การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1. จงอธิบายหลักเกณฑ์ที่บุคคลใดจะเป็นคนสาบสูญมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
ป.พ.พ. มาตรา 61 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญไว้ด้งนี้ คือ
1. บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปีในกรณีธรรมดา โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือนับตั้งแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไป หรือนับแต่วันที่ได้รับข่าวคราวของบุคคลนั้น ในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป
1) ให้เริ่มนับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นได้ไปอยู่ในการรบ หรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2) ให้เริ่มนับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3) ให้เริ่มนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน 1) หรือ 2) ได้ผ่าน พ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
2. ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาล เพื่อสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และ
3. ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้ว ก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นาย ข. ในราคา 300,000 บาท โดยตกลงว่านาย ก. จะส่งมอบรถยนต์นั้นให้นาย ข. ในวันที่ 7 มีนาคม 2553 แต่ปรากฏว่าในวันที่ 3 มีนาคม 2553 รถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เสียหายไปหมดทั้งคัน ถามว่า สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า
“นิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”
คำว่า “พ้นวิสัย” หมายถึง การใด ๆ ที่ไม่สามารถกระทำได้โดยแน่แท้ และให้หมายความรวมถึงการทำนิติกรรมที่มุ่งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่ง ๆ นั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม
ตามปัญหา การที่นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์ของตนให้แก่นาย ข. ในวันที่ 1 มีนาคม 2553 และได้ตกลงว่านาย ก. จะส่งมอบรถยนต์ให้นาย ข. ในวันที่ 7 มีนาคม 2553 แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าว ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เสียหายไปหมดทั้งคันในวันที่ 3 มีนาคม 2553 นั้น จะเห็นได้ว่า ในการทำนิติกรรม ระหว่างนาย ก. และนาย ข. นั้น สิ่งที่นาย ก. และนาย ข. ได้มุ่งถึงโดยเฉพาะคือรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง และรถยนต์นั้นก็มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวระหว่างนาย ก. และนาย ข. จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นจึงมีผลสมบูรณ์
สรุป นิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลสมบูรณ์ เพราะ เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการพ้นวิสัย
ข้อ 3. นายเอกเสนอขายบ้านและที่ดินของตนให้กับนายทองในราคาหนึ่งล้านบาท นายทองตกลงซื้อบ้าน และที่ดินของนายเอกในราคาดังกล่าว โดยทั้งสองตกลงจะไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตกลงซื้อขายบ้านและ ที่ดินกัน โดยนายเอกได้ส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายทองเข้าไปอาศัยก่อน เมื่อครบกำหนดที่ได้ ตกลงกันไว้ นายทองไม่ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่และไม่ชำระราคาค่าบ้านและที่ดินแก่นายเอก ดังนี้ สัญญาซื้อขายระหว่างนายเอกและ นายทองเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และนายเอกจะฟ้องร้องบังคับให้นายทองทำสัญญาซื้อขาย เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และชำระราคาค่าบ้านและที่ดินแก่นายเอกได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ตามปัญหา สัญญาซื้อขายระหว่างนายเอกและนายทองเป็นสัญญาซื้อขายประเภทสัญญาจะซื้อขาย (หรือสัญญาจะซื้อจะขาย) เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่คู่กรณีได้มีข้อตกลงที่จะไปกระทำตามแบบพิธี คือจะไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหน้า
และสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายเอกและนายทอง แม้จะตกลงกันด้วยวาจาก็มี ผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้แต่อย่างใด
ตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ
1. มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
2. มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ
3. มีการชำระหนี้บางส่วน” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2)
ตามปัญหา สัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายเอกและนายทองนั้น เมื่อปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า นายเอกได้ส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายทองเข้าไปอาศัยก่อนแล้ว ซึ่งถือว่าได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อครบกำหนดที่ได้ตกลงกันไว้ นายทองไม่ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ชำระราคาค่าบ้านและที่ดินแก่นายเอก นายเอกย่อมสามารถฟ้องร้องบังคับให้นายทอง ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และชำระราคาค่าบ้านและที่ดินให้แก่ตนได้ เพราะสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ คือได้มีการชำระหนี้กันบางส่วนแล้วนั่นเอง
สรุป สัญญาชื้อขายระหว่างนายเอกและนายทองเป็นสัญญาจะซื้อขาย และนายเอกสามารถ ฟ้องร้องบังคับไห้นายทองไปทำสัญญาชื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และชำระราคาค่าบ้าน และที่ดินให้แก่นายเอกได้
ข้อ 4. เหลืองเขียนเช็คฉบับหนึ่งสั่งธนาคารทหารไทย สาขารามคำแหงจ่ายเงินแก่เขียว เขียวรับเช็คมาแล้ว ขอให้เหลืองช่วยพาไปที่ธนาคารฯ ด้วย เมื่อถึงธนาคารฯ เขียวยื่นเช็คแก่ธนาคารฯ เพื่อให้จ่ายเงิน เหลืองยืนดูเป็นลมตายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร ด้งนี้ ธนาคารต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่เขียวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 992 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า
“หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะต้องใช้เงินตามเช็คที่นำมาเบิกแก่ตนนั้น ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ด้งต่อไปนี้คือ
1. มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
2. ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย
3. ธนาคารรู้ว่าศาลได้มีค่าสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า โดยหลักแล้วธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็ค ที่ผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คเพื่อนำมาเบิกแก่ตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 992 ที่ธนาคาร จะต้องงดจ่ายเงินโดยเด็ดขาด ถ้าธนาคารได้จ่ายเงินไปก็ไม่มีอำนาจที่จะไปหักเงินในบัญชีผู้สั่งจ่ายได้
ตามปัญหา การที่เหลืองผู้สั่งจ่ายได้เขียนเช็คฉบับหนึ่งและสั่งให้ธนาคารฯ จ่ายเงินแก่เขียว และในขณะที่เขียวยื่นเช็คแก่ธนาคารฯ เพื่อให้จ่ายเงินนั้น เหลืองซึ่งได้ไปกับเขียวและยืนดูอยู่ด้วยเป็นลมตายต่อหน้า เจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ดังนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารได้รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย ก็ถือว่าธนาคารฯ ได้รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตายด้วย ดังนั้นธนาคารฯ จะต้องงดจ่ายเงินตามเช็คนั้น เพราะหน้าที่และอำนาจ ในการจ่ายเงินตามเช็คของธนาคารฯ ได้สิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา 992(2)
สรุป ธนาคารฯ จะต้องงดจ่ายเงินตามเช็คให้แก่เขียว ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น