การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1. นายสมบัติ อายุ 15 ปี ทำพินัยกรรมฉบับหนึ่งในขณะที่จิตปกติยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนแก่ น.ส.ผึ้งเพื่อนรักของนายสมบัติ โดยบิดามารดาของนายสมบัติไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ให้ความยินยอม ในการทำพินัยกรรมนั้น สิบปีต่อมานายสมบัติป่วยเป็นโรคจิต บิดามารดาของนายสมบัติได้ร้องขอ ต่อศาลให้นายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลมีคำสั่งให้นายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถ วันหนึ่งนายสมบัติซื้อวิทยุ 1 เครื่องจากนายชัยโดยในขณะซื้อนายสมบัติไม่มีอาการวิกลจริต และ นายชัยไม่ทราบว่านายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)         ถ้านายสมบัติถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่นายสมบัติทำไว้มีผลทางกฎหมายอย่างไร

2)         สัญญาซื้อขายวิทยุระหว่างนายสมบัติและนายชัยมีผลทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ

ตามปัญหามีหลักกฎหมายที่จะนำมาใช้วินิจฉัย คือ

1.         ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (ป.พ.พ.มาตรา 23)

2.         ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 25)

3.         นิติกรรมใด ๆ ที่บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง นิติกรรมนั้น ตกเป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 29)
ข้อเท็จจริงตามปัญหาวินิจฉัยได้ ดังนี้คือ

1)         การที่นายสมบัติได้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีอายุครบ 15 ปี และได้ทำในขณะจิตปกติแม้ว่าการทำพินัยกรรมนั้นจะไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมพินัยกรรมที่นายสมบัติได้ทำขึ้นนั้นก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะตามกฎหมายถือว่า การทำพินัยกรรมนั้น เป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเป็นการเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 และในขณะที่ทำพินัยกรรม ผู้เยาว์ก็มี อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว ดังนั้นนายสมบัติผู้เยาว์ จึงสามารถทำพินัยกรรมได้โดยสำพังตนเอง และโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 25
2)         การที่นายสมบัติได้ทำสัญญาซื้อขายวิทยุกับนายชัย ในขณะที่นายสมบัติได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แม้นายสมบัติจะได้ทำนิติกรรมในขณะไม่มีอาการวิกลจริต และนายชัยไม่ทราบ ว่านายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถ สัญญาซื้อขายวิทยุระหว่างนายสมบัติและนายชัยก็มีผลเป็นโมฆียะ เพราะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 29 นั้น คนไร้ความสามารถจะทำนิติกรรมใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถ ได้กระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะ

สรุป 1) พินัยกรรมที่นายสมบัติได้ทำไว้ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

2) สัญญาซื้อขายวิทยุระหว่างนายสมบัติและนายชัยมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ2. กลฉ้อฉลโดยการนิ่งมีลักษณะอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างไร อธิบาย ยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ป.พ.พ. มาตรา 162 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง” ซึ่งจะมีลักษณะ อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ

1.         จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในนิติกรรมสองฝ่ายที่เรียกว่า สัญญา เท่านั้น

2.         คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงหรือข้อคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ คือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งนั้นได้จงใจหรือตั้งใจที่จะปกปิดข้อความจริงหรือข้อคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้องบอกความจริงนั้น

3.         คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้ทำขึ้นเลย

ตัวอย่าง. เช่น ในสัญญาประกันชีวิต   ผู้เอาประกันชีวิตเคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

โรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว ไม่มีทางรักษา และอาจตายได้ภายใน 7 วัน 6 เดือนหรืออย่างช้า 5 ปี ซึ่งผู้เอาประกันชีวิต มีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงข้อนี้แก่ผู้รับประกันภัย แต่ได้ปกบัดความจริงไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยได้ทราบ ความจริงนั้น

 

ข้อ3.    ให้นักศึกษาอธิบายว่าสัญญาดังต่อไปนี้ มีผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน ทุกข้อ

ก) นายเอกตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายโทในราคา 1 ล้านบาท โดยปากเปล่า (10 คะแนน)

ข) นายดินตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายน้ำโดยปากเปล่า (15 คะแนน)

ธงคำตอบ

ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรกบัญญัติหลักไว้ว่า

“สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ ”

ตามปัญหาการที่นายเอกตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายโทนั้น เป็นการตกลงทำสัญญา ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามกฎหมายสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะมีผลสมบูรณ์จะต้องได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที ดังนั้นเมื่อสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างนายเอกและนายโทที่ได้ตกลง โดยปากเปล่ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า1หน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ

ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า “สัญญา จะซื้อหรือจะขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับ คดีกันไม่ได้”

ตามปัญหา สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายดินกับนายน้ำเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้จะตกลงกันโดยปากเปล่าก็มีผลสมบูรณ์ เพียงแต่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันเท่านั้น เพราะตามกฎหมายสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์นั้น จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

1)         หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2)         มีการวางประจำไว้ หรือ

3)         มีการชำระหนี้บางส่วน

สรุป ก) สัญญาซื้อชายที่ดินระหว่างนายเอกกับนายโทที่ตกลงโดยวาจาเป็นโมฆะ

ข) สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายดินกับนายน้ำซึ่งเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ มีผลสมบูรณ์ แต่ไม่มีหลักฐานที่จะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกัน

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาเลือกทำเพียงข้อเดียว

ก) มาตรา 949 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสลักหลังติดต่อกัน เรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง”

ท่านเข้าใจว่าอย่างไร จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ

หรือ ข) ผู้ทรงเช็คยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินเกินเวลา 1 เดือนนับแต่วันออกเช็ค (สำหรับเช็คที่ออก ในเมืองหรือจังหวัดเดียวกัน) จะมีผลต่อผู้สลักหลังเช็ค ผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นอย่างไรบ้าง จงอธิบาย หลักกฎหมายพอสังเขป

ธงคำตอบ

ก) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 949 นั้น เป็นเรื่องของการใช้เงินตามตั๋วเงินเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ถึงกำหนด เวลาใช้เงิน ซึ่งถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ในการใช้เงินได้ใช้เงินไปถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะหลุดพ้น จากความรับผิดชอบตามตั๋วเงิน คือ ไม่ต้องรับผิดชอบในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นอีกเลย

ตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นั้น สามารถแยกออกได้ 2 กรณี คือ

1.         ถ้าเป็นกรณีที่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงินตามตั๋ว เช่น ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค เป็นต้น กฎหมายได้บัญญัติให้ใช้มาตรา 1009 บังคับ จะไม่ใช้มาตรา 949 บังคับ

2.         ถ้าเป็นกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงิน    เช่น ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน เป็นต้น ดังนี้กฎหมายให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 949 บังคับ

และตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นี้ หมายความว่า บุคคลผู้ใช้เงินตามตั๋วเงินจะหลุดพ้น จากความรับผิดได้นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1.         จะต้องได้ใช้เงินไปเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนดชำระเงินแล้ว

2.         จะต้องเป็นการใช้เงินไปโดยสุจริต กล่าวคือ มิได้ทำการฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง และ

3.         จะต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของบรรดาผู้สลักหลังแต่อย่างใด

ตัวอย่าง ดำออกตั๋วแลกเงินสั่งให้แดงจ่ายเงินให้แก่ขาวจำนวน 100,000 บาท ต่อมาได้มีการโอน ตั๋วแลกเงินฉบับนี้โดยการสลักหลังและส่งมอบทุกครั้ง จนกระทั่งตั๋วฉบับนี้ได้มาอยู่ในความครอบครองของ เหลืองซึ่งเป็นผู้ทรง ดังนั้นแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการสลักหลังครั้งหนึ่งจะเป็นการสลักหลังปลอมก็ตาม

เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองได้นำตั๋วไปยื่นให้แดงจ่ายเงิน และแดงได้จ่ายเงินให้แก่เหลืองไปแล้วโดยถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น   แดงก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วเงินไปตามป.พ.พ. มาตรา 949

ข) ป.พ.พ. มาตรา 990 วรรคแรก ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินไว้ ว่า “ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่น ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรง สิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว ในกรณีที่เป็นเช็คที่ออกและให้ใช้เงินในเมืองหรือจังหวัดเดียวกันนั้น ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารใช้เงินภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็ค  ถ้าผู้ทรงเช็คละเลยไม่ยืนเช็คภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะมีผลต่อผู้สลักหลังเช็ค และผู้สั่งจ่ายเช็คดังนี้คือ

1.         ผู้ทรงเช็คจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง และ

2.         ผู้ทรงเช็คจะเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเช็คเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด แก่ผู้สั่งจ่ายเช็คนั้น

Advertisement