การสอบภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยให้เบิกเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้ว่าจันทร์เป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใด โดยคำนวณจากสิ่งของที่จันทร์เอาไป และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาด จันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใด และจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไป
ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร
ข ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ กล่าวถึง การโอนตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการตกลงในช่วงระยะเวลา 5 ปี ให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ด้วยวิธีการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาคจึงถือว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข อธิบาย
ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่ 2 ชนิด คือ ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ” ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า “หรือผู้ถือ” รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินผู้ถือ” ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น
ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ
1 กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ มาตรา 917 วรรคแรก บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ
อนึ่งการสลักหลังมี 2 วิธี คือ สลักหลังเฉพาะ (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง) ซึ่งมาตรา 919 ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้
(ก) สลักหลังเฉพาะ (Specific Endorsement) ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคแรก)
(ข) สลักหลังลอย (Blank Endorsement) ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ (ผู้รับสลักหลัง) (มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคสอง)
ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน (ก) หรือ (ข) แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้ แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก 3 วิธี ทั้งนี้ตามมาตรา 920 วรรคสอง คือ
(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้
(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป หรือ
(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง
2 กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ มาตรา 918 บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ
ข้อ 2 ก การที่บุคคลจะจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วเงิน เช่น การจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินก็ดี การสลักหลังโอนเช็คบางส่วนก็ดี การสลักหลังจำนำเช็คก็ดี บุคคลจะกระทำได้หรือไม่ และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร
ข เอกสั่งซื้อสินค้า OTOP 5 ดาว จากโทผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เช็คธนาคารสินไทยเป็นการล่วงหน้า จำนวน 50,000 บาท ระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินขีดคร่อมทั่วไปและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออก ต่อมาโทได้สลักหลังเช็คโดยเขียนข้อความว่า “ราคาเป็นประกัน จำนวน 25,000 บาท ให้ไว้แก่ตรี” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของโทส่งมอบเช็คดังกล่าวให้แก่ตรี พร้อมทั้งตกลงว่าจะไถ่ถอนเช็คกลับคืนก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงิน ก่อนเช็คถึงกำหนด โทขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นการชั่วคราว และไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้แก่เอกได้ อีกทั้งไม่มีเงินที่จะไถ่ถอนเช็คนั้นกลับคืนมา ครั้นเช็คถึงกำหนดใช้เงิน ตรีได้นำเช็คดังกล่าวไปฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารสินไทย แต่ได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเอกได้มีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน เนื่องจากโทผิดสัญญาซื้อขาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีจะบังคับไล่เบี้ยให้บุคคลใดรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้ในฐานะใด และเพียงใดหรือไม่ อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายขึ้นต่อสู้ตรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
– การจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินด้วยการจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 915(1) อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน และผู้สลักหลังทุกคนสามารถกระทำได้ อันเป็นผลให้ผู้ทรงมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยได้เพียงเท่าที่เขาได้จำกัดความรับผิดไว้นั้น
– การสลักหลังโอนเช็คเพียงบางส่วนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ หากกระทำไป กรณีย่อมเป็นผลให้การสลักหลังโอนนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 922 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก
– การสลักหลังจำนำเช็ค โดยใช้ถ้อยคำว่า “ราคาเป็นประกัน” หรือ “ราคาเป็นจำนำ” หรือ ถ้อยคำอื่นอันเป็นปริยายว่าจำนำ กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้สลักหลังมีฐานะเป็นผู้จำนำ ผู้ทรงเป็นผู้รับจำนำ และผู้ทรงเช็คนั้นย่อมมีสิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่เช็คนั้นได้ทั้งสิ้น เช่น การบังคับจำนำ หรือบังคับไล่เบี้ยคู่สัญญาในเช็คนั้นแต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังเช็คนั้นต่อไป ย่อมใช้ได้ในฐานะเป็นคำสลักหลังของตัวแทนของผู้สลักหลังจำนำ กรณีจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้สลักหลังจำนำ ตามมาตรา 926 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก
ข อธิบาย
มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
มาตรา 926 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาเป็นประกัน” ก็ดี “ราคาเป็นจำนำ” ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
มาตรา 959 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ
(ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923, 925, 926 …959…
วินิจฉัย
โทได้สลักหลังจำนำเช็คพิพาทไว้กับตรี การที่โทไม่ไถ่ถอนเช็คนั้นจากตรี และธนาคารฯได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตรีย่อมมีสิทธิบังคับจำนำเช็คได้ในฐานะเป็นผู้ทรงเช็คคนหนึ่ง กล่าวคือ มีสิทธิไล่เบี้ยเอกผู้สั่งจ่าย ซึ่งต้องรับผิดตามจำนวนในเช็คคือ 50,000 บาท แล้วหักราคาที่รับจำนำไว้ 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่เหลือต้องคืนให้แก่โทผู้จำนำ หรืออาจบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำ ได้ตามราคาที่รับจำนำพร้อมดอกเบี้ย ตามมาตรา 914, 926 วรรคแรก 959(ก) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายอันเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับโทผู้สลักหลังมิได้เพราะว่าตรีมิใช่ตัวแทนของโทแต่ตรีใช้สิทธิไล่เบี้ยในนามของตน ตามมาตรา 926 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก
สรุป ข้ออ้างของเอกฟังไม่ขึ้น ตรีมีสิทธิบังคับจำนำเช็คในฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค กับเอกผู้สั่งจ่ายได้ หรือบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำก็ได้เช่นเดียวกัน
ข้อ 3 ก ตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมปรากฏอยู่นั้นจะมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร ให้อธิบายมาให้เข้าใจโดยละเอียด
ข นายนกสั่งจ่ายเช็คธนาคารหัวหมาก จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท ระบุชื่อนายหนูเป็นผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วส่งมอบให้แก่นายหนูเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ต่อมานายหนูได้สลักหลังเฉพาะส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่านายหน้าค้าที่ดินให้แก่นายไก่ หลังจากนั้นนายลิงน้องชายของนายไก่ได้ลักเช็คฉบับดังกล่าวไป แล้วทำการปลอมลายมือชื่อของนายไก่สลักหลังลอยลงในเช็คแล้วนำไปส่งมอบให้แก่นายแมว เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ หลังจากได้รับมอบเช็คมาแล้วนายแมวได้พบกับนายไก่โดยบังเอิญจึงได้สอบถามนายไก่ว่า ได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวมาหรือไม่ นายไก่ซึ่งทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เกรงว่านายลิงจะถูกดำเนินคดี จึงได้บอกแก่นายแมวว่าตนนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คจริง ต่อมานายแมวนำเช็คฯ ไปยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ ชำระเงินให้ แต่ธนาคารหัวหมากฯ ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน นายแมวจึงเรียกให้นายไก่รับผิดชำระเงินตามเช็คให้ แต่นายไก่ปฏิเสธที่จะชำระเงินให้แก่นายแมว โดยอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ลงมือชื่อสลักหลังเช็คฯแต่อย่างใด ดังนี้ข้ออ้างของนายไก่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น ขณะเดียวกัน ป.พ.พ. มาตรา 1008 ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นดังต่อไปนี้ คือ
1 ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบท (ถูกกฎหมายปิดปาก) มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้
2 ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม
3 ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท (ถูกกฎหมายปิดปาก) มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้
อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป
ข อธิบาย
มาตรา 1008 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่มีลายมือชื่อปลอม คือ ลายมือชื่อของนายไก่ ปรากฏอยู่เช็ค ซึ่งโดยหลักจะมีผลคือห้ามมิให้ผู้ใดแสวงหาสิทธิต่างๆจากลายมือชื่อปลอมของนายไก่นั้นได้ แต่การที่นายไก่ได้ยอมรับว่า ตนเป็นผู้สลักหลังเช็ค ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนายลิงเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของนายไก่นั้น ถือได้ว่านายไก่อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนายแมวได้ตามมาตรา 1008 วรรคแรก นายไก่จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่นายแมว ดังนั้น ข้ออ้างของนายไก่จึงไม่ถูกต้อง
สรุป ข้ออ้างของนายไก่ไม่ถูกต้อง