การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1

(ก)   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  905  “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง  ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม  ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย”  อยากทราบว่าการสลักหลังไม่ขาดสายนั้นมีลักษณะอย่างไร

(ข)  จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินจำนวน  500,000  บาท  ระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ต่อมาพุธได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้น  ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย

ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  905  คำว่า  “การสลักหลังไม่ขาดสาย”  หมายถึง  การสลักหลังโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  โดยมีการโอนติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน  กล่าวคือ  เป็นการโอนตั๋วเงินที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  และมาตรา  920  นั่นเอง

ตัวอย่างการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย

หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่สาม  ต่อมาสามได้สลักหลังและส่งมอบให้สี่  และสี่ได้สลักหลังและส่งมอบให้ห้า  ดังนี้  เมื่อตั๋วเงินได้มาอยู่ในความครอบครองของห้า  ห้าย่อมเป็นผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลัง  และเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เพราะห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย

และตามตัวอย่างข้างต้น  หากการที่สามสลักหลังโอนให้สี่นั้น  เป็นการสลักหลังลอย  (เป็นการสลักหลังที่ไม่มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง)  และสี่ได้ส่งมอบตั๋วเงินต่อให้ห้า  ดังนี้  ก็ถือว่าห้าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน  และให้ถือว่าห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอยของสาม

หมายเหตุ  บุคคลที่ได้ตั๋วเงินมาจากการสลักหลังลอยนั้น  มีสิทธิโอนตั๋วเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ  หรืออาจจะส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้  (ตามมาตรา  920)  แต่ถ้าได้ตั๋วมาจากการสลักหลังเฉพาะ  (มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง)  หากโอนตั๋วด้วยการส่งมอบ  จะทำให้การสลักหลังขาดสายทันที  เพราะ ป.พ.พ. มาตรา  917  วรรคแรก  นั้น  กำหนดให้โอนกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  917  วรรคแรก  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา  918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา  919  คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ  และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์  แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า  สลักหลังลอย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินโดยระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงิน  และได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ย่อมเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  ดังนั้น  การโอนต่อไปจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  917  วรรคแรก  และมาตรา  919  คือ  สลักหลังและส่งมอบ  จะโอนตั๋วแลกเงินโดยการส่งมอบให้แก่กันเพียงอย่างเดียวเท่านั้นตามมาตรา  918  ไม่ได้ เพราะกรณีมิใช่ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

และสำหรับการที่ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น  ถือเป็นการโอนตั๋วแลกเงินโดยการสลักหลังเฉพาะตามมาตรา  917  วรรคแรก  ซึ่งการโอนต่อไปจะต้องสลักหลังและส่งมอบเช่นเดียวกันตามมาตรา  917  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าต่อมาพุธเพียงแต่ส่งมอบตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่พฤหัสเท่านั้น  หาได้มีการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยไม่  ทั้งกรณีก็ไม่ใช่การโอนตั๋วแลกเงินต่อจากผู้สลักหลังลอยแต่อย่างใด  ดังนั้น  การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

สรุป  การโอนตั๋วแลกเงินจากทองไทยไปยังพุธเป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย  แต่การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)   การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย  และใครบ้างที่อาวัลตั๋วแลกเงินได้

(ข)  บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย  บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  บางเขนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้หลักสี่  แต่หลักสี่ให้บางเขนนำตั๋วไปให้บางบัวทองรับรองก่อน  บางเขนจึงเอาตั๋วไปให้บางบัวทองเขียนข้อความว่า  “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย”  และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋ว  หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วจากบางเขน  เมื่อถึงกำหนดใช้เงินหลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงินแต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเห็นว่าตนได้ชำระหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายไปแล้ว  อนึ่งหลักสี่ได้ทำคำคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าหลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย

“การอาวัลตั๋วแลกเงิน”  (การค้ำประกันหรือรับประกันการใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน)  นั้น  จะถือว่าเป็นการรับอาวัลที่ถูกต้องตามกฎหมาย  จะต้องปฏิบัติตามที่  ป.พ.พ. มาตรา  939  ได้บัญญัติไว้  กล่าวคือ  จะต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้  คือ

1       เขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อด้วยถ้อยคำสำนวนว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล  ซึ่งอาจจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วแลกเงินก็ได้

2       ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  โดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆลงไว้ก็ได้  ก็ถือว่าเป็นการรับอาวัลแล้ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

สำหรับบุคคลที่สามารถเข้ามารับอาวัลตั๋วแลกเงินได้นั้น  อาจจะเป็นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งหรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินนั้นคนใดคนหนึ่งก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา 938  วรรคสอง)

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  938  ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ซึ่งท่านเรียกว่า  “อาวัล”

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ  หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

มาตรา  939  อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง  หรือที่ใบประจำต่อ  ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้นและลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง  เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว  เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด  หากมิได้ระบุ  ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  วรรคแรก  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

ตามกฎหมาย  ในกรณีที่มีการรับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาตามตั๋วแลกเงิน  ผู้รับอาวัลจะต้องเขียนข้อความว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงิน  หรือผู้รับอาวัลอาจจะลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินก็ได้  และบุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลจะเป็นบุคคลภายนอกหรือคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินก็ได้  (มาตรา 938  และมาตรา  939)

กรณีตามอุทาหรณ์  หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ตั๋วแลกเงินที่บางขวางออกให้แก่บางเขนนั้น  เมื่อได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  จึงเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชิ่  และเมื่อบางเขนได้เอาตั๋วไปให้บางบัวทองผู้จ่ายเขียนข้อความว่า  “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย”  ซึ่งถือเป็นข้อความที่มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า  “ใช้ได้เป็นอาวัล”  และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋ว  จึงถือเป็นการอาวัลแล้ว  และเป็นการอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  938  และมาตรา  939

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน  หลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงินแต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเห็นว่าตนได้ชำระหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายไปแล้ว  ดังนั้น  หลักสี่ผู้ทรงจึงสามารถฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  900  วรรคแรก  และมาตรา  940  วรรคแรก

สรุป  หลักสี่ผู้ทรงฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับอาวัล

 

ข้อ  3 

(ก)   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารผู้จ่าย  จ่ายเงินตามเช็คไว้อย่างไรบ้าง

(ข)  ห้วยยอดมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง  สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อสิเกาเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  ซึ่งเป็นเช็คของธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ต  ระบุจำนวนเงินลงไว้ในเช็ค  500,000  บาท  ลงวันที่  10  สิงหาคม  2553  มอบให้กับสิเกาเพื่อชำระหนี้  ต่อมาสิเกาสลักหลังลอยแล้วมอบเช็คชำระหนี้ให้แก่บินหลา  บินหลานำเช็คนั้นไปส่งมอบให้แก่หัวไทรที่มีภูมิลำเนาที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อชำระหนี้  วันที่  10  ธันวาคม  2553  หัวไทรนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ต  แต่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเงินในบัญชีของห้วยยอดมีไม่พอจ่าย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุคคลใดต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)     อธิบาย

ตามกฎหมาย  การนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินตามเช็คนั้น  ผู้ทรงเช็คจะต้องนำไปยื่นในวันที่เช็คถึงกำหนดซึ่งก็คือ  วันออกเช็คอันเป็นวันที่ผู้สั่งจ่ายระบุลงไว้ในเช็คนั่นเอง  หรืออย่างช้าต้องนำไปยื่นภายในกำหนดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่ 

ป.พ.พ. มาตรา  990  ได้กำหนดไว้  ดังนี้คือ

1       ถ้าเป็นเช็คที่ออกให้ใช้เงินในเมือง  (จังหวัด)  เดียวกับที่ออกเช็ค  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่เช็คออก

2       ถ้าเป็นเช็คที่ออกให้ใช้เงินที่อื่น  (ในจังหวัดอื่น)  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่ออกเช็ค

ในกรณีที่ผู้ทรงไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ผู้ทรงย่อมได้รับผลดังนี้  คือ

1       ผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังทั้งปวง  (โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้สลักหลังเหล่านั้นจะได้รับความเสียหายหรือไม่)

2       ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเท่าที่ผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด  เพราะการที่ผู้ทรงละเลยไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลานั้น

และตาม  ป.พ.พ. มาตรา  991(2)  ยังได้วางหลักไว้อีกว่า  ผู้ทรงจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารจ่ายเงินภายใน  6  เดือนนับแต่วันออกเช็ค  (วันที่ลงเช็ค) ด้วย  หากยื่นเช็คเกินกว่านั้น  ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923  925  926  938  ถึง 940  945  946  959  967  971

มาตรา  990  วรรคแรก  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น  ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บุคคลใดต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทร  เห็นว่า  การที่ห้วยยอดมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรังได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ตเพื่อใช้เงินตามเช็คนั้น  เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น  (จังหวัดอื่น)  ดังนั้น ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คให้ธนาคารผู้ใช้เงินตามเช็คใช้เงินภายในกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่  10  สิงหาคม  2553  ซึ่งเป็นวันที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค)  ตามมาตรา  990  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าหัวไทรผู้ทรงเช็คนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอันดามันสาขาจังหวัดภูเก็ตในวันที่  10  ธันวาคม  2553  ซึ่งพ้นกำหนด  3  เดือน  นับแต่วันที่ออกเช็คแล้ว  ดังนั้น  เมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเงินในบัญชีของห้วยยอดมีไม่พอจ่าย  หัวไทรผู้ทรงเช็คย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อเช็คดังกล่าวเป็นเช็คผู้ถือ  เนื่องจากมิได้มีการขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือออก”  การที่สิเกาสลักหลังลอยแล้วมอบเช็คชำระหนี้ให้แก่บินหลานั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  921  สิเกาจึงต้องรับผิดในเช็คฉบับนี้ในฐานะเป็นผู้รับอาวัลห้วยยอดผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  900  921  940  วรรคแรก  และมาตรา  989)  ส่วนบินหลา  เมื่อไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คจึงไม่ต้องรับผิดต่อหัวไทร  (มาตรา  900)

และในกรณีของห้วยยอดผู้สั่งจ่ายนั้น  เมื่อมิได้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ห้วยยอด  เพราะการที่หัวไทรละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น  ห้วยยอดผู้สั่งจ่ายจึงยังคงต้องรับผิดต่อหัวไทรในฐานะผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  900  914  989  และมาตรา  990)

สรุป  สิเกาต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย  และห้วยยอดยังคงต้องรับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินต่อหัวไทรในฐานะผู้สั่งจ่าย  ส่วนบินหลาไม่ต้องรับผิดต่อหัวไทรเพราะมิได้ลงลายมือชื่อในเช็ค

Advertisement