การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ประมวลกฎหมายตรา 3 ดวง คืออะไร และอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการประมวลกฎหมายตรา 3 ดวง อธิบาย
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้รวบรวมและชำระสะสางให้ถูกต้องตามความยุติธรรม เมื่อปีจุลศักราช 1166 (พุทธศักราช 2347) ประกอบด้วยพระธรรมศาสตร์ หลักอินทภาษ และพระอัยการต่างๆ รวม 29 ลักษณะ เสร็จแล้วทรงให้อาลักษณ์เขียนเป็นฉบับหลวงจำนวน 3 ชุดๆละ 41 เล่ม ทรงให้ประทับตราราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยาพระคลังไวเป็นสำคัญ และใช้เป็นกฎหมาย ตลอดมาจนค่อยๆมีการทยอยยกเลิกจนหมดสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2481
เหตุเมื่อมีประมวลกฎหมายตราสามดวงเนื่องจากมีการร้องทุกข์ทูลเกล้าถวายฎีกาของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องด้วยอำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีให้การแก่พระเกษมว่าอำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีนายบุญศรีไม่ยอมหย่า พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแทะโลมอำแดงป้อมและพิจารณาไม่เป็นสัจเป็นธรรม เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดเอาข้อความมาให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงปรึกษาว่าเป็นหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าเป็นเรื่องหญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้จักกรชำระบทกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นเสียใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง
ข้อ 2 จงอธิบายระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค พอสังเขป
ธงคำตอบ
โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน หมายความว่า กรุงโรม เมืองหลวงของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง
เยอรมันนิค หมายความว่า ชื่อชนเผ่าหนึ่งในปัจจุบันคือ ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นำเอาประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน
ดังนั้นจึงนำชื่อเมืองหลวงและชื่อชนเผ่ามาตั้งเป็นชื่อระบบกฎหมาย
แต่มีผู้เห็นว่าควรยกย่องราษฎรโรมันชนเผ่าเดียว จึงนำเอาคำว่าโรมันมาตั้งเป็นชื่อระบบกฎหมายว่า กฎหมายโรมันหรือซีวิล ลอว์
เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Written law
การที่กฎหมายโรมันจัดทำเป็นประมวลกฎหมายจึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Code law
ระบบนี้มีหลักการสำคัญว่า กฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นที่มาของกฎหมายและในการพิพากษาคดี ศาลจะยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ ผู้พิพากษาในคดีหลังๆไม่จำเป็นต้องผูกพันกับคำพิพากษาในคดีก่อนๆ
ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้ คือ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน สวิส ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ
ข้อ 3 ประเทศอังกฤษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศาลสูงชั้นกลาง คือ ซูพรีม คอร์ท เป็นศาลที่มีอำนาจออกหมาย 5 ประเภท ตามกฎหมายปี ค.ศ. 1935 คือ
ก เฮเบียส คอร์พัส
ข เซอทิโอราไร
ค โพร์ ฮิบิชั่น
ง แมนดามัส
จ คัว วอร์เร็นโต
อยากทราบว่า หมายทั้ง 5 ประเภท คือหมายเกี่ยวกับเรื่องอะไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก เฮเบียส คอร์พัส คือ หมายที่ออกเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ในการควบคุมตัวบุคคล หมายนี้มีความสำคัญคือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ข เซอทิโอราไร คือ หมายที่ออกเพื่อตรวจตราคำวินิจฉัยของศาลล่าง หรือฝ่ายบริหารให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชอบธรรมและอยู่ภายในเขตอำนาจศาล ไม่เกินอำนาจที่ได้รับมอบหมาย และปฏิบัติตามหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ และมีคำสั่งให้ยกคำวินิจฉัยที่มิชอบ แก้ไขหรือให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องได้
ค โพร์ ฮิบิชั่น คือ หมายที่สั่งให้ศาลล่างหรือฝ่ายบริหารหยุดกระทำการใดๆที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือเกินกว่าอำนาจของตน
ง แมนดามัส คือ หมายที่สั่งให้ศาลล่างหรือฝ่ายบริหารปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย
จ คัว วอร์เร็นโต คือ หมายที่ตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องอำนาจศาล