การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายอาร์ต อายุ 25 ปี เป็นคนวิกลจริตซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยมีนายกัลป์เป็นผู้อนุบาล วันหนึ่งนายอาร์ตซื้อรถยนต์จากนายสรรชัย อายุ 28 ปี ในราคา 300,000 บาท โดยในขณะที่นายอาร์ตซื้อรถยนต์จากนายสรรชัย นายอาร์ตไม่มีอาการวิกลจริต และนายสรรชัย ไม่ทราบว่านายอาร์ตเป็นคนไร้ความสามารถ อีกทั้งนายอาร์ตยังได้รับความยินยอมจากนายกัลป์ ผู้อนุบาลให้ซื้อรถยนต์จากนายสรรชัยได้
ดังนี้ นิติกรรมที่นายอาร์ตทำกับนายสรรชัยจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาล สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา นายอาร์ตอายุ 25 ปี เป็นคนวิกลจริต ซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถนั้นต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนคนไร้ความสามารถ มิฉะนั้นนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ แต่ตามปัญหานายอาร์ตเข้าทำนิติกรรมด้วยตนเอง แม้จะทำนิติกรรมในขณะที่ไม่มีอาการวิกลจริตและนายสรรชัยไม่รู้ว่านายอาร์ตเป็นคนวิกลจริต อีกทั้งยังได้รับความ ยินยอมจากนายกัลป์ผู้อนุบาลให้ทำนิติกรรมก็ตาม นิติกรรมระหว่างนายอาร์ตกับนายสรรชัยก็มีผลเป็นโมฆียะ
ดังนั้น นิติกรรมที่นายอาร์ตทำกับนายสรรชัยจะมีผลเป็นโมฆียะ
ข้อ 2. หลักเกณฑ์ความสมบูรณ์ของนิติกรรมมีอยู่อย่างไร อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักเกณฑ์แห่งความสมบูรณ์ของนิติกรรม มีดังนี้ คือ
1. ผู้กระทำนิติกรรมจะต้องมีดวามสามารถตามกฎหมายที่จะทำนิติกรรมได้ กล่าวคือ ผู้ที่ จะทำนิติกรรมจะต้องไม่เป็นบุคคลที่กฎหมายได้จำกัดสิทธิหรือความสามารถในการทำนิติกรรมไว้ เช่น จะต้องไม่ เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
2. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมจะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จะต้องไม่ เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. นิติกรรมนั้นจะต้องได้กระทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ กล่าวคือ นิติกรรมใดถ้ากฎหมายได้กำหนดแบบไว้ ก็จะต้องทำตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้นั้น ถ้าไม่ทำตามแบบที่กฎหมาย ได้กำหนดไว้ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ
4. การแสดงเจตนาทำนิติกรรมจะต้องไม่บกพร่อง คือ จะต้องไม่เป็นการแสดงเจตนาที่เกิดขึ้น เพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เป็นต้น
นิติกรรมใด ถ้าได้ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แห่งความสมบูรณ์ของนิติกรรมดังกล่าว ข้างต้น นิติกรรมนั้นจะไม่สมบูรณ์ คือ จะตกเป็นโมฆะ หรือโมฆียะแล้วแต่กรณี
ข้อ 3. นายพุธต้องการจะซื้อที่ดินของนายศุกร์ จำนวน 1 ไร่ ราคา 1,000,000 บาท แต่นายพุธมีเงิน ไม่พอจึงทำสัญญาซื้อขายกับนายศุกร์ในเบื้องต้นว่า ขอจ่ายเป็นบางส่วนก่อนจำนวน 300,000 บาท หลังจากนั้นอีก 3 เดือน ให้ไปทำหนังสือและจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับเจ้าพนักงาน ที่ดินที่สำนักงานที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อครบ 3 เดือน นายพุธยังมีเงินไม่พอและไม่ยอมไป สำนักงานที่ดินกับนายศุกร์ เช่นนี้หากนายศุกร์จะฟ้องร้องบังคับให้นายพุธปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย ฉบับนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ข้อตกลงระหว่างนายพุธกับนายศุกร์เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกัน เป็นอสังหาริมทรัพย์ และคู่กรณีมีข้อตกลงกันว่าในภายภาคหน้า คืออีก 3 เดือนทั้งสองจะไปทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับเจ้าพนักงานที่ดินที่สำนักงานที่ดิน และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ก็มีผลสมบูรณ์ แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม
และตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาจะชื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ
1. มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
2. มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ
3. มีการชำระหนี้บางส่วน” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2)
ตามปัญหา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สัญญาจะชื้อจะขายที่ดินระหว่างนายพุธและนายศุกร์นั้น ได้กระทำกันโดยมีหลักฐานคือการชำระหนี้บางส่วน ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดการที่นายพุธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา คือ ไม่ยอมไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินที่สำนักงานที่ดิน นายศุกร์ย่อม สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายพุธปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้นได้ เพราะสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และมีหลักฐานที่จะนำมาใช้เพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ คือการที่นายพุธได้มีการชำระหนี้ บางส่วนนั่นเอง
สรุป นายศุกร์สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายพุธปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายฉบับนี้ได้ เพราะมี หลักฐานคือได้มีการชำระหนี้บางส่วนกันไว้แล้ว
ข้อ 4. นายชัยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 100,000 บาท ระบุชื่อนายเดช เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และส่งมอบให้นายเดชเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาชื้อขายที่มีต่อกัน หากต่อมานายเดชต้องการ จะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นางสาวหญิง นายเดชจะต้องกระทำการโอนอย่างไร จึงจะถือว่าเป็นการโอนเช็คฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย ประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 บัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”
ตามหลักกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือนั้น ถ้าจะมีการโอน ให้แก่กัน การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วเงินให้แก่กันเท่านั้นไม่ต้องมีการสลักหลังแต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริง เช็คที่นายชัยสั่งจ่ายระบุชื่อนายเดชเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือ ผู้ถือ” ในเช็คออก ถือว่าเป็นเช็คแบบระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ดังนั้นหากต่อมานายเดชต้องการจะโอนเช็คฉบับ ดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นางสาวหญิง นายเดชสามารถโอนได้โดยการส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นางสาวหญิงเท่านั้น โดยไม่ต้องสลักหลัง ก็ถือว่าการโอนเช็คดังกล่าวเป็นการโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย
สรุป นายเดชจะต้องกระทำการโอนด้วยการส่งมอบเช็คให้แก่นางสาวหญิงเท่านั้น จึงจะถือว่า เป็นการโอนเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย