การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 การกระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือที่เรียกกันว่า มังรายศาสตร์ มีหลักเกณฑ์แตกต่างจากการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญาของปัจจุบันอย่างไรบ้าง อธิบาย
ธงคำตอบ
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ต้องประกอบด้วน (1) การกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ และ (2) ต้องมีเจตนา คือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำ นอกจากนี้ตามปกติยังมีการแบ่งการกระทำออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1 คิดที่จะทำความผิด
2 ตกลงใจที่จะทำความผิด
3 ตระเตรียมการเพื่อที่จะกระทำความผิด
4 ลงมือกระทำความผิด
5 กระทำความผิดสำเร็จ
การคิดจะกระทำความผิดหรือตกลงใจที่จะกระทำความผิด เป็นเรื่องภายในจิตใจ ยังไม่มีการแสดงออกภายนอก จึงไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เป็นภยันตรายต่อสังคม และถึงแม้จะมีการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด ซึ่งมีการแสดงออกมาภายนอกแล้วก็ตาม โดยปกติกฎหมายก็ยังไม่ถือเป็นความผิด เพราะยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐานความผิด เช่น การตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ หรือตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น เป็นต้น
กฎหมายถือเท่ากับว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันกฎหมายอาญาไม่ลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อกระทำผิด เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ และยังห่างไกลต่อความผิดสำเร็จ แต่ในกำหมายพระเจ้ามังรายมีบทบัญญัติในลักษณะวิวาทด่าตีกันตอนหนึ่งว่า
“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน ท่านให้ไหม 5 บาทเฟื้องเงิน
ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก ให้ไหม 100 บาทเฟื้องเงิน
ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน ให้ไหม 220 บาทเฟื้องเงิน”
จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังราย ผู้คิดจะกระทำความผิด (ถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟัน) หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด (ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝัก) หรือแม้กระทั่งตระเตรียมเพื่อจะกระทำความผิด ( ถอดดาบออกจากฝัก แต่ยังไม่ทันได้ไล่ฟัน) ล้วนแต่เป็นความผิดมีโทษปรับไหมทั้งสิ้น
เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด
ข้อ 2 ศาสตร์ตราจารย์เรเน่ ดาวิด ได้แบ่งระบบกฎหมายออกเป็นกี่ระบบ อะไรบ้าง จงอธิบายแต่ละระบบโดยย่อ
ธงคำตอบ
ระบบกฎหมายหลักของโลกมี 4 ระบบ คือ
1 ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน หมายความว่า กรุงโรมเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง
เยอรมันนิค หมายความว่า ชื่อชนเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันคือชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นำเอาประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน
เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Written Law
การที่กฎหมายโรมันจัดทำเป็นประมวลกฎหมาย จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Code Law
ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้คือ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน สวิส ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ
2 ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คือ ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้ในการตัดสินคดี ต้นกำเนิดหรือแม่แบบเกิดขึ้นในประเทศแรกคืออังกฤษ ระยะแรกมีชนเผ่าต่างๆที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะอังกฤษ ศาลท้องถิ่นได้นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่ามาตัดสิน ทำให้ผลของคำพิพากษาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน จนกระทั่งชนเผ่าสุดท้ายคือพวกนอร์แมนพิชิตเกาะอังกฤษในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 จึงส่งศาลเคลื่อนที่ออกไปวางหลักเกณฑ์ทำให้จารีตประเพณีเหมือนกันทุกท้องถิ่น มีลักษณะเป็นสามัญ (Common) และใช้กันทั่วไป จึงเรียกว่า คอมมอนลอว์ ตัวอย่างเช่น แคนาดา อเมริกา ออสเตรเลีย นิงซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้ เป็นต้น
3 ระบบกฎหมายสังคมนิยม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นในประเทศแรกคือรัสเซีย หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1917 โดยนำเอาแนวความคิดของนักปราชญ์สองท่าน คือ คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้การปกครองของประเทศยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือชุมชนหรือสังคม ประเทศใดที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งสอง ประเทศนั้นจัดอยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม เช่น เวียดนาม ลาว เกาหลีเหนือ จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่เป็นต้น
4 ระบบกฎหมายสาสนาและประเพณีนิยม ปัจจุบันมีบางประเทศที่นำเอาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้ามาบัญญัติเป็นกฎหมาย จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย มี 3 กลุ่ม คือ
(ก) ศาสนาอิสลาม ต้นกำเนิดประเทศแรกคือ ซาอุดิอาระเบีย คำสอนของพระเจ้า คือ อัลลอฮ์ ปรากฎอยู่ในกฎหมาย เช่น กฎหมายครอบครัวและมรดก เป็นต้น
(ข) ศาสนาคริสต์ แนวความคิดจองศาสนาคริสต์ ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา เช่น ข้อกำหนดห้ามหย่า การห้ามคุมกำเนิด การห้ามทำแท้ง และการห้ามสมรสซ้อน (Bigamy) เป็นต้น
(ค) ศาสนาฮินดู ต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตำรากฎหมาย คือ พระธรรมศาสตร์ หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ของมโนสาราจารย์
ส่วนประเพณีนิยม เกิดจากคำสอนของนักปราชญ์ มิใช่พระผู้เป็นเจ้า เช่น ชาวจีนในสมัยขงจื้อที่นำเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจำวัน หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทำกฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน
ข้อ 3 ระบบกฎหมายอังกฤษในยุคที่ 2 คือ ยุคชาวนอร์แมน ค.ศ. 1066 – 1485 มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายอะไรบ้าง จงกล่าวโดยสรุปเป็นข้อๆ
ธงคำตอบ
สรุปเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายของประเทศอังกฤษ ในยุคที่ 2 ของชาวนอร์แมนมีดังนี้
1 เกิดจารีตประเพณีที่เหมือนกัน (เกิด Common LAW)
2 เกิดการปกครองเรียกว่า ศักดินาสวามิภักดิ์ (เกิด Feudalism)
3 เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก (เกิด Magna Carta)
4 เกิดการปฏิรูปศาลหลวง (เกิดศาลคอมมอน พลีส์ ศาลเอ็คซ์เซ็คเกอร์ ศาลคิงส์ เบนซ์)
5 เกิดวิธีพิจารณาโดยคณะลูกขุน (เกิด Jury) ซึ่งเดิมมีวิธีพิจารณาโดยวิธีพิสูจน์น้ำพิสูจน์ไฟ วิธีการสาบานตัว วิธีการต่อสู้