การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 พระธรรมศาสตร์คืออะไร มีกำเนิดมาอย่างไร และอาณาจักรไทยได้นำเอาหลักพระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่เมื่อใด อธิบาย
ธงคำตอบ
พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง
ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ความว่า มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์ ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร มีเทพกินนร กินนรี คนธรรม์ เป็นบริวาร ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่สองชื่อ มโนสารกุมร เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา
ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง จึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้ และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล มีปริมาณเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์ หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย
อาณาจักรไทยเองได้นำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 (กฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย) ว่า “คนที่เอาข้าทาสของผู้อื่นไปเกินกว่า 3 วัน จะต้องปรับไหมตามขนาดที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์ พระธรรมศาสตร์”
ข้อ 2 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 452 บัญญัติว่า “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็น โดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้” จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ ทำให้ทราบว่า มาตรานี้เป็นหลักการที่ใช้มานานกว่า 2,000 ปีแล้ว อยากทราบว่า
(ก) ในอดีตมีกฎหมายของชนชาติใดที่บัญญัติหลักการคล้ายคลึงกันเช่นนี้
(ข) อยู่ในระบบกฎหมายใด
(ค) กฎหมายนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร
(ง) ข้อความที่บัญญัติไว้ของชนชาติดังกล่าวนั้นมีข้อความเขียนว่าอะไร
ธงคำตอบ
(ก) ชาวโรมัน
(ข) ระบบซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
(ค) กฎหมายสิบสองโต๊ะ
(ง) บัญญัติว่า “สัตว์สี่เท้าของใครเข้าไปทำให้ที่ดินเขาเสียหาย เขาจับยึดสัตว์นั้นไว้เป็นของเขาได้ เว้นแต่เจ้าของจะเสียเงินค่าไถ่ถอนกลับคืนมาตามราคาค่าเสียหาย”
ข้อ 3 เรซีโอ เดซิเดนดิ (Ratio Decidendi) โอบิเทอร์ ดิคทา (Obiter Dicta) หมายความว่าอะไร ทั้งสองคำนี้เป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับอะไร หลักนี้มีในระบบกฎหมายใด จงยกตัวอย่างมาให้ดูด้วย
ธงคำตอบ
เรซีโอ เดซิเดนดิ หมายความว่า เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย หรือข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง
โอบิเทอร์ ดิคทา หมายความว่า ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง
ทั้งสองคำเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับแนวบรรทัดฐานแห่งคำพิพากษาของศาล (precedent) หมายถึง การที่คำพิพากษาศาลอังกฤษใดจะมีผลผูกพันคำพิพากษาในคดีอื่น นั่นคือ ศาลที่กำลังพิจารณาคดีจะต้องวินิจฉัยตามคดีก่อนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง (ratio decidendi) ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง (obiter dicta) ไม่มีผลผูกมัด
หลักนี้มีในระบบคอมมอน ลอว์ (Comomn Law) หรือระบบกฎหมายอังกฤษ
ตัวอย่าง คดีขับรถยนต์โดยประมาททำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวโจทก์คือโจทก์ชื่อนายเอ ผมสีทอง วันเกิดเหตุเป็นวันศุกร์ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะหลักกฎหมายในเรื่องนี้จะใช้บังคับกับบุคคลอื่นๆด้วย แม้ว่าบุคคลนั้นจะมิได้มีลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยขับรถโดยประมาทและผลแห่งการกระทำนั้นทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ