การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ตามพระอัยการลักษณะโจรและพระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกันในกฎหมายตราสามดวง มีการยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาในกรณีใดบ้าง และกฎหมายให้เหตุผลของการยกเว้นโทษไว้ว่าอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
1 ในพระอัยการลักษณะโจร มีการยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติเช่น พ่อแม่ลักทรัพย์ลูก ลูกลักทรัพย์พ่อแม่ หรือสามีลักทรัพย์ของภรรยา หรือภรรยาลักทรัพย์ของสามี กฎหมายให้เหตุผลของการยกเว้นโทษว่า “เพราะยากไร้เขาเสียกันไม่ได้ เขาทรัพย์เรื่องเดียวกัน” ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ครอบครัวต้องแตกความสามัคคีกันนั่นเอง
2 ในพระอัยการวิวาทด่าตีกัน
ยกเว้นโทษแก่ญาติพี่น้องทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิถึงอันตรายสาหัส เหตุผลของการยกเว้นก็เช่นเดียวกับกรณีของการลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติ “เพราะยากไร้เขาเสียกันมิได้”
ยกเว้นโทษแก่เด็กอายุ 7 ขวบ และคนชราอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น เพราะกฎหมายเห็นบุคคลทั้งสองจำพวกนี้เป็นคนหลงใหลไม่รู้จักผิดและชอบ
ยกเว้นโทษให้แก่คนวิกลจริต หรือที่ในกฎหมายเรียกว่า “คนบ้า” ถ้าคนบ้าไปตีฟันแทงคนดีตาย จะปรับไหมคนบ้าไม่ได้ เพราะว่าบ้าหาตำแหน่งแบ่งสัจมิได้ คือคนบ้าไม่รู้ผิดชอบกฎหมายจึงไม่เอาโทษคนบ้า
การกล่าวหมิ่นประมาทผู้อื่นว่ามึงเป็นชู้ด้วยแม่มึง พ่อมึงทำชู้ด้วยลูกมึง ฯลฯ ถ้าเป็นจริงดังที่มีการกล่าวหมิ่นประมาท ไม่มีโทษแก่ผู้ด่าแต่ประการใด เพราะถือว่าผู้กระทำตามถูกหมิ่นประมาทเป็นผู้ทำกาลีลงมา
ข้อ 2 กฎหมายเรื่องนิติกรรมสัญญาสมัยบาบิโลน มีหลักเกณฑ์อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
กฎหมายเรื่องนิติกรรมสัญญา การทำสัญญาสมัยบาบิโลน ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่าต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ประการใด สัญญาที่ทำกันมากคือสัญญาซื้อขาย เพราะการค้าขายเป็นที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากนี้คือสัญาเช่าซื้อ โดยชาวบาบิโลนมีเสรีภาพในการทำสัญญา ซึ่งการทำสัญญามีการเจรจาต่อรองกัน หากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาแพง อาจทำสัญญาโดยข้าราชการ เรียกว่า สไครวส์ (Scrives) หรือ สไครเวอเนอร์ (Scrivener) เป็นผู้เขียนสัญญาให้ ในสัญญามักจะมีข้อความว่าเมื่อมีข้อพิพาทให้กษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดโดยคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของกษัตริย์ หากสัญญาได้ทำเป็นหนังสือคู่สัญญาจะนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้
นอกจากสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าซื้อที่พบมากยังมีสัญญาอื่นอีก เช่น สัญญาให้โดยเสน่ห์หา สัญญากู้ยืม สัญญาจำนำ ซึ่งเกิดจากการทำนิติกรรมสัญญาทั้งสิ้น
ข้อสังเกต การซื้อขายหากผู้ซื้อทรัพย์สินหรือรับฝากทรัพย์สินจากผู้เยาว์หรือทาสโดยปราศจากอำนาจจะถูกลงโทษฐานลักทรัพย์ และผู้ใดรับทรัพย์สินที่ถูกลักมาจะมีความผิดและถูกลงโทษถึงตาย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริต แต่ต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของโดยที่ตนเองไล่เบี้ยเอาจากผู้ขายได้ดังนั้นผู้ซื้อจึงต้องใช้ความระมัดระวัง เรียกเป็นสุภาษิตกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง” (Caveat Emptor)
ข้อ 3 จงอธิบายผลของคำพิพากษาว่า คำพิพากษาของศาลถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ ให้ตอบทั้งระบบ คอมมอน ลอว์ และซีวิล ลอว์
ธงคำตอบ
การพิจารณาคดีของศาลในระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์นั้น เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี และผู้พิพากษาได้กำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นบรรทัดฐาน หรือแบบอย่าง (Precedent) ขึ้นจากข้อเท็จจริงในคดีนั้น เป็นการพิจารณาคดีจากข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่องมาสู่หลักเกณฑ์ทั่วไป
เมื่อศาลได้พิพากษาและกำหนดแบบอย่างอันเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายแล้วศาลต่อๆมาต้องผูกพันที่จะพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน
แต่ในระบบกฎหมายซีวิล ลอว์นั้น คำนึงถึงตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ การพิจารณาคดีของศาลเป็นการนำเอาตัวบทกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับกับคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆไป เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว คำพิพากษาของศาลไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน หรือแบบอย่างที่ศาลต่อมาจำเป็นต้องพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน ศาลต่อๆมาไม่จำต้องผูกพันที่จะพิพากษาตามคำพิพากษาของศาลก่อนๆ แม้แต่ศาลล่าง เช่น ศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องยึดแนวคำพิพากษาของศาลสูง เช่น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลของตน แต่อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลสูงแม้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็ได้รับความเคารพเชื่อถือในแง่ที่ว่า ศาลสูงได้ใคร่ครวญและกลั่นกรอง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาแล้ว อีกทั้งถ้าศาลล่างมีคำพิพากษาแตกต่างไปจากศาลสูง คำพิพากษานั้นอาจจะถูกกลับได้ แนวคำวินิจฉัยของศาลสูงจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากฎหมายนักศึกษากฎหมายเองก็จำเป็นต้องเอาใจใส่ศึกษาไม่น้อยกว่าตัวบทกฎหมาย