การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1.       ก)    สมควรทำสัญญาฝากเงินประเภท บัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมาก  โดยมีข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีดังกล่าวว่า ธนาคารฯ จะจ่ายเงินตามเช็คที่สมควรออกสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินนั้นธนาคารให้ไม่เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของสมควร (ผู้ฝาก) ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นิติกรรมดังกล่าวระหว่างสมควรและธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมาก  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่   เพราะเหตุใด  

ข)    อำนาจและหน้าที่ของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นจะสุดสิ้นไปเมื่อกรณีใดบ้าง (10 คะแนน)        

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา856 (5 คะแนน)

ก.    การที่สมควรทำสัญญาฝากเงินประเภท บัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมากนั้น สมควรจึงมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมากในการที่จะใช้เช็คสั่งให้ธนาคารไทยยวนลูกหนี้จ่ายเงินให้กับบุคคลใดตามที่ตนเองมีสิทธิในฐานะผู้ฝากเงินและไม่มีข้อตกลงกับธนาคารเพื่อเบิกเงินเกินบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นสมควรไม่ใช่ลูกหนี้ของธนาคาร  ดังนั้นสมควรและธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมากไม่สามารถตกลงกันให้เอาหนี้ที่เกิดขึ้นโดยที่ต่างฝ่ายเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ซึ่งกันและกันมาตัดทอนด้วยการกักกลบลบหนี้และชำละแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดนสะพัด 

นิติกรรมระหว่างสมควรและธนาคารไทยยวนสาขาหัวหมาก ไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด (10 คะแนน)

ข.    ตอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 992 (10 คะแนน)

 

ข้อ 2.       ก)    ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คมาโดยละเอียด (10 คะแนน)

ข)    นายพลเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารมั่งคั่ง จำกัด (มหาชน) สาขารามคำแหง ต่อมานายพลได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท จากบัญชีดังกล่าว  ชำระหนี้ค่าเช่าบ้านย่านถนนรามคำแหงให้แก่นายณัฐ  เมื่อนายณัฐได้เช็คนั้นมาก็ละเลยมิได้นำเช็คนั้นไปยื่นให้ธนาคารมั่งคั่งฯ ใช้เงินจนเวลาล่วงเลยนับแต่วันออกเช็คมาเป็นเวลาห้าเดือนเศษ  นายณัฐจึงนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารมั่งคั่งฯ ใช้เงินตามเช็ค  แต่ปรากฏว่าธนาคารมั่งคั่งฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย”

ในกรณีนี้ นายณัฐจะเรียกให้นายพลต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายณัฐได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  (15 คะแนน)

ธงคำตอบ

ก)  ป.พ.พ. มาตรา 990 (10 คะแนน)

ข)  ป.พ.พ. มาตรา 990 วรรคแรก

กรณีดังกล่าวเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน ซึ่งผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายในเดือนหนึ่ง    นับแต่วันลงในเช็คมิฉะนั้นจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลัง หรือผู้สั่งจ่ายเท่าที่เสียหาย โดยจากข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่านายณัฐยื่นเช็คให้ธนาคารมั่งคั่งฯ ใช้เงินตามเช็คล่วงเลยเวลามาถึงห้าเดือนเศษ ซึ่งแม้ว่าธนาคารมั่งคั่งฯ        จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย”  ก็ตาม  ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายณัฐทำให้    นายพลเสียหายแต่ประการใด

ดังนั้น นายพลจึงยังต้องรับผิดชอบชำระเงินจำนวน 50,000 บาท ตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายณัฐ (15 คะแนน)

 

ข้อ 3.       ก)    การขีดคร่อมเช็คนั้นกระทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด กฎหมายตั๋วเงินได้วางหลักเกณฑ์ให้ธนาคาร ผู้จ่ายและธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมต้องปฏิบัติอย่างไร (10 คะแนน)

ข)    พิเศษลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า ธนาคารสินไทยระบุเอกเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ พร้อมทั้งได้ขีดคร่อมทั่วไปลงไว้ข้างบนด้านหน้าเช็คเพื่อเตรียมชำระหนี้เอก  แต่เช็คนั้นตกหายไปโดยพิเศษไม่ทราบ  โทเก็บเช็คนั้นได้แล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ตรีซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้วได้นำเช็คนั้นฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทยเข้าบัญชีตรีที่ธนาคารกรุงทองได้สำเร็จ  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นหรือไม่  อีกทั้งพิเศษ ธนาคารสินไทย และธนาคารกรุงทองยังคงต้องรับผิดต่อเอกหรือไม่  เพราะเหตุใด (15 คะแนน)

ธงคำตอบ

ก)  อธิบายโดยอ้างอิง มาตรา 994, 997, 998 และมาตรา 1000   =  10 คะแนน

ข)  หลักกฎหมาย    (1)  มาตรา 998  =  2.5   คะแนน

(2)  มาตรา 1000 = 2.5   คะแนน

รวม        5     คะแนน

วินิจฉัย

 เอกมิได้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น เพราะพิเศษยังมิได้มอบเช็คให้เอก พิเศษจึงยังคงเป็นหนี้ตามมูลหนี้เดิมที่มีต่อเอก เนื่องจากยังถือไม่ได้ว่าพิเศษได้ชำระหนี้เอกแล้ว (มาตรา 998) ส่วนธนาคารสินไทย และธนาคารกรุงทอง ซึ่งต่างก็เป็นธนาคารผู้จ่ายและธนาคารผู้เรียกเก็บ หากได้ดำเนินการจ่ายเงินและเรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมไปโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าได้จ่ายเงินให้แก่ตรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (มาตรา 998 และมาตรา 1000)

Advertisement