การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 การรับรองและการอาวัลตั๋วแลกเงินจะต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย อนึ่ง ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจะอาวัลตั๋วได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่าย ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ทรง (หรือผู้รับเงิน) ตามจำนวนเงินที่ได้ให้คำรับรองไว้
สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงิน ที่ถูกต้องตามกำหมายนั้น ผู้จ่ายจะต้องปฏิบัติตามแบบหรือวิธีการรับรองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 931 ดังนี้ คือ
1 ให้ผู้จ่ายเขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น โดยอาจจะลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือ
2 ผู้จ่ายลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน โดยไม่เขียนข้อความดังกล่าวไว้เลยก็ได้ กฎหมายก็ให้จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว
อนึ่ง ถ้าผู้จ่ายได้ทำการรับรองโดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินนั้น ย่อมเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง
การอาวัลตั๋วแลกเงิน คือ การค้ำประกันหรือรับประกันการใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน ซึ่งอาจจะเป็นการค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และบุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วแลกเงินนั้น อาจจะเป็นบุคคลภายนอก หรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วแลกเงินนั้นก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 938) ดังนั้นผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจึงสามารถเข้ามารับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาคนอื่นๆในตั๋วแลกเงินนั้นได้
สำหรับวิธีการอาวัลตั๋วแลกเงิน ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ป.พ.พ มาตรา 939 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการอาวัลไว้ดังนี้ คือ
1 บุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วเงิน ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลภายนอกหรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วเงินนั้น (มาตรา 938) จะต้องเขียนข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน เช่น “รับประกัน” หรือ “ค้ำประกัน” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วเงิน (หรือในใบประจำต่อ) ทั้งนี้ต้องระบุไว้ด้วยว่ารับอาวัลให้แก่ผู้ใด หากไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแก่ผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่) หรือ
2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วเงินนั้น กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแล้ว (เป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย) เว้นแต่กรณีที่เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายเท่านั้นที่จะลงแต่ลายมือชื่อเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าจะเข้ารับอาวัลผู้ใดจะต้องเขียนข้อความ และลงลายมือชื่อของตนตามวิธีที่ 1 เสมอ (มาตรา 939 วรรคสาม)
อนึ่ง ในกรณีที่มีการสลักหลังตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย และต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย (มาตรา 921 และ 940 วรรคแรก)
ข้อ 2
(ก) กรณีที่มีบุคคลนำเช็คขีดคร่อมไปให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมให้นั้น ธนาคารผู้จ่ายจะต้องกระทำการอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการจ่ายเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
(ข) ปทุมวันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คผู้ถือธนาคารกรุงสยาม พร้อมทั้งทำการขีดคร่อมทั่วไปไว้ที่ด้านหน้าเช็ค แล้วมอบให้แก่สาทรเพื่อชำระราคาสินค้า หลังจากนั้นสาทรได้ทำเช็คฉบับดังกล่าวหล่นหายโดยไม่รู้ตัว วัฒนาเก็บได้ แล้วนำไปให้ธนาคารนครไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของวัฒนาแล้วถอนเงินจากบัญชีไปใช้ทั้งหมด ต่อมาสาทรพึ่งทราบว่าเช็คของตนหล่นหาย จึงมาเรียกให้ปทุมวันชำระหนี้ตามเช็ค หรือชำระหนี้ราคาสินค้าให้แก่ตน ดังนี้ ปทุมวันจะต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
กรณีที่มีบุคคลนำเช็คขีดคร่อมไปให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมให้นั้น การที่ธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมนั้นไป จะถือว่าเป็นการจ่ายเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารผู้จ่ายจะต้องได้จ่ายเงินไปโดยถูกต้องตามวิธีการหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ดังนี้ คือ
1 กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมทั่วไป
ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็คนั้น จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาที่มิได้ขีดคร่อมมิได้ (มาตรา 994 วรรคแรก)
2 กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะ
ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาหรือจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นนอกจากที่ระบุไว้มิได้ (มาตรา 994 วรรคท้าย)
3 กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารมากกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป
ธนาคารผู้จ่ายเงินต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งจะอยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเพื่อเรียกเก็บเงิน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายเงินให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ (มาตรา 997 วรรคแรก)
อนึ่ง ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัย มาตรา 1009) กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ปกติได้แก่ผู้ทรงเดิม) และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้ (มาตรา 998)
ตรงกันข้าม หากธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คขีดคร่อมเป็นอย่างอื่น เช่น ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คแทนที่จะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเช็ค หรือใช้เงินสดให้แก่พนักงานธนาคารอื่นผู้ยื่นเช็ค หรือใช้เงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ หรือมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินกรณีที่มีการขีดคร่อมเฉพาะเกินกว่า 1 ธนาคาร หรือใช้เงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามหลักเกณฑ์ (1)(2) และ (3) ดังกล่าวข้างต้น กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายยังจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายจากการที่มิได้ใช้ประโยชน์จากเช็คขีดคร่อมนั้น (มาตรา 997 วรรคสองตอนท้าย) อีกทั้งไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่าย เพราะถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ (มาตรา 1009)
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว
มาตรา 321 วรรคสาม ถ้าชำระหนี้ด้วย ออก – ด้วยโอน – หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงิน หรือประทวนสินค้าท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ถือว่าเช็คผู้ถือเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่ตกไปถึงมือผู้รับเงิน คือ สาทรแล้ว และการที่เช็คหล่นหายวัฒนาเก็บได้แล้วนำไปให้ธนาคารนครไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของวัฒนา และวัฒนาได้ถอนเงินจากบัญชีไปใช้นั้น ก็มิได้มีเหตุบ่งชี้ว่า ธนาคารกรุงสยามซึ่งเป็นธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือว่าธนาคารกรุงสยามได้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ถือเสมือนว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของที่แท้จริงคือสาทรแล้วตามมาตรา 998 ซึ่งมีผลทำให้มูลหนี้ระหว่างปทุมวันกับสาทรระงับลง ทั้งมูลหนี้ตามเช็คและมูลหนี้เดิมคือหนี้ค่าราคาสินค้าตามมาตรา 321 วรรคสาม ดังนั้นเมื่อสาทรมาเรียกให้ปทุมวันชำระหนี้ตามเช็ค หรือชำระหนี้ค่าราคาสินค้าให้แก่ตน ปทุมวันจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาแต่อย่างใด
สรุป ปทุมวันไม่ต้องชำระหนี้ตามที่สาทรเรียกมาทั้งมูลหนี้ตามเช็ค และมูลหนี้ค่าราคาสินค้า
ข้อ 3
(ก) การที่ผู้ทรงเช็คนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายเงินหรือให้ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินเกิน 6 เดือน นับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไรกับผู้ทรงเช็ค
(ข) จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายธนาคารสินไทย จำนวน 50,000 บาท ชำระหนี้อังคารหรือผู้ถือ อังคารสลักหลังขายลดเช็คให้แก่พุธ ซึ่งรับซื้อลดเช็คนั้นไว้ในราคา 45,000 บาท แต่ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินเกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันออกเช็คเป็นผลให้ธนาคารกรุงทองไม่รับและคืนเช็คให้แก่พุธ ต่อมาพุธได้นำเช็คนั้นคืนให้แก่อังคาร อังคารได้คืนเงินให้แก่พุธ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าอังคารจะบังคับไล่เบี้ยจันทร์ให้รับผิดในมูลหนี้เช็คดังกล่าวได้เพียงใด หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
การที่ผู้ทรงเช็คนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงิน หรือให้ธนาคารผู้เรียกเก็บเกิน 6 เดือน นับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค (ที่ลงในเช็ค) จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายกับผู้ทรงเช็ค ดังนี้คือ
1 ธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) มีสิทธิใช้ดุลพินิจปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นได้ ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 991(2) และธนาคารผู้เรียกเก็บ (Collecting Bank) ก็จะปฏิเสธเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นให้แก่ผู้ทรงเช็ค
2 ผู้ทรงเช็คย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังเช็ค ทั้งเสียสิทธิไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายเช็คด้วย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้นภายในกำหนด 1 เดือน (ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน) หรือ 3 เดือน (ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น) แล้วแต่กรณี ตามนับ ป.พ.พ. มาตรา 990 วรรคแรก
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 959 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ
(ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา ….. 959 ……
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ผู้ทรงเช็คจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาคนอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามเช็คนั้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารผู้จ่ายจ่ายเงินตามเช็คโดยชอบแล้ว แต่ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นตามมาตรา 959(ก) ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก
แต่กรณีตามอุทาหรณ์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าได้มีการนำเช็คดังกล่าวนั้นไปยื่นให้ธนาคารสินไทยจ่ายเงินตามเช็คและธนาคารสินไทยได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว ดังนั้นอังคารจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จันทร์ผู้สั่งจ่ายได้แต่อย่างใด
สรุป อังคารจะบังคับไล่เบี้ยจันทร์ให้รับผิดในมูลหนี้เช็คดังกล่าวไม่ได้