๆดังนี้

1         ทางแพ่ง

1)       ห้ามมิให้มีการสมรสกันในระหว่างเครือญาติ  (พระอัยการลักษณะผัวเมีย)

2)       มีสิทธิรับมรดก (พระอัยการลักษณะมรดก)

3)       ห้ามลูกหลานฟ้องบิดามารดา  ปู่ย่า  ตายาย  (พระอัยการลักษณะกู้หนี้)

2         ทางอาญา

1)       ไม่ต้องรับโทษทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์  (พระอัยการลักษณะโจร)

2)       ไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายมิถึงอันตรายสาหัส  (พระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกัน)

 

ข้อ  2  การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญาปล่อยตัวนายแพทย์ประกิตเผ่า  อ้างว่าถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 90  ซึ่งศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่  2  มีนาคม  2550  แล้วนั้น  ตามที่ได้ศึกษาเรื่องระบบกฎหมายหลัก  อยากทราบว่ามาตรา  90  ป.วิ.อาญา  เอามาจากประเทศอะไร  ประเทศดังกล่าวอยู่ในระบบกฎหมายใด  วัตถุประสงค์แห่งกฎหมายมาตรา  90  นี้คืออะไร  และกฎหมายเรื่องนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์ของต่างประเทศอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  90  ป.วิ.อาญา  เอามาจากประเทศอังกฤษ  ซึ่งอยู่ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

วัตถุประสงค์แห่งกฎหมายนี้คือ  เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลเหมือนอย่างในประเทศอังกฤษ  และตามกฎหมายอังกฤษ  ผู้ใดฝ่าฝืนหมายเรียก  เฮเบียส  คอร์พัส  ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  ทำให้ศาลลงโทษได้ทันที

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของหลักกฎหมายเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่  2  ยุคชาวนอร์แมนหรือยุคก่อตัวของคอมมอนลอว์  ค.ศ. 1066 – 1485  ในยุคนี้ได้เกิดการปฏิรูปศาล  คือ  ศาลหลวง  ได้มีวิวัฒนาการแยกออกเป็น  3  ศาล  ศาลหนึ่งที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา  คือ  ศาลคิงส์  เบนช์  ศาลนี้ยังมีอำนาจเป็นศาลอุทธรณ์  โดยได้รับอำนาจจากพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการออกหมายเรียก  ที่ชื่อว่า  เธอะ  พรีรอกเกตีฟ ริต  (Prerogative  Writs)  ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายนี้  คือ  เฮเบียส  คอร์พัส  (Habeas  Corpus)  เป็นกฎหมายที่ออกเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการควบคุมตัวบุคคล  ซึ่งศาลคิงส์  เบนช์  มีอำนาจออกได้  ต่อมาหมายนี้เป็นหมายที่มีความสำคัญที่สุดหมายหนึ่งในการคุ้มครองรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  โดยศาลนี้ได้ใช้หมายนี้จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่ใช้โดยมิชอบ

ในปี ค.ศ.  1679  รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติเฮเบียส  คอร์พัส  แอคท์  (The  Habeas)  Corpus  Act  1679)  กฎหมายฉบับนี้บัญญัติว่า  คนสัญชาติอังกฤษคนใดถูกจำขังในเรือนจำโดยปราศจากการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล  ผู้นั้นหรือผู้อื่นที่มิได้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม  ให้ออกหมายที่เรียกว่า  เฮเบียส  คอร์พัส  ไปยังผู้ที่จำขังเขาให้มาศาลพร้อมผู้ต้องขัง  เพื่อไต่สวนถึงเหตุที่เอาตัวผู้นั้นไปขังและผู้พิพากษามีอำนาจปล่อยผู้ต้องขังโดยมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้

ปัจจุบันศาลสูงชั้นกลาง  คือ  ซูพรีม  คอร์ท  (Supreme  Court)   มีอำนาจออกหมายนี้

 

ข้อ  3  การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  พ.ศ. 2550  ของประเทศไทย  มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภา  อยากทราบว่าสภานี้ในอดีตของต่างประเทศมีชื่อเรียกว่าอะไร  เกิดจากชนชาติใด  ในยุคใดของชนชาตินั้น  จำนวนสมาชิกสภานี้ในสมัยนั้นมีกี่คน  ที่มาของสมาชิกสภานี้ในสมัยดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช่หรือไม่  และในสมัยนั้นสภานี้มีอำนาจหน้าที่อะไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

สภานี้มีชื่อเรียกว่า  สภาซีเนต  เกิดจากชาวโรมันในยุคที่  2  คือยุคสาธารณรัฐ

จำนวนสมาชิกสภาซีเนตเดิมมี  300  คน  ต่อมาเพิ่มเป็น  600  คน  ในสมัยจูเลียสซีซาร์มี  900 คน 

สมาชิกของสภานี้  ในอดีตสมัยดังกล่าวไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโรมัน  สภานี้มีมาตั้งแต่ยุคกษัตริย์  โดยกษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากชนชั้นสูง  หรือพวกพาทริเชียน  (Patricians)  ในยุคสาธารณรัฐของโรมัน  สภา  Semate  ประกอบด้วย  ผู้อาวุโส  ที่คอนซูลหรือกงสุลทำการคัดเลือกจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือก  ได้แก่  ผู้บริหารตั้งแต่  คอนซูล  เซนเซอร์  และแอร์ดิลิส

สภานี้มีอำนาจเป็นสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ในยุคแรกของโรมัน  ในยุคสาธารณรัฐเป็นที่ปรึกษาของคอนซูล  ในสมัยต่อมาสภา  Senate เป็นองค์กรหนึ่งของฝ่ายบริหารทีเป็นหลักในการปกครองสาธารณรัฐโรมัน  สภา  Senate  ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย  แต่ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของผู้บริหารสูงสุดคือ  คอนซูล  ผู้บริหารจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้  ในทางปฏิบัติสภา  Senate  มีความเห็นอย่างไร  ผู้บริหาร  ที่ขอคำปรึกษาแนะนำมักจะปฏิบัติตามและมักจะยอมรับคำแนะนำของสภา  Senate

กฎหมายที่สำคัญ  เช่น  กฎหมายสิบสองโต๊ะ  ต้องผ่านสภานี้ด้วย  นอกจากนี้มติของสภาซีเนตเรียกว่า  Senatus  Consulta  ถือว่าเป็นกฎหมาย

Advertisement