การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นางแววเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว วันหนึ่งนางแววมีจิตปกติไม่มี อาการวิกลจริตแต่อย่างใด นางแววได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนเองให้บุตรชายของนางแววคือนายวัน หลังจากนั้นนางแววไปซื้อแหวนเพชร 1 วงจากนางแก้ว โดยในขณะซื้อ นางแววพูดจารู้เรื่องไม่มีอาการวิกลจริต อีกทั้งนางแก้วไม่รู้ว่านางแววเป็นคนไร้ความสามารถ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าพินัยกรรมและนิติกรรมการซื้อแหวนเพชรของนางแววมีผลทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักในการทำนิติกรรมและหลักในการทำพินัยกรรม ของคนไร้ความสามารถไว้ดังนี้คือ
1) นิติกรรมใด ๆ ซึ่งบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง นิติกรรมนั้น ตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 29)
2) พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 1704 วรรคแรก)
ตามปัญหา การที่นางแววซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด ของตนให้แก่นายวันซึ่งเป็นบุตรชายของตนนั้น แม้นางแววจะได้ทำพินัยกรรมในขณะจิตปกติไม่มีอาการวิกลจริต แต่อย่างใดก็ตาม พินัยกรรมนั้นก็มีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1704 วรรคแรก
ส่วนนิติกรรมอื่น ๆ นอกจากพินัยกรรมนั้น กฎหมายห้ามมิให้คนไร้ความสามารถกระทำ ถ้ามีการฝ่าฝืนไปกระทำ ไม่ว่านิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นนั้น จะได้กระทำในขณะที่จิตปกติหรือไม่ หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้หรือไม่ว่าผู้กระทำนิติกรรมเป็นคนไร้ความสามารถ หรือการทำนิติกรรมนั้นผู้อนุบาล จะได้ให้ความยินยอมหรือไม่ นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ดังนั้นการที่นางแววคนไร้ความสามารถได้ไปทำนิติกรรมโดยได้ซื้อแหวนเพชร 1 วงจากนางแก้ว แม้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าว นางแววจะได้ทำในขณะไม่มี อาการวิกลจริต อีกทั้งนางแก้วจะไม่รู้ว่านางแววเป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม นิติกรรมการซื้อขายแหวนเพชรของ นางแววก็มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 29
สรุป พินัยกรรมของนางแววตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมการซื้อขายแหวนเพชรของนางแวว ตกเป็นโมฆียะ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมคืออะไร (10 คะแนน)
2. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมลักษณะใดมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ อธิบายและยกตัวอย่าง ประกอบ (15 คะแนน)
ธงคำตอบ
1. “วัตถุประสงค์ของนิติกรรม คือประโยชน์สุดท้ายที่คู่กรที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรม มุ่งประสงค์จะให้เกิดให้มีขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมนั้น
2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า
“นิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ถ้าวัตถุประสงค์ของนิติกรรมมีลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ จะมีผลทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ
(1) วัตถุประสงค์ของนิติกรรมเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หมายถึง วัตถุประสงค์ที่เป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งมิให้กระทำการนั้น เช่น การทำสัญญาจ้างให้ไปฆ่าคน เป็นต้น
(2) วัตถุประสงค์ของนิติกรรมเป็นการพ้นวิสัย หมายถึง วัตถุประสงค์ที่เป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การกระทำนั้นไม่อาจเป็นไปได้หรือไม่สามารถที่จะทำได้ เช่น การทำสัญญาจ้างให้ไปเก็บดาวหางบนท้องฟ้า เป็นต้น และให้หมายความรวมถึงนิติกรรมที่มุ่งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่งนั้นไม่มี ตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรมนั้น เช่น การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันคันหนึ่ง แต่ในขณะทำสัญญาซื้อขายกันนั้น รถยนต์คันดังกล่าวได้ถูกไพ่ไหม้เสียหายไปหมดทั้งคันแล้ว เป็นต้น
(3) วัตถุประสงค์ของนิติกรรมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หมายถึง วัตถุประสงค์ของนิติกรรมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข ความมั่นคง ความปลอดภัย และจริยธรรม หรือศีลธรรมอันดีของคนในสังคม เช่น การทำความตกลงกันให้ถอนฟ้องคดี อาญาแผ่นดิน โดยมีการให้ทรัพย์สินเป็นการตอบแทน หรือการที่ชายซึ่งมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ได้ ตกลงกับหญิงอื่นให้อยู่กินกับตนเป็นสามีภริยากันอีกโดยการให้ทรัพย์สินเป็นการตอบแทน เป็นต้น
ข้อ 3. นายนพและนายกรตกลงทำสัญญาเอขายที่ดินของนายกรหนึ่งแปลง ราคาห้าแสนบาท โดยนายนพ และนายกรตกลงกันว่าจะไม่ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะไม่ต้องการเสียค่าภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอน โดยนายนพได้ชำระเงินห้าแสนบาทให้นายกรแล้ว และนายกรได้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับนายนพ ดังนี้ จงวินิจฉัยว่ากัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายนพ และนายกรเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 บัญญัติว่า “อันว่าซื้อขายนั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลง ว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”
และมาตรา 456 วรรคแรก ได้บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ท่านว่าเป็นโมฆะ…”
ตามปัญหา การที่นายนพและนายกรได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายกรหนึ่งแปลง ราคาห้าแสนบาทนั้น ข้อตกลงระหว่างนายนพและนายกรดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และ การที่ทั้งสองได้มีข้อตกลงกันว่าจะไม่ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ถือว่าทั้งสอง ได้ทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์) เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และคู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะไปกระทำ ตามแบบพิธีใด ๆ ในภายหน้า
และแม้ว่าในการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น นายนพจะได้ชำระเงินห้าแสนบาทให้แก่นายกรแล้ว และนายกรจะได้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับนายนพแล้วก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายนั้นเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์ แต่คู่กรณีไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ คือไม่ได้ทำเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อที่ดินระหว่างนายนพและนายกรจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก และกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นของนายกร ไม่ตกเป็นของ นายนพแต่อย่างใด
สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายนพและนายกรเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และ กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงเป็นของนายกร ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 4. อ้วนได้รับตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งจากผอมผู้สั่งจ่ายตั๋ว อ้วนมาปรึกษาท่านว่าจะโอนตั๋วฯ นี้ให้นาย ก. จะโอนได้โดยวิธีใดบ้าง ท่านจะให้คำแนะนำวิธีโอนตั๋วฯ นี้อย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ด้งนี้ คือ
1. ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก)
2. ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)
3. การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน ซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)
กรณีดังกล่าว เมื่ออ้วนได้รับตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งจากผอมซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย และมีความประสงค์ จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ให้นาย ก. เมื่ออ้วนมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำวิธีการโอนตั๋วแลกเงินนี้แก่อ้วน ดังนี้คือ
กรณีที่ 1 ถ้าตั๋วแลกเงินที่อ้วนได้รับมาจากผอมนั้นเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ดังนี้อ้วนสามารถที่จะโอนตั๋วแลกเงินนี้ให้แก่นาย ก. ได้ โดยการส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่นาย ก. โดยไม่ต้องสลักหลัง คือไม่ต้องลงลายมือชื่อของอ้วนใด ๆ ทั้งสิ้นตามมาตรา 918
กรณีที่ 2 ถ้าตั๋วแลกเงินที่อ้วนได้รับมาจากผอมนั้นเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ การที่ อ้วนจะโอนตั๋วแลกเงินชนิดนี้ให้แก่นาย ก. อ้วนจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919 กล่าวคือ อ้วนจะต้องทำการสลักหลัง โดยเขียนข้อความว่า “จ่ายนาย ก.” หรือ “โอนให้นาย ก.” เป็นต้น และลงลายมือชื่อของอ้วนผู้สลักหลัง และส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่นาย ก. ไป ซึ่งการสลักหลังของอ้วนดังกล่าวนี้เรียกว่า “การสลักหลังระบุชื่อ” ซึ่งอ้วนจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้นก็ได้
หรืออีกวิธีหนึ่ง อ้วนอาจจะลงแต่ลายมือชื่อของอ้วนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้อง เขียนข้อความใด ๆ และไม่ต้องระบุชื่อของนาย ก. ผู้รับโอน ซึ่งเรียกว่า “การสลักหลังลอย” แล้วส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่นาย ก. ไปก็ได้