การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงว่าให้จันทร์เบิกเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้โดยคำนวณเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่จันทร์มีการเบิกไป และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์จะขายไก่ให้กับอังคารเมื่อได้รับเงินจากอังคาร จันทร์จะนำเงินไปชำระหนี้อาทิตย์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้ อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดและจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปและนำเงินมาชำระหนี้ แล้วจันทร์จะเอาลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงานไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข การรับรองตั๋วแลกเงินนั้นทำได้อย่างไร และการรับรองนั้นมีกี่ประเภทให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
จันทร์มีหนี้ที่จะต้องชำระ คือ ราคาค่าขายไก่ให้กับอาทิตย์ แต่ในส่วนของอาทิตย์ไม่มีหนี้สินอันใดที่จะต้องชำระให้กับจันทร์ ดังนั้นข้อตกลงระหว่างอาทิตย์กับจันทร์จึงไม่ใช่ข้อตกลงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 แต่อย่างใด นิติสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแต่เพียงเรื่องกู้ยืมเงินเท่านั้น
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงิน
ข อธิบาย
การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน
สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล
อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้
การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้
1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน
2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน
– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น
ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน
ข้อ 2 ก ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินจะสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้หรือไม่ อย่างไร
ข นายกุหลาบลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายบัวเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และเขียนคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ที่ด้านหน้าเช็คและส่งมอบให้แก่นายบัวเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน ต่อมานายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นายมะลิ แต่นายบัวเห็นว่าเช็คมีคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ระบุอยู่จึงไม่แน่ใจว่าตนจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวนี้ชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ นายบัวจึงมาปรึกษาท่านให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นายบัวว่านายบัวจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 917 วรรคสองว่า “เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้แก่กันได้ แต่รูปการและด้วยผลแห่งการโอนสามัญ” และบทบัญญัติมาตรา 985, 989 วรรคแรก ให้นำมาตรา 917 ไปใช้ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายจะกำหนดหรือเขียนลงไปว่าเปลี่ยนมือไม่ได้นั้นต้องเป็นตั๋วชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น ส่วนตั๋วผู้ถือนั้นสามารถที่จะโอนกันได้ด้วยการส่งมอบ ตามมาตรา 918
ข้อจำกัดห้ามโอนนั้นผู้สั่งจ่ายต้องลงไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงินโดยใช้คำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือคำอื่นอันได้ความทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามสลักหลังต่อ” หรือระบุความว่า “จ่ายให้นาย ก เท่านั้น” หรือ “จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น (A/C PAYEE ONLY หรือ ACCOUNT PAYEE ONLY) ย่อมมีผลเป็นการห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช่นกัน แต่ถ้าลงไว้ด้านหลังตั๋วแลกเงิน น่าจะถือว่าตั๋วแลกเงินนั้นไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนลงไว้เลย ทั้งนี้ตามมาตรา 899
ผลของการลงข้อจำกัดห้ามโอน คือ ผู้รับเงิน (ผู้ทรง) จะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคแรกไม่ได้ แต่ตั๋วแลกเงินก็ยังโอนต่อไปอีกได้ตามแบบสามัญหรือตามหลักการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้นระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน และผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย หรือให้ผู้สั่งจ่ายยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด
ข อธิบาย
มาตรา 917 วรรคสอง เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้
ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 , ถึง 923…
วินิจฉัย
จากข้อเท็จจริง เช็คฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่าย คือ นายกุหลาบสั่งจ่ายโดยตั้งข้อจำกัดการโอนไว้ตามมาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โดยคำว่า “A/C PAYEE ONLY” มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” จึงโอนตามมาตรา 917 วรรคสองไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี หากนายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมะลิจะต้องโอนต่อไปโดยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ ตามมาตรา 306 มิใช่การโอนด้วยวิธีการโอนตั๋วเงินทั่วไป กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนนั่นเอง
สรุป นายบัวสามารถโอนเช็คได้ด้วยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ
ข้อ 3 ก บุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็คได้ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และบุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความ “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ” หรือ สำนวนอื่นอันมีความหมายทำนองเดียวกันลงในเช็ค และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่คู่สัญญาแห่งเช็คนั้นเพียงใดหรือไม่
ข เอกมีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คธนาคารกรุงทอง ที่พิเศษเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายซึ่งได้ขีดคร่อมทั่วไปและได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออกแล้ว เมื่อเอกได้รับเช็คนั้นมาก็ได้ลงข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงในระหว่างเส้นคู่ขนานที่ปรากฏด้านหนาเช็คนั้นและลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คเพื่อเตรียมให้ธนาคารอ่าวไทยที่ตนมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่เอกทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว โทเก็บเช็คนั้นได้แล้วนำไปส่งมอบขายลดเช็คนั้นให้ตรีซึ่งรับซื้อเช็คนั้นโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และตรีจะบังคับไล่เบี้ยพิเศษ เอกและโทให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ หากธนาคารกรุงทองปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค ได้แก่
(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
(2) ผู้ทรงเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
(3) ธนาคาร ต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น (มาตรา 995 (1) , (2) , (4) และ (5))
กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายต้องจ่ายเงินตามเช็คเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คหรือธนาคารตัวแทนของผู้ทรงเช็ค ธนาคารจะจ่ายเงินสดมิได้
บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความห้ามโอน หรือห้ามเปลี่ยนมือ หรือความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน ได้แก่
(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค (มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)
(2) ผู้สลักหลังเช็ค (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)
(3) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อม (มาตรา 995 (3))
กรณีย่อมก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินดังนี้ คือ
(1) กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คห้ามโอน ผู้รับเงินจะโอนเช็คนั้นด้วยการสลักหลังและส่งมอบต่อไปมิได้ คงโอนต่อไปได้ด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดา หรือการโอนแบบสามัญซึ่งผู้สั่งจ่ายจะต้องยินยอมด้วยในการโอนหนี้ตามเช็คนั้น (มาตรา 917 วรรคแรกและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)
(2) กรณีที่ผู้สลักหลังเช็คห้ามโอน ผู้รับสลักหลังต่อมายังคงสลักหลังโอนต่อไปได้ไม่จำกัดแต่ผู้สลักหลังเช็คซึ่งเป็นผู้ห้ามโอน ไม่ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งได้เข้าผูกพันภายหลัง ผู้รับสลักหลังที่ตนเองได้ห้ามโอนไว้ (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 899 วรรคแรก)
(3) กรณีที่ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมห้ามโอน หากมีบุคคลอื่นแอบนำเช็คนั้นโอนต่อไป ย่อมเป็นผลให้ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (มาตรา 995 (3) ประกอบมาตรา 999)
ข อธิบาย
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้
มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา
วินิจฉัย
เอกผู้ทรงเช็คได้เขียนข้อความที่มีความหมายว่า “ห้ามโอน” ลงไว้ในเช็คขีดคร่อมแล้ว ตามมาตรา 995(3) แม้ว่าตรีจะรับซื้อลดเช็คจากโทไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อมีการสลักหลังโอนที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เสมือนเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 905 วรรคแรก และวรรคสอง แต่ตรีก็ได้รับเช็คจากโทซึ่งมิได้มีสิทธิรับเช็คและโอนเช็คนั้น กรณีย่อมเป็นผลให้ตรีมีสิทธิเช่นเดียวกับโทตามมาตรา 999 ตรีจึงไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว
สรุป ตรีไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว