การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2544
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 อุทลุมคืออะไร ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้และพระอัยการลักษณะรับฟ้องมีการบัญญัติเรื่องอุทลุมไว้อย่างไร และมีความแตกต่างกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างไร อธิบาย
ธงคำตอบ
คำว่า “อุทลุม” ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า ผิดประเพณี ผิดธรรมมะ นอกแบบ นอกทาง คือ คดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า “คนอุทลุม”
ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้บัญญัติว่า บิดามารดากู้ยืมเงินบุตรชายหญิงเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ดี ห้ามบุตรชายหญิงฟ้องบิดามารดา ณ โรงศาล กรมใดๆเลย ให้ว่ากล่าวกันโดยปกติ ส่วนลูกเขย และลูกสะใภ้อาจฟ้องพ่อตา แม่ยาย แต่จะได้ต้นเงินเท่านั้น ดอกเบี้ยมากน้อยเท่าใดไม่ให้คิดเลย แต่ก็ยังถือเป็นคนอุทลุมยู่ดี
ในพระอัยการรับฟ้องห้ามลูกหลานฟ้องพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นการห้ามฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่ไม่ห้ามเหลนฟ้องทวด ดังนั้นถ้าเหลนฟ้องทวดย่อมไม่เป็นอุทลุม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรืออาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
บุพการี หมายถึง บิดามารดา ปู่ ย่า ตายาย และทวดด้วย ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหลาน เหลน จะฟ้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และทวดไม่ได้ แต่ถ้าต้องการจะฟ้อง ต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาล (ฟ้องคดีแทน) หรือจะร้องขอให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลแทนก็ได้
ข้อ 2 ประมวลกฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการประมวลกฎหมายตราสามดวง อธิบาย
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้รวบรวมและชำระสะสางให้ถูกต้องตามความยุติธรรม เมื่อปีจุลศักราช 1166 (พุทธศักราช 2347) ประกอบด้วยพระธรรมศาสตร์ หลักอินทภาษ และพระอัยการต่างๆ รวม 29 ลักษณะ เสร็จแล้วทรงให้อาลักษณ์เขียนเป็นฉบับหลวงจำนวน 3 ชุดๆละ 41 เล่ม ทรงให้ประทับตราราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยาพระคลังไวเป็นสำคัญ และใช้เป็นกฎหมาย ตลอดมาจนค่อยๆมีการทยอยยกเลิกจนหมดสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2481
เหตุเมื่อมีประมวลกฎหมายตราสามดวงเนื่องจากมีการร้องทุกข์ทูลเกล้าถวายฎีกาของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องด้วยอำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีให้การแก่พระเกษมว่าอำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีนายบุญศรีไม่ยอมหย่า พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแทะโลมอำแดงป้อมและพิจารณาไม่เป็นสัจเป็นธรรม เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดเอาข้อความมาให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงปรึกษาว่าเป็นหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าเป็นเรื่องหญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้จักกรชำระบทกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นเสียใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง
ข้อ 3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 861 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย” จากมาตรานี้แสดงว่าการประกันภัยเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงว่าฝ่ายหนึ่งใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเงินเมื่อมีวินาศภัยหรือเหตุอื่น ซึ่งเป็นลักษณะของการประกันภัยที่เป็นกฎหมายเอกชนในปัจจุบัน แต่ตามที่ได้ศึกษาระบบกฎหมายหลักหรือประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ พบว่า สมัยของชนชาติหนึ่งนอกจากมีกฎหมายเอกชน 6 ประเภทที่เกิดขึ้นในสมัยของชนชาตินั้นแล้ว อยากทราบว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการบันทึกเรื่องกำเนิดการประกันภัยของชนชาตินั้นไว้อย่างไร เกิดขึ้นในสมัยชนชาติใด อาชีพอะไร และมีข้อตกลงที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณไว้อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
นอกจากกฎหมายเอกชน 6 ประเภทที่เกิดขึ้นในสมัยบาบิโลนดังกล่าวมาแล้ว ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการบันทึกไว้ในเรื่องของกำเนิดการประกันภัยว่า ชาวบาบิโลนได้ผลิตสินค้าออกขาย และได้ส่งลูกจ้างหรือทาสของตนออกไปเร่ขายสินค้าตามเมืองต่างๆ ทาสหรือลูกจ้างของตนนี้ไม่มีส่วนได้เสียในกำไรที่เกิดขึ้นกับการขายสินค้าเหล่านั้นเลย และไม่มีอำนาจในการตกลงกับผู้ซื้อนอกเหนือไปจากที่ได้รับคำสั่งจากนายของตนเท่านั้น เมื่อการค้าเจริญขึ้นการทำงานของทาสหรือลูกจ้างเกิดความไม่สะดวก เนื่องจากขาดอำนาจต่างๆดังกล่าว การใช้ทาสหรือลูกจ้างก็เปลี่ยนไปเป็นใช้พ่อค้าเร่ (Travelling Salesman) ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “Darmatha” แปลว่าคนตีกลอง เป็นผู้รับสินค้าจากพ่อค้าเจ้าของสินค้าไปจำหน่ายยังเมืองต่างๆ พวกพ่อค้าเร่นี้ต้องมอบทรัพย์สิน ภรรยา และบุตร ที่อยู่ทางบ้านให้พ่อค้าเป็นประกัน โดยมีข้อสัญญากันว่ากำไรที่ได้รับนั้นพ่อค้าเร่ต้องแบ่งให้พ่อค้าเจ้าของสินค้าครึ่งหนึ่ง หากพ่อค้าเร่หนีหายไปหรือถูกโจรปล้นเอาสินค้าไปหมด บรรดาทรัพย์สินจะถูกพ่อค้าเจ้าของสินค้าริบ และภรรยากับบุตรก็จะตกเป็นทาสไปด้วย เงื่อนไขดังกล่าวนี้เมื่อปฏิบัติไปได้เพียงไม่นาน บรรดาพ่อค้าเร่เกิดความไม่พอใจและแข็งข้อ ไม่ยอมรับเงื่อนไขอันเสียเปรียบนี้ ในที่สุดได้มีการตกลงเงื่อนไขใหม่ว่า การสูญเสียสินค้าโดยมิใช่ความผิดของพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าเร่มิได้เพิกเฉยต่อการป้องกันรักษาสินค้าอย่างเต็มที่แล้ว ให้ถือว่าพ่อค้าเร่ไม่มีความผิด พ่อค้าเจ้าของสินค้าจะริบเอาทรัพย์สิน ภรรยา และบุตรไม่ได้ ข้อตกลงนี้จึงได้ใช้ต่อมาอย่างแพร่หลายในการค้าสมัยนั้น นับได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณ