การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ให้ทำทุกข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1. จงอธิบายหลักเกณฑ์ของการเป็นคนไร้ความสามารถมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ฆ่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดไห้อยู่ในความอนุบาล ’’
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า การเป็นคนไร้ความสามารถนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. เป็นคนวิกลจริต หมายถึง เป็นบุคคลที่สมองพิการ คือ จิตไม่ปกติหรือบุคคลที่มี กิริยาอาการไม่ปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้ลึก และขาดความรับผิดชอบ หรืออาจจะ หมายความรวมถึง ความเจ็บป่วยที่มีกิริยาอาการผิดปกติ จนถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นด้วย และกรณีที่จะถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้จะต้องเป็นอย่างมาก และต้องเป็นประจำด้วย
2. มีผู้ร้องขอต่อศาล เพราะการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถได้นั้น จะต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลด้วย ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิร้องขอต่อศาล ได้แก่ คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลวิกลจริต หรือพนักงานอัยการ
3. ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เพราะถ้าหากไม่มีคำสั่งของศาลแล้วคนวิกลจริตนั้น ก็ยังไม่เป็นคนไร้ความสามารถ
และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว บุคคลนั้นต้องอยู่ในความอนุบาล หรืออยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล
ข้อ 2. กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 ได้บัญญัติถึงองค์ประกอบอันเป็นลักษณะสำคัญ ไว้อย่างไร อธิบาย ยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
ป.พ.พ. มาตรา 162 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง” ซึ่งจะมีลักษณะ อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ
1. จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในนิติกรรมสองฝ่ายที่เรียกว่า สัญญา เท่านั้น
2. คู่กรณีผ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงหรือข้อคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ คือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งนั้นได้จงใจหรือตั้งใจที่จะปกปิดข้อความจริงหรือ ข้อคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ทั้งๆ ที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้อง บอกความจริงนั้น
3. คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามิได้นึ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้ทำขึ้นเลย
ตัวอย่าง เช่น ในสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตเคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว ไม่มีทางรักษา และอาจตายได้ภายใน 7 วัน 6 เดือนหรืออย่างช้า 5 ปี ซึ่งผู้เอาประกันชีวิต มีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงข้อนี้แก่ผู้รับประกันภัย แต่ได้ปกปิดความจริงไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยได้ทราบ ความจริงนั้น
ข้อ3. จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความรับผิดในการรอนสิทธิ
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความรับผิดในการรอนสิทธิ ไว้ดังนี้คือ
1. ความรับผิดในการรอนสิทธิจะเกิดขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย คือมีบุคคลภายนอกได้มา ก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ ในการที่จะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข โดยอ้างว่าตนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นดีกว่าผู้ซื้อ หรืออาจเป็นเพราะความผิดของผู้ขาย ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2. ความรับผิดในการรอนสิทธิของผู้ขายนั้น มีได้ทั้งกรณีที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นมีการ รอนสิทธิไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน
3. ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในกรณีที่มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้หรือไม่รู้ถึง เหตุแห่งการรอนสิทธิที่เกิดขึ้นนั้น
เช่น ก. ได้ขายรถยนต์คันหนึ่งให้ ข. ต่อมา ค. ได้มาเรียกรถยนต์คันดังกล่าวคืนจาก ข. โดยอ้างว่ารถยนต์คันนั้นเป็นของตนและถูกขโมยไป พร้อมแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง ท่าให้ ข. ต้องคืนรถยนต์ให้แก่ ค. ดังนี้ถือว่า ข. ผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ ซึ่ง ก. ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อ ข. แม้ ก. ผู้ขาย จะไม่ได้รู้มาก่อนว่ารถยนต์คันนั้นจะถูกขโมยมาจาก ค. ก็ตาม
4. ในกรณีที่มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ผู้ขายอาจจะไม่ต้องรับผิดต่อผู้ซื้อก็ได้ ถ้าเข้าข้อยกเว้น ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เช่น
– ถ้าผู้ซื้อได้รู้ถึงสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นแล้วในเวลาซื้อขาย หรือ
– ถ้าเหตุแหงการรอนสิทธินั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่เหตุแห่งการรอนสิทธินั้น จะได้เกิดขึ้นเพราะความผิด ของผู้ขาย
ข้อ 4. เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้าเช็คและมีข้อความว่า “และบริษัท” อยู่ในระหว่างเส้น ทั้งสองนั้น เป็นเช็คแบบใด และมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 994 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ ขีดขวางไว้ด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า “และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้น ทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นซื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น”
ตามปัญหาดังกล่าวประกอบกับหลักกฎหมายข้างต้นวินิจฉัยได้ว่า เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวาง ไว้ข้างด้านหน้าเช็ค และมีข้อความว่า “และบริษัท” อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสอง เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะมีผล ในทางกฎหมายคือ เช็คขีดคร่อมทั่วไปนี้ ผู้ทรงเช็คจะนำไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้ จะต้องนำเช็คไปเข้า บัญชีเพื่อให้ธนาคารเป็นผู้ไปเบิกเงินให้ โดยผู้ทรงเช็คจะนำเช็คไปเข้าบัญชีกับธนาคารใดก็ได้ เพราะเช็คชนิดนี้ จะใช้เงินตามเช็คได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น