การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การกระทำผิดทางอาญาไว้แตกต่างกับการกระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันอย่างไรบ้างอธิบาย
ธงคำตอบ
การกระทำผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน การกระทำที่จะเป็นความผิดทางอาญาต้องประกอบด้วย 2 ส่วน
1 ต้องมีการกระทำคือการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ
2 ต้องมีเจตนาคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งผลของการกระทำ
นอกจากนี้ การกระทำความผิดยังแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนคือ
1 คิดจะกระทำความผิด
2 ตัดสินใจกระทำความผิด
3 ตระเตรียมเพื่อกระทำความผิด
4 ลงมือกระทำความผิด
5 กระทำความผิดสำคัญ
ปัจจุบันการคิดจะกระทำความผิด ตัดสินในกระทำความผิด หรือแม้กระทั่งการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดก็ยังไม่เป็นความผิด (เว้นแต่ความผิดร้ายแรงบางฐาน) ต่อเมื่อถึงขั้นลงมือกระทำความผิด จึงจะถือว่าเป็นความผิด เหตุที่การกระทำขั้นที่ 1 – 3 ยังไม่เป็นความผิดเพราะยังไม่เกิดภยันตรายต่อสังคม อีกทั้งเป็นเรื่องภายในจิตใจเท่านั้น ต่อเมื่อมีการลงมือกระทำความผิดกฎหมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อนำบทบัญญัติในกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ที่บัญญัติว่า
“ผิถือดาบอยู่กับที่มันว่าจะฟันท่านให้ไหม 5 บาทเฟื้องเงิน
ถือดาบว่าจะฟันแต่ยังไม่ได้ถอดดาบออกจากฝักให้ไหม 100 บาทเงิน
ผิถอดดาบว่าจะฟันแต่ไม่ทันได้ไล่ฟันให้ไหม 220 บาท”
มาเทียบเคียง จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้ที่เพียงแต่คิดจะกระทำความผิดหรือตัดสินใจกระทำความผิด ซึ่งเป็นเรื่องภายในใจเท่านั้น
เหตุที่กฎหมายพระเจ้ามังรายลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด หรือตัดสินใจจะกระทำความผิด อาจเป็นเพราะกฎหมายพระเจ้ามังราย หรือมังรายศาสตร์อาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้แปลงเป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ ตามหลักศาสนาพุทธการคิดกระทำความผิดย่อมเป็นบาป ซึ่งเป็นเรื่องของทางจิตใจ แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าเป็นการผิดกฎหมาย จึงมีการลงโทษผู้คิดจะกระทำความผิด ตัดสินใจที่จะกระทำความผิด หรือตระเตรียมเพื่อที่จะกระทำความผิด
ข้อ 2 ตามที่ได้ศึกษาระบบกฎหมายหลัก อยากทราบว่ากฎหมายของต่างประเทศมีอิทธิพลต่อกฎหมายไทยในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรจงอธิบาย
ธงคำตอบ
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บรรพ จำนวน 1,755 มาตรา เมื่อพิจารณาถึงมาตราต่างๆ ในแต่ละบรรพ (Books) จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการร่างกฎหมายได้อาศัยกฎหมายของประเทศทางตะวันตกเป็นส่วนมากในการจัดทำประมวลกฎหมายฉบับนี้ ดังเห็นได้จากบรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ ได้ลอกเลียนแบบจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเยอรมันและกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานมาจากกฎหมายโรมันโดยเฉพาะในบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ในเรื่องการวางทรัพย์ บางมาตราเมื่อเทียบตัวบทแล้วแทบจะเรียกได้ว่าเหมือนกันแทบทุกคำก็ว่าได้
ส่วนในบรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ได้นำกฎหมายหลายประเทศมาพิจารณา เช่น กฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส กฎหมายแพ่งของสวิส นอกเหนือจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale Goods Act, 1893 ) ของประเทศอังกฤษเป็นหลักดังปรากฏในมาตราต่างๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยซื้อขายซึ่งมีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับกฎหมายซื้อขายของประเทศอังกฤษ
สำหรับกฎหมายตั๋วเงินในบรรพ 3 ลักษณะ 21 ก็ได้นำเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของ เดอะ บิลล์ ออฟ เอ็กซ์เชนจ์ แอคท์ ค.ศ.1882 (The Bill Exchange Act,1882) ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่างนอกจากนี้กฎหมายอังกฤษก็ยังเป็นต้นแบบแนวความคิดในการร่างกฎหมายลักษณะบริษัทจำกัดอีกด้วย
ในกฎหมายล้มละลายคือพระราชบัญญัติล้มละลาย ร.ศ. 127 ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2542
ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผู้ร่างได้นำเอาหลักกฎหมายอังกฤษมาบัญญัติไว้คือเรื่อง เฮบัอัส คอร์พัส (Habeas Corpus) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการให้หลักประกันทางเสรีภาพแก่ประชาชนอังกฤษมาใช้ ตามกฎหมายอังกฤษถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนหมายเรียกเฮบีอัส คอร์พัส ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผลคือศาลลงโทษได้ทันที หลักกฎหมายนี้ได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างในอังกฤษ
ด้วยเหตุนี้ท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี ได้กล่าวแสดงให้เห็นอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศในระบบกฎหมายไทยว่า “ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันนั้น เมื่อพิจารณาถึงแบบแห่งกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย แต่ถ้าจะพิจารณาถึงเนื้อหาสาระแห่งกฎหมายโดยตรงแล้ว น่าจะกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยมีรากเหง้ามาจากแหล่งต่างๆ รวม 3 แหล่งด้วยกัน แหล่งแรกได้แก่ ระบบกฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของอินเดียส่วนหนึ่งและมาจากวิวัฒนาการของกฎหมายไทยเราเอง ในการสังคายนาประมวลกฎหมายของแผ่นดินในสมัยต่างๆ จนกระทั่งถึงกฎหมายตราสามดวงอีกส่วนหนึ่ง กฎหมายไทยในปัจจุบันที่ยังถือตามกฎหมายไทยดั้งเดิมเป็นบางส่วนก็มี เช่นกฎหมายลักษณะครอบครัว และลักษณะมรดก ฯลฯ เป็นต้น อีกแหล่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายไทยในปัจจุบันคือกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล เช่น ประมวลแพ่ง ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิส บราซิล และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายลักษณะอื่นๆของเราในปัจจุบัน และแหล่งสุดท้ายอันเป็นที่มาของกฎหมายไทยก็คือ ระบบกฎหมายอังกฤษ
ข้อ 3 จงอธิบายระบบฟิวดัลลิซึม (Feudalism) ของประเทศอังกฤษในอดีตว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร
ธงคำตอบ
ตอนปลายสมัยแองโกลแซกซอน ที่ดินเริ่มเปลี่ยนสภาพจากที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรายย่อยๆหลายรายมาตกอยู่ในมือของเจ้าของรายเดียว ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของเดิมก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้เช่าแทน การรุกรานของชาวนอร์แมนมีผลให้ระบบการถือครองที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชาวนอร์แมนได้เอาระบบการปกครองที่เรียกว่า Feudalism ไปใช้ในประเทศอังกฤษ โดยพระเจ้าวิลเลี่ยมทรงอ้างสิทธิเหนือที่ดินทั้งหมดราวกับว่าถูกริบมาเป็นของพระองค์ แล้ววางหลักเกณฑ์ใหม่ว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด ส่วนบุคคลอื่นเป็นเพียงผู้เช่าถือครองที่ดินโดยได้รับพระราชทานไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกษัตริย์ พระเจ้าวิลเลี่ยมทรงยกที่ดินให้แก่ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อพระองค์และได้ช่วยรบแย่งชิงอำนาจจนได้รับชัยชนะ ผู้สวามิภักดิ์เหล่านี้พูดภาษาพื้นเมืองของอังกฤษไม่ได้ และดูถูกเหยียดหยามชาวพื้นเมืองว่าไม่มีความเจริญ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าชาวพื้นเมืองนี้ทำตัวเป็นปรปักษ์กับพวกตน ดังนั้นจึงมีความต้องการอยู่รวมใกล้ๆกษัตริย์เพื่อสะดวกในการปราบปรามชนพื้นเมือง และป้องกันทรัพย์สินของตน
ส่วนพระเจ้าวิลเลี่ยมเองก็ไม่ประสงค์ให้บรรดาผู้สวามิภักดิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสมีอำนาจมากเกินไป อันจะกลายเป็นภัยต่อพระองค์ภายหลังได้ จึงพระราชทานที่ดินแปลงไม่ใหญ่เกินไปนัก มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้สร้างสมอำนาจขึ้น เมื่อผู้สวามิภักดิ์เหล่านั้นได้ที่ดินไปก็ต้องตอบแทนโดยจัดส่งทหารให้แก่กษัตริย์ตามจำนวนที่ดินที่ได้รับพระราชทานโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง แต่พวกนี้มีทางหารายได้ชดเชยโดยการทำประโยชน์จากที่ดินและจัดแบ่งที่ดินให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์โดยต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ระบบฟิวดัลลิซึมนี้เป็นระบบการถือครองที่ดินโดยมีพันธะผูกพันซึ่งกันและกัน
การจัดทหารให้กับกษัตริย์ก็คือ การที่กษัตริย์จัดตั้งกองทัพส่วนกลางขึ้นนั่นเอง และเมื่อมีจำนวนทหารมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อให้ทหารได้อยู่ร่วมกันโดยมีระเบียบวินัยและการจัดทำกฎดังกล่าวขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1086 จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎนี้เป็นจุดเริ่มแรกของ Common Law ของอังกฤษ