การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวง มีการแบ่งทรัพย์ออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง และการแบ่งประเภทของทรัพย์ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย และกฎหมายตราสามดวงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เมื่อเทียบกับการแบ่งประเภทของทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ธงคำตอบ
ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวง มีการแบ่งทรัพย์ออกเป็น 2 ประเภทคือ
1 ทรัพย์มีวิญญาณ (วิญญาณทรัพย์) ซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ ฯลฯ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่เป็นลูกหรือเมียผู้อื่น ข้าทาส ถือเป็นทรัพย์หรือไม่ เพราะพ่อแม่ขายลูกได้ ผัวขายเมียได้ นายเงินขายข้าทาสได้ ดังนั้นบางครั้งก็อาจจัดเป็นทรัพย์ประเภทมีวิญญาณได้เหมือนกัน แต่คนที่มีฐานะเป็นทรัพย์มีลักษณะแตกต่างจากทรัพย์มีวิญญาณอื่น เช่น พวกสัตว์ต่างๆที่บางครั้งคนก็เป็นทรัพย์ แต่บางครั้งก็ไม่เป็นทรัพย์ หากคนนั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจอิสระ (อำนาจปกครอง) ของใคร หรือเป็นไทแก่ตนเอง ในขณะที่สัตว์ต่างๆจะเป็นทรัพย์ตลอดกาลไม่มีการเปลี่ยนสถานะ
2 ทรัพย์ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ อีกนัยหนึ่งทรัพย์ไม่มีวิญญาณคือทรัพย์ที่ไม่ใช่คนหรือสัตว์ชนิดต่างๆนั่นเอง
กล่าวกันว่า การแบ่งประเภทของทรัพย์ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวงไม่มีผลในทางกฎหมายแต่ประการใด ไม่เหมือนกับการแบ่งประเภทของทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แบ่งทรัพย์ออกเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ส่วนการซื้อขายสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีแบบหรือการที่ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์มีแดนกรรมสิทธิ์ ส่วนสังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น
ข้อ 2 ระบบกฎหมายศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่ง คือ ศาสนาฮินดู อยากทราบที่มาของกฎหมายฮินดูมีที่มาจากอะไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ที่มาของกฎหมายฮินดูมี 4 ประการคือ
1 ศรุติ (Srutis) ได้แก่ หลักการในศาสนาฮินดู ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระเวท เวทางค์ และอุปนิษัย โดยได้เกิดขึ้น เมื่อประมาณ 2,570 – 3,470 ปีมาแล้ว ในคัมภีร์ต่างๆเหล่านี้นอกจากจะมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแล้ว ยังประกอบไปด้วยบทบัญญัติทางอภิปรัชญา พิธีการทางศาสนา และวิชาโหราศาสตร์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นหลักการสำคัญขั้นมูลฐานที่จำเป็นแก่มนุษย์ และหลักการดังกล่าวนี้ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกันกับในศาสนาพราหมณ์
2 ศาสตร์ Sastras) หรือ สมฤติ (Smritis) บางตำราเรียกว่า พระราชศาสตร์ หรือสาขาคดี ได้แก่บทบัญญัติที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นเพื่อประกอบกับพระธรรมศาสตร์
3 ธรรมะ (Dharma) ได้แก่ บทบัญญัติซึ่งกำหนดถึงหน้าที่ ซึ่งผู้นับถือศาสนาฮินดูทั้งหลายจะต้องปฏิบัติ ธรรมะนี้ได้กำหนดไว้เฉพาะหน้าที่เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดถึงสิทธิด้วย
หน้าที่ๆกำหนดไว้นี้จะแตกต่างกันไปตามฐานะและสภาพของบุคคล รวมทั้งอายุด้วย แม้แต่กษัตริย์เองก็ต้องปฏิบัติตามธรรมะในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ด้วย
4 ธรรมศาสตร์ (Dharmasastras) และนิพนธ์ (Nibandhas) ธรรมะที่กล่าวมาแล้วจะพบอยู่ในตำรากฎหมายซึ่งเรียกว่า ธรรมศาสตร์ และในบทวิจารณ์ของธรรมศาสตร์ซึ่งเรียกว่า นิพนธ์
ในส่วนที่เกี่วกับธรรมศาสตร์เอง ปรากฏว่ามีอยู่มากมาย แต่ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ฉบับของมนู ซึ่งชาวตะวันตกนิยมเรียกว่า Manu Code แต่ประเทศไทยเรียกว่าคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของมโนสาราจารย์ นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ยัชนวัลย์ และคัมภีร์นรราช เป็นต้น
สำหรับนิพนธ์นั้น มีประโยชน์เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมศาสตร์ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อความในธรรมศาสตร์คลุมเครือไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกันระหว่างธรรมศาสตร์ฉบับต่างๆ
ข้อ 3 คอมมอนลอว์ (Common Law) เป็นระบบกฎหมายหลักของโลกระบบหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จงอธิบายระบบกฎหมายนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยย่อ
ธงคำตอบ
ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ มีแหล่งกำเนิดและวิวัฒนาการในประเทศอังกฤษเป็นชาติแรกการทำความเข้าใจในระบบกฎหมายนี้จึงต้องทราบประวัติศาสตร์ระบบกฎหมายอังกฤษ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งมี 4 ยุค ดังนี้คือ
ยุคที่ 1 ยุคแองโกลแซกซอน ค.ศ. 600 – 1066 ยุคนี้ปกครองโดยกษัตริย์ชนเผ่าแองโกลแซกซอน กฎหมายยุคแองโกลแซกซอนนับว่าเป็ยกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ ซึ่งนำเอากฎหมายจารีตประเพณีมาใช้ กฎหมายสมัยแองโกลแซกซอนจำนวนมากกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการชะระค่าเสียหายไว้ โดยการชำระเป็นเงินตรา
เนื่องจากกฎหมายยุคแองโกลแซกซอนเป็นกฎหมายจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ยุคนี้จึงยังไม่เกิดกฎหมาย Common Law
ยุคที่ 2 ยุคนอร์แมน ค.ศ. 1016 – 1035 ยุคนี้ปกครองโดยกษัตริย์ชนเผ่านอร์แมนพระองค์แรกคือ พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 ซึ่งนำเอาการปกครองที่เรียกว่า Feudalism มาใช้ในประเทศอังกฤษ ในยุคนี้ศาลท้องถิ่นตัดสินคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นซึ่งล้าสมัย ทำให้ฝ่ายที่แพ้คดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ราษฎรฝ่ายที่แพ้คดีจึงร้องเรียนต่อพระเจ้าวิลเลี่ยม พระองค์จึงจัดตั้งศาลกษัตริย์ (King’ Court) หรือศาลหลวง (Royal Court) ไปวางหลักเกณฑ์ที่เหมือนๆกัน มีลักษณะสามัญ (Common) และใช้กันทั่วประเทศ ทำให้กฎหมาย Common Law เริ่มเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษแต่นั้นเป็นต้นมา
ยุคนี้เกิดแม็คนา คาตาร์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ และศาลหลวงได้มีการปฏิรูปใหม่แยกออกเป็น 3 ศาล คือ ศาลคอมมอนพลีส์ ศาลเอ็คซ์เช็คเกอร์ และศาลคิงส์เบนส์ ในยุคนี้ศาลหลวงได้นำวิธีพิจารณาคดีแบบใหม่มาใช้ โดยมีคณะลูกขุน (Jury)
ยุคที่ 3 ยุคเอ็คคิวตี้ ค.ศ. 1485 – 1832 ยุคนี้ศาลหลวงหรือศาลคอมมอนลอว์ใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายคอมมอนลอว์ในการพิจารณา จนทำให้กฎหมายคอมมอนลอว์พัฒนาเป็นระบบมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ตายตัวไม่ยืดหยุ่น ทำให้การแก้ไขปรับปรุงได้ลำบาก และไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือเกิดความล้าสมัย ซึ่งถ้าศาลหลวงตัดสินตามจารีตประเพณีหรือกฎหมายคอมมอนลอว์แล้ว ผลของคำพิพากษาทำให้คู่ความเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความเสียหายของเขาไม่ได้รับการเยียวยาตามที่คู่ความฝ่ายนั้นต้องการ จึงได้มีการถวายฎีกาต่อกษัตริย์ ๆ มอบให้ชานเซลเลอร์เป็นผู้ตัดสิน หลักกฎหมายที่ศาลชานเซอรี่นำมาใช้เพื่อแก้ไขความไม่เหมาะสมหรือความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากคอมมอนลอว์ หลักที่ศาลชานเซอรี่นำมาอ้างตัดสินแทนจารีตประเพณีหรือกฎหมายคอมมอนลอว์ถือความยุติธรรม (Equity) เรียกว่า หลักความยุติธรรมในสังคมหรือหลักประโยชน์สุขของสังคมนั่นเอง
ยุคที่ 4 ยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แนวความคิดในเรื่องเกี่ยวกับสังคมของอังกฤษเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ยึดหลักเสรีนิยมมาเป็นสังคมนิยม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 อังกฤษยุคนี้กลายเป็นสังคมที่เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นจำนวนมาก ปัญหาใหม่ของสังคมมีความสลับซับซ้อนละยุ่งยาก กฎหมาบคอมมอนลอว์และกฎหมายเอ็คคิวตี้ ไม่อาจนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะในสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายลักษณะต่างๆ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม
อังกฤษยุคปัจจุบันมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร 2 ประเภท คือ กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติที่ออกโดยรัฐสภา
เรียกว่า พระราชบัญญัติ หรือ Act และกฎหมายของฝ่ายบริหาร เรียกว่า พระราชกฤษฎีกา
นอกจากนี้ในศตวรรษที่ 19 ได้มีการปฏิรูประบบศาล ระบบศาลอังกฤษสมัยใหม่แบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คือ ศาลสูงสุด ศาลสูงชั้นกลาง และศาลชั้นต้น สาเหตุที่มีการปฏิรูปศาลเกิดจากเขตอำนาจศาลที่ขัดแย้งและซ้ำซ้อนกัน.