การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นางสาวแก้ว อายุ 25 ปี เป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ นางสาวแก้วยกสร้อยทองให้นายก้องน้องชาย นางสาวแก้วมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะที่ยกสร้อยทอง ให้นายก้อง แต่นายก้องรู้อยู่แล้วว่านางสาวแก้วเป็นคนวิกลจริต ดังนี้ การที่นางสาวแก้วยกสร้อยทองให้นายก้อง มีผลทางกฎหมายอย่างไร
ธงคําตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทํานิติกรรมของ คนวิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆี่ยะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ
1 นิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ
2 คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทํานิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต
ตามปัญหา การที่นางสาวแก้วซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทํานิติกรรมโดยการยกสร้อยทองให้แก่นายก้องน้องชายนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นางสาวแก้วได้ให้สร้อยทอง แก่นายก้องนั้น นางสาวแก้วมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ได้มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด ดังนั้น แม้นายก้องจะ รู้อยู่แล้วว่านางสาวแก้วเป็นคนวิกลจริตก็ตาม นิติกรรมการให้สร้อยทองของนางสาวแก้วแก่นายก้องก็มีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะ
สรุป
การที่นางสาวแก้วยกสร้อยทองให้นายก้องจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข้อ 2. นายเมฆกู้ยืมเงินนายฟ้าจํานวน 500,000 บาท หนี้เงินกู้กําลังจะถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่มีเงินชําระคืนแก่นายฟ้า ซึ่งนายเมฆมีที่ดินอยู่ 1 แปลง นายเมฆกลัวว่าถ้าตนไม่มีเงินชําระหนี้ นายฟ้าจะฟ้องคดีบังคับเอากับที่ดินของตนซึ่งนายเมฆไม่ต้องการที่จะเสียที่ดินแปลงนี้ นายเมฆจึงสมคบ กับนายหมอกทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้เพื่อลวงนายฟ้าไม่ให้มาบังคับเอากับที่ดินแปลงนี้อีก ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเมฆและนายหมอกเป็นการแสดงเจตนาประเภทใด และมีผล ในทางกฎหมายอย่างไร
ธงคําตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการแสดง เจตนาลวงไว้ว่า
“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
การแสดงเจตนาลวงตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงการที่คู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะทํานิติกรรม ให้มีผลบังคับกันตามกฎหมาย แต่ได้แสดงเจตนาหรือทํานิติกรรมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงบุคคลอื่นเท่านั้น กฎหมาย จึงได้กําหนดให้นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้
ตามปัญหา การที่นายเมฆกู้ยืมเงินนายฟ้าจํานวน 500,000 บาท เมื่อหนี้เงินกู้กําลังจะถึงกําหนด นายเมฆไม่มีเงินชําระคืนแก่นายฟ้า และกลัวว่าถ้าตนไม่มีเงินชําระหนี้ นายฟ้าจะฟ้องคดีบังคับเอาที่ดินของตนซึ่ง มีอยู่ 1 แปลงไป ซึ่งนายเมฆไม่ต้องการที่จะเสียที่ดินแปลงนี้ จึงได้สมคบกับนายหมอกทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ เพื่อลวงนายฟ้าไม่ให้มาบังคับเอากับที่ดินแปลงนี้นั้นจะเห็นได้ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเมฆและนายหมอก เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวงเท่านั้น เพราะคู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินกันแต่อย่างใด แต่ ได้แสดงเจตนาทํานิติกรรมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงบุคคลอื่นเท่านั้น และตามกฎหมายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง นายเมฆและหมอกจะตกเป็นโมฆะ
สรุป
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเมฆและนายหมอกเป็นการแสดงเจตนาลวง จึงทําให้ สัญญามีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3. นายจันทร์ต้องการซื้อที่ดินจากนายอังคารจํานวน 5 ไร่ ราคา 10 ล้านบาท โดยนายจันทร์ตกลงกับนายอังคารปากเปล่าว่า นายจันทร์จะโอนเงินจํานวน 10 ล้านบาท ให้นายอังคาร และให้ นายอังคารส่งมอบที่ดินจํานวน 10 ไร่ แก่นายจันทร์โดยไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 บัญญัติว่า “อันว่าซื้อขายนั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะ ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”
และมาตรา 456 วรรคแรก ได้บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ท่านว่าเป็นโมฆะ…”
ตามปัญหา การที่นายจันทร์ตกลงซื้อที่ดินจากนายอังคารจํานวน 5 ไร่ ราคา 10 ล้านบาทนั้น ข้อตกลงระหว่างนายจันทร์และนายอังคารดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายตามมาตรา 453 และการที่ทั้งสองได้ตกลง ด้วยปากเปล่าว่า นายจันทร์จะโอนเงินจํานวน 10 ล้านบาท ให้นายอังคาร และให้นายอังคารส่งมอบที่ดินจํานวน 10 ไร่แก่นายจันทร์ โดยไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ถือว่าทั้งสองได้ตกลง ทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และคู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะไปกระทํา ตามแบบพิธีใด ๆ ในภายหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเมื่อได้ตกลงกันด้วยปากเปล่าไม่ได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก
สรุป
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์และนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะคู่สัญญาได้ตกลงกันในเนื้อหาสาระสําคัญของสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว
ข้อ 4. นายชายสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายนพเป็นผู้รับเงิน โดยนายชายได้มีการขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วส่งมอบเช็คชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายนพ ต่อมาถ้านายนพต้องการโอนเช็คฉบับนี้ ให้แก่นายพงษ์ นายนพจะต้องทําอย่างไรจึงจะเป็นการโอนเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย
ธงคําตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า
1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ(มาตรา 917)
2 การสลักหลังตัวแลกเงินนั้น อาจจะเป็นการสลักหลังระบุชื่อ หรือจะเป็นการสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)
3 หลักกฎหมายในข้อ 1) และ 2) ให้นํามาใช้กับการโอนเช็คด้วย (มาตรา 989)
ตามปัญหา การที่นายชายสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายนพเป็นผู้รับเงิน และได้มีการขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก ย่อมถือว่าเป็นเช็คแบบระบุชื่อผู้รับเงิน ดังนั้น ถ้านายนพต้องการโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่ นายพงษ์ นายนพจะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นายพงษ์ ซึ่งในการสลักหลังเช็คนั้น นายนพ อาจจะทําการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) คือการระบุชื่อนายพงษ์เป็นผู้รับสลักหลัง หรือนายนพอาจจะสลักหลังลอย คือ การลงแต่ลายมือชื่อของนายนพไว้ที่ด้านหลังเช็คโดยไม่ระบุชื่อของนายพงษ์ก็ได้ ซึ่งถ้านายนพได้กระทําการ ดังที่กล่าวมา ก็จะถือว่าเป็นการโอนเซ็คโดยชอบด้วยกฎหมาย
สรุป นายนพจะต้องทําการสลักหลัง (โดยอาจจะสลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะก็ได้ และส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นายพงษ์ จึงจะถือว่าเป็นการโอนเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย