การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนข้อ 1 หลักอินทภาษคืออะไร มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร การที่ตุลาการตัดสินคดีโดยยึดหลักอินทภาษหรือไม่ยึดหลักอินทภาษมีผลต่อตุลาการท่านนั้นอย่างไรบ้าง อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักอินทภาษ เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ 4 ประการ คือ ฉันทาคติ (รัก) โทสาคติ (โกรธ) ภยาคติ (กลัว) โมหาคติ (หลง) และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส ซึ่งหมายความว่า พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว อิสริยยศ และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ 4 ประการดังกล่าว อิสริยยศ และบริวารยศ ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม
ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น หมายถึง ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง
การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ หมายถึง อย่าตัดสินความโดยความโกรธ พยาบาท อาฆาต เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน
การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ คือ ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์ หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก
การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ หมายความว่า จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้ คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์ จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง
การตัดสินคดีโดยมีอคติ 4 ประการนี้ นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง กล่าวว่า ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง
หลักอินทภาษ มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย
ข้อ 2 ผู้ซึ่งมีบทบาทในการร่างกฎหมายของกรีกในช่วงปีที่ 620 ถึง 594 ก่อนคริสตกาล คือใคร และ จลอธิบายถึงผลงานเกี่ยวกับกฎหมายของบุคคลดังกล่าวด้วย
ธงคำตอบ
ผู้ซึ่งมีบทบาทในการร่างกฎหมายของกรีกมี 2 คน คือ
1 ดราโค (Draco) เป็นผู้ซึ่งมีบทบาทอยู่ในช่วงราวปีที่ 620 ก่อนคริสต์ศักราช ดราโคได้ทำการรวบรวมกฎหมายและตราให้เป็นระเบียบหมวดหมู่ นอกจากนั้นยังเป็นเจ้าของประมวลกฎหมายที่เข้มงวดมากจนทำให้เกิดคำว่า “Draconic” หมายความว่า รุนแรงหรือเข้มงวด กระทั่งมีคำกล่าวว่า กฎหมายของเขาเขียนด้วยเลือดไม่ใช่ด้วยหมึก เช่น ผู้ซึ่งเป็นหนี้คนอื่นแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดจะต้องตกเป็นทาสของเจ้าหนี้หรือใครขโมยกะหล่ำปลีจะต้องถูกลงโทษประหารชีวิต กฎหมายฉบับนี้แม้จะให้ความยุติธรรม แต่การลงโทษก็รุนแรงเกินไป มิได้ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ผู้มั่งคั่งยังคงรวยจนเหลือล้น ในคณะที่คนจนก็ยัง ยากจนอย่างแสนสาหัส พวกขุนนางยังคงตัดสินคดีเข้าข้างตนเอง ความเข้มงวดของกฎหมายนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากจนถึงขั้นจลาจลวุ่นวายขึ้น ในปี 600 ก่อนคริสต์ศักราช อนึ่งประมวลกฎหมายของดราโค ถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของกรีก ผลดีของกฎหมายฉบับนี้มีเพียงประการเดียว คือ ทำให้ประชาชนมีโอกาสรู้กฎหมายบ้านเมืองมิใช่ปล่อยให้ขุนนางเป็นผู้ตัดสินคดีตามใจดังแต่ก่อน
2 โซลอน (Solon) เขาเป็นพ่อค้า ซึ่งเป็นชนชั้นมั่งคั่งที่สุดในนครรัฐเอเธนส์ โซลอนได้เข้ามาปฏิรูปการปกครอง ในราวปี 594 ก่อนคริสต์ศักราชเขาได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์คอนมีอำนาจพิเศษในการตรากฎหมาย เมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ได้ยกเลิกกฎหมายของดราโค โซลอนได้พยายามเลิกทาสและยกฐานะของบุคคลให้เสมอภาคกัน ผลงานที่สำคัญคือ
ก. ประกาศยกเลิกบรรดาทรัพย์สินที่จำนอง หนี้สินต่างๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่และห้ามการจำนองที่ดิน
ข. ยกเลิกหนี้สินต่างๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ รวมทั้งให้อิสรภาพแก่ผู้ที่ต้องกลายเป็นทาสเนื่องมาจากการติดหนี้สิน และห้ามการขายตัวเพื่อชดใช้หนี้สิน
ค. จัดตั้งสภาสี่ร้อย (The Council of Four Hundred) เพื่อเตรียมงานทางด้านนิติบัญญัติมีสมาชิก 400 คน เลือกมาจากพลเมืองทั้งสี่เผ่าพันธุ์ที่ประกอบเป็นชาวนครรัฐเอเธนส์เผ่าพันธุ์ละ 100 คน โดยให้สิทธิชนชั้นกลางและชนชั้นต่ำเข้าเป็นสมาชิกด้วย จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งสภานี้ก็เพื่อให้เกิดความสมดุลทางการเมืองกล่าวคือ คนทั้ง 4 เผ่าพันธุ์ ต่างมีส่วนในการปกครองเท่าๆกัน ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในทางนิติบัญญัติและในสภา
ง. จัดตั้งศาลยุติธรรม มีคณะผู้พิพากษาเรียกว่า เฮเลีย (Heliaea) เรียกศาลนี้ว่า ศาลเฮเลีย ในระยะแรกศาลนี้ทำหน้าที่พิจารณาคดีเบื้องต้น โดยที่อำนาจผู้พิพากษาสูงสุดยังคงอยู่กับอาร์คอน ต่อมาภายหลังศาลเฮเลีย ทำหน้าที่เป็นทั้งศาลเบื้องต้นและศาลสูงสุด คณะผู้พิพากษาประกอบไปด้วยประชาชนทั่วไป นอกจากอำนาจในการพิจารณาคดีแล้ว ศาลนี้ยังมีอำนาจซักฟอกผู้บริหารงานที่ถูกกล่าวหาและถูกเชิญตัวมาในศาลด้วย
จ. จัดให้มีการควบคุมเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อป้องกันมิให้เอกชนคนใดมีที่ดินมากเกินไป
ข้อ 3 ในบรรดากฎหมายโบราณทั้งหลาย กฎหมายโรมันมีคุณค่าพิเศษที่ทำให้เป็นรากฐานของประมวลกฎหมายแพ่งหลายประเทศในปัจจุบัน จงอธิบายคุณค่าพิเศษของกฎหมายโรมัน
ธงคำตอบ
คุณค่าพิเศษของกฎหมายโรมัน
ในบรรดากฎหมายโบราณทั้งหลาย กฎหมายโรมันมีคุณค่าพิเศษซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุต่างๆ 3 ประการดังต่อไปนี้
1 ในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย กฎหมายโรมันได้มีอายุสืบเนื่องติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับเสมอมา และด้วยเหตุที่กรุงโรมได้มีหลักฐานอันเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับวิชากฎหมายอยู่มากมาย ทำให้สามารถสืบสาวถึงความเจริญในเชิงระเบียบต่างๆของชุมชนแห่งชาวโรมันได้ดีกว่าชนชาติอื่นๆในสมัยโบราณ
2 ในทางคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเอง ชาวโรมันเป็นชนชาติแรกที่ได้เข้าจัดการบ้านเมืองของชนชาติอื่นที่ตนรบชนะ ให้อยู่โดยสงบเรียบร้อย กฎหมายโรมันจึงค่อยๆผ่อนผันเข้ากับสภาพแห่งความเป็นอยู่ของชนชาติต่างๆ ที่มีการดำเนินชีวิตผิดแผกแตกต่างกัน จนกลายเป็นกรอบข้อบังคับทั่วไปที่ใช้ ได้แก่ มนุษยชาติโดยไม่จำกัดหมู่เหล่า จนได้รับขนานนามว่าเป็น “คัมภีร์แห่งสติปัญญา” (Ratio Scripta)
3 กฎหมายโรมันยังคงอยู่ แม้จักรวรรดิโรมันได้สูญสิ้นไปแล้ว เพราะว่ากฎหมายโรมันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ชนชาติต่างๆ ที่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงโรม กฎหมายโรมันจึงประดุจกฎหมายกลางของบรรดาประเทศในยุโรปที่หยั่งรากลึกมาเป็นเวลานาน ฉะนั้นในเมื่อไทยรับเอาหลักกฎหมายของยุโรปมาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายโรมันย่อมเป็นมูลรากของกฎหมายไทยเช่นเดียวกัน