การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) การสลักหลังตัวเงินมีวิธีการอย่างไร จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

(ข) ปริมสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อให้ปริกและขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออกแล้วส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ปริก เพื่อชําระราคาค่าซื้อแหวนเพชร หลังจากนั้นปริกได้ทําการสลักหลังลอยและส่งมอบ เช็คนั้นชําระค่าสร้างโรงงานเพชรของตนให้แก่ปริดซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต่อมาปริดต้องการจะนําเช็คฉบับนี้ไปโอนชําระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่เจ็จูวัสดุ ก่อสร้างแต่ไม่ทราบวิธีการ จึงมาปรึกษาปราดซึ่งเป็นนักศึกษานิติศาสตร์และเรียนวิชาตัวเงินแล้ว หากนักศึกษาเป็นปราด จะอธิบายวิธีการโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่เจ๊จูตามหลักกฎหมายที่ ถูกต้องอย่างไรให้แก่ปริด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 “คําสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อ และต้องลงลายมือชื่อ ผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้ กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคหนึ่ง “อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในการโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ไม่ว่าจะเป็น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค) การโอนจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและทําให้บรรดาสิทธิทั้งหลายอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นได้โอนไปยังผู้รับโอนด้วยนั้น ผู้โอนจะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน (มาตรา 917 วรรคหนึ่ง)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ใน ตั๋วเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือเป็นการสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)

“การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” คือ การสลักหลังที่มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับ ประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วเงินนั้นด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตัวเงินนั้นก็ได้ (มาตรา 919 วรรคหนึ่ง)

“การสลักหลังลอย” คือ การสลักหลังที่มิได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์ หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วเงิน เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินนั้นเท่านั้น (มาตรา 919 วรรคสอง)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใด ก็ได้ คือ

(1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923…”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ปริมสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อให้ปริกและขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ปริก ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ เมื่อปริกได้ทําการสลักหลังลอยและส่งมอบเช็คนั้น ชําระค่าสร้างโรงงานเพชรของตนให้แก่ปริด การโอนเช็คระหว่างปริกและปริดจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย (มาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) และให้ถือว่าปริดเป็นผู้ทรง ซึ่งได้รับตั๋วเงิน คือ เช็คฉบับดังกล่าวมาจากการสลักหลังลอยของปริก และปริดย่อมมีสิทธิที่จะโอนเช็คฉบับนี้ ให้แก่เจ๊จู โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 920 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ดังนี้คือ

1 เขียนชื่อของปริดลงในที่ว่าง (ซึ่งจะทําให้การสลักหลังลอยตอนแรกกลายเป็นสลักหลัง ระบุชื่อ) และปริดสามารถโอนเช็คให้แก่เจ๊จูได้ต่อไป แต่ต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นให้แก่เจ๊จู

หรือปริดอาจจะเขียนชื่อเจ๊จูลงในที่ว่าง แล้วส่งมอบเช็คนั้นให้แก่เจ๊จูก็ได้

2 สลักหลังเช็คนั้นต่อไปอีก โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อเจ๊จู) หรือ อาจจะเป็นการสลักหลังลอย (ไม่ระบุชื่อเจ๊จู) ก็ได้

3 โอนเช็คนั้นต่อไปโดยการส่งมอบเพียงอย่างเดียว โดยไม่กระทําการตาม 1 หรือ 2 แต่อย่างใด คือไม่ต้องเขียนชื่อบุคคลใดลงในที่ว่าง และโดยไม่ต้องสลักหลังใด ๆ เลยก็ได้

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นปราด ข้าพเจ้าจะอธิบายวิธีการโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปริดตามที่ ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. (ก) จงยกตัวอย่างผู้ที่จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นจากการลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินมาพอสังเขป

(ข) มั่นออกตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งสั่งแม้นเป็นผู้จ่ายเงินตามจํานวนค่าสินค้า โดยมีมิ่งผู้เป็นนายจ้างบอกมั่นว่ายินดีเป็นผู้ค้ำประกันแม้น ถ้าแม้นไม่ชําระราคาสินค้านั้น มิ่งและแม้นต่างได้ลง ลายมือชื่อตนแต่เพียงอย่างเดียวไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงิน มั่นจึงได้นําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ยื่นชําระ ให้แก่หมอกหรือผู้ถือ เมื่อถึงกําหนดใช้เงิน หมอกนําตัวแลกเงินดังกล่าวไปทวงถามจากแม้น ปรากฏว่าแม้นไม่มีเงินใช้ตามตั๋ว จึงเป็นผู้ต้องรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วเงิน และหมอกได้ทําคําคัดค้านโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จงวินิจฉัยว่า มั่นและมิ่งต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้าง จงอธิบาย ตามหลักกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงิน

ธงคําตอบ

(ก) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่าบุคคลที่จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ได้แก่บุคคลที่ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินนั้นเอง โดยได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตน ในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

ซึ่งความรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินจากการลงลายมือชื่อไว้ในตั๋วเงินนั้น อาจจะรับผิดในฐานะ ผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลัง ผู้รับรอง หรือผู้รับอาวัลก็ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้เข้ามาเกี่ยวข้องและลงลายมือชื่อ ไว้ในฐานะอะไร เช่น

1 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง จะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 ซึ่ง กําหนดว่า “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงิน ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงินเมื่อผู้ทรงได้นําตัวนั้นไปยื่นโดยชอบแล้ว แต่ผู้จ่ายไม่ใช้เงินหรือไม่รับรองตั๋วแลกเงิน”

2 ความรับผิดของผู้รับรองตั๋วแลกเงิน จะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 937 ซึ่งกําหนดว่า “ผู้รับรองตั๋วแลกเงินย่อมต้องผูกพันในอันที่จะจ่ายเงินตามจํานวนที่ตนได้รับรองไว้ในตั๋วแลกเงิน”

3 ความรับผิดของผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงิน จะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคหนึ่ง ซึ่งกําหนดว่า “ผู้รับอาวัลย่อมต้องรับผิดเป็นเช่นเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 939 วรรคสามและวรรคสี่ “อนึ่งเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคํารับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่มั่นออกตั๋วแลกเงินสั่งให้แม้นเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่หมอกหรือผู้ถือ โดยมี มิ่งและแม้นต่างได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น แม้ว่าแม้นจะได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนแต่เพียงอย่างเดียว ตามกฎหมายถือว่าแม้นเป็นผู้ซึ่งได้รับรองตั๋วแลกเงินนั้นแล้ว ดังนั้นเมื่อถึงกําหนดในการใช้เงินตามตั๋ว และหมอกได้นําตั๋วแลกเงินไปยื่นให้แม้นใช้เงินแต่แม้นไม่ใช้เงินตามตั๋ว แม้นจึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงิน ส่วนมั่นและมิ่งจะต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้างนั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของมั่น เมื่อมั่นได้ออกตั๋วแลกเงินเพื่อสั่งให้แม้นจ่ายเงินให้แก่หมอกหรือผู้ถือ และได้ ลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงิน ดังนั้น มั่นจึงต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 914

กรณีของมิ่ง การที่มิ่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาผูกพันตนเข้าค้ำประกันการชําระหนี้ โดยเป็นผู้ค้ำประกันแม้นนั้น เมื่อมิ่งได้ลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ระบุว่า อาวัลผู้ใด ตามกฎหมายให้ถือว่ามิ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้รับอาวัล และให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลมั่นผู้สั่งจ่าย (ตามมาตรา 939 วรรคสามและวรรคสี่) ดังนั้น มิ่งจึงต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะผู้รับอาวัลมั่นผู้สั่งจ่าย มิใช่ในฐานะ ผู้รับอาวัลแม้น และต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับมั่นตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 940 วรรคหนึ่ง

สรุป

มั่นต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะผู้สั่งจ่าย ส่วนมิ่งต้องรับผิดต่อหมอกในฐานะผู้รับอาวัลมั่น

 

ข้อ 3. (ก) ธนาคารจะมีอํานาจในการขีดคร่อมเช็คกรณีใดบ้าง จงอธิบายตามหลักกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงิน

(ข) มานีเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารซิตี้รามเป็นผู้จ่าย มีเส้นคู่ขนานขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้า มีคําว่า “A/C PAYEE ONLY” เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค มานีนําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคาร ซิตี้รามเรื่องการเบิกเงิน ธนาคารฯ เห็นว่ามานีไม่มีบัญชีเงินฝากกับตน ธนาคารฯ จึงแนะนําให้มานี เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารฯ แล้วให้มานีฝากเงินตามเช็คเข้าบัญชีเงินฝากแล้วให้มานีเบิกเงินสด จากบัญชีภายหลัง ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า คําแนะนําของธนาคารซิตี้ราม ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 995 “(4) เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะ ให้ไปแก่ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้

(5) เช็คไม่มีขีดคร่อมก็ดี เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ส่งไปยังธนาคารใดเพื่อให้เรียกเก็บเงิน ธนาคารนั้นจะลงขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าธนาคารนั้นมีอํานาจในการขีดคร่อมเช็ค เพียงแต่ กระทําได้ในวงจํากัด กล่าวคือ ธนาคารจะทําการขีดคร่อมเช็คได้เพียงประเภทเดียว คือการขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น จะขีดคร่อมทั่วไปไม่ได้ ซึ่งการขีดคร่อมเช็คของธนาคารมีได้ 2 กรณี คือ

1 กรณีธนาคารได้รับเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารที่มีชื่อระบุอยู่ในเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ซึ่งเป็นธนาคารที่ต้องเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้จ่ายแทนผู้ทรงโดยนําเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงนั้น อาจจะไม่เรียกเก็บเงิน จากธนาคารผู้จ่ายด้วยตนเอง แต่ให้ธนาคารอื่นไปเรียกเก็บเงินแทนได้โดยการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารนั้น เพื่อเรียกเก็บเงินแทน (เป็นการขีดคร่อม ฉพาะชําตามมาตรา 995 (4)

2 กรณีธนาคารซึ่งได้รับเช็คเพื่อให้เรียกเก็บเงิน หมายถึง ธนาคารซึ่งได้รับเช็คจากลูกค้า เพื่อให้เรียกเก็บเงิน โดยเช็คนั้นไม่มีการขีดคร่อม หรือมีการขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารนั้นอาจขีดคร่อมเฉพาะเช็คนั้น ให้กับตนเองได้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นหากเช็คนั้นได้หลุดมือไปจากธนาคาร ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 994 “ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงิน ตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

วินิจฉัย

ตามหลัก ป.พ.พ. มาตรา 994 ในกรณีที่เช็คนั้นเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเช็ค ย่อมถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อม ซึ่งเช็คขีดคร่อมนั้นถ้าไม่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอย ขีดคร่อม ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ซึ่งผู้ทรงจะนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ คือเป็นเช็คที่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ผู้ทรงจะต้องนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชี กับธนาคารที่มีชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อมเท่านั้น จะไปเข้าบัญชีกับธนาคารอื่นเพื่อให้ธนาคารอื่นนั้นไปเรียกเก็บเงิน กับธนาคารผู้จ่ายไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่มานีเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารซิตี้ราม เป็นผู้จ่ายและมีเส้นคู่ขนาน ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าเช็คและมีคําว่า “A/C PAYEE ONLY” นั้น ถือว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป เพราะไม่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ซึ่งมานีผู้ทรงเช็คย่อมสามารถที่จะนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชี กับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ การที่มานีได้นําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารซิตี้รามและธนาคารซิตี้รามเห็นว่า มานีไม่มีบัญชีเงินฝากกับตน จึงได้แนะนําให้มานีเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารฯ แล้วให้มานีฝากเงินตามเช็คเข้าบัญชี เงินฝาก แล้วให้มานีเบิกเงินสดจากบัญชีในภายหลังนั้น คําแนะนําของธนาคารซิตี้รามจึงถูกต้องตามมาตรา 994 วรรคหนึ่ง

สรุป

คําแนะนําของธนาคารซิตีราม ถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement