การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ1. นากรกฎอายุ 30 ปีเป็นคนวิกลจริต ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ วันหนึ่งนายกรกฎ ไปซื้อรถจากนายอาร์ต โดยขณะที่นายกรกฎซื้อรถจากนายอาร์ต นายกรกฎไม่มีอาการวิกลจริต แต่นายอาร์ตทราบว่านายกรกฎเป็นคนวิกลจริต
ดังนี้ นิติกรรมการซื้อขายรถของนายกรกฎกับนายอาร์ตมีผลทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักการทำนิติกรรมของคนวิกลจริต ไว้ว่า “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะ ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว เมื่อคนวิกลจริตทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ แรกรณีอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทำ เป็นคนวิกลจริต
ตามปัญหา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่นายกรกฎซึ่งเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้ เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำการซื้อรถจากนายอาร์ตนั้น นายกรกฎไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด และถึงแม้ นายอาร์ตจะทราบว่านายกรกฎเป็นคนวิกลจริต ก็ไม่ทำให้นิติกรรมการซื้อขายรถของนายกรกฎกับนายอาร์ตมีผล เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายรถดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์
สรุป นิติกรรมการซื้อขายรถของนายกรกฎกับนายอาร์ตมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข้อ2. ให้นักศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดที่มีผล เป็นโมฆะและโมฆียะ โดยอาศัยหลักกฎหมายจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ครบถ้วน
ธงคำตอบ
การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักไว้ดังนี้คือ
1) การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น (ป.พ.พ. มาตรา 156)
2) การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่า เป็นสาระสำคัญ เป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 157)
3) ความสำคัญผิด ตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 158)
จากหลักกฎหมายดังกล่าว การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดที่มีผลเป็นโมฆะและโมฆียะจะเหมือนและแตกต่างกันดังนี้ คือ
ความเหมือน
1. เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกัน
2. มีข้อยกเว้นที่เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าความสำคัญผิดนั้นเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้
ความแตกต่าง
การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น สิ่งซึ่งเป็น
สาระสำคัญ ได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
ส่วนการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดที่มีผลเป็นโมฆียะ คือ สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล
หรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ
ข้อ 3. จงอธิบายหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาเมื่อมีกรณีต้องฟ้องร้องบังคับคดีระหว่างคู่สัญญาจะซื้อขาย
ธงคำตอบ
ตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ
1. มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
2. มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ
3. มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2)
จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อมีกรณีต้องฟ้องร้องบังคับคดีระหว่างคู่สัญญาจะซื้อขาย ตามสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าคู่สัญญาฝ่ายที่จะฟ้องร้องจะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ จึงจะฟ้องร้องเพื่อให้มีการบังคับคดีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ คือ
1. มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
2. มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ
3 มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว
ข้อ 4. นายแหลมสั่งจ่ายเช็คธนาคารหัวหมาก จำกัด (มหาชน) จำนวน 50,000 บาท แล้วส่งมอบชำระหนี้ ค่าสินค้าให้แก่นายคม โดยหลังจากที่นายคมได้รับเช็คฉบับดังกล่าวมาแล้วก็นำไปเก็บไว้จนหลงลืม มิได้นำไบ่ยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ ใช้เงินตามเช็คให้ จนเวลาล่วงเลยไปเจ็ดเดือนเศษนับแต่วันที่ ลงไว้ในเช็ค นายคมจึงนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ ชำระเงินให้ ในกรณีนี้หากเงินในบัญชี ของนายแหลมที่สั่งจ่ายเช็คไปนั้นยังมีเพียงพอที่จะชำระให้แก่นายคมได้ ธนาคารหัวหมากฯ จะสามารถ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายคมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการใช้เงินตามเช็คของธนาคารไว้ว่า “ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีอย่าง ใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ที่ธนาคารมีสิทธิไม่ใช้เงินตามเช็คได้ คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) เช็คนั้นได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เลือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ
(3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป
ตามปัญหา การที่นายคมผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ ใช้เงินตามเช็คเมื่อพ้น เวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค (วันที่ลงไว้ในเช็ค) ดังนั้นแม้ว่าเงินในบัญชีของนายแหลมผู้สั่งจ่ายเช็ค จะมีเพียงพอ ที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คได้ก็ตาม ธนาคารหัวหมากฯ ก็สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายคมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 (2)
สรุป ธนาคารหัวหมากฯ สามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายคมได้