การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  เล็กได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  โดยในคำขอเปิดบัญชีฯนั้น  มีข้อหนึ่งกำหนดว่า  ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค  แต่ธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คให้ไป  ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งที่ธนาคารจ่ายเงินเกินไปคืนให้กับธนาคารเสมือนหนึ่งว่าได้ขอเบิกเกินบัญชีกับธนาคาร  และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่เบิกเกินบัญชีนั้นเป็นดอกเบี้ยทบต้น  ต่อมาเล็กได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีฯดังกล่าวเกินกว่าวงเงินที่ตนฝากไว้หลายครั้ง  และมีการนำเงินฝากเข้าบัญชีฯ  เพื่อลดยอดหนี้บ้าง  ดังนี้การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  ดังที่กล่าวมานั้น  ถือว่าเป็นการทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ  แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง  คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้  แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

 ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี  ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี  หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

ข  นาย  A  สั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  10,000  บาท  ระบุชื่อ  นาย  B  เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ออก  แล้วส่งมอบให้แก่นาย  B  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมานาย  B  ได้สลักหลังเฉพาะโอนให้แก่นาย  C  เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสินค้า  โดยในการสลักหลังนั้นนาย  B  ได้ระบุถ้อยคำว่า  โอนให้นาย  C  แต่ข้าพเจ้ายอมรับผิดเพียง  5,000  บาท  ดังนี้  การสลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวของนาย B  ตามที่กล่าวมานั้นมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

การที่ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างเล็กกับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  นั้น  มีข้อตกลงว่าหากธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีให้ไปแล้วให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชี  ถือว่าเป็นการตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างกันแล้วประกอบกับเล็กก็ทำการเบิกเงินเกินบัญชีไปหลายครั้ง  และมีการนำเงินเข้าฝากบัญชีเพื่อลดหนี้บ้าง  จึงถือว่าเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด (มหาชน)  ได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้วเพราะเป็นไปตามองค์ประกอบของมาตรา  856  (ฎ. 1629/2537)

สรุป  การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

มาตรา  915  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆก็ดี  จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้  คือ

 (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  นั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้สลักหลังจดข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของตนต่อผู้ทรงตั๋วฯ  ตามมาตรา  915(1) มิใช่การสลักหลังโอนบางส่วนแต่อย่างใด  จึงถือว่าเป็นการโอนตั๋วฯตามปกติเพียงแต่นาย  B  ขอจำกัดความรับผิดของตนเพียง  5,000 บาทเท่านั้น  ตามมาตรา  915(1)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ  2  ก  ผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินมีความรับผิดตามตั๋วฯ  เป็นอย่างไร  และจะสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วฯนั้นได้ด้วยเหตุใดบ้าง

ข  ปริกสั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  และส่งมอบให้แก่ปิ่นเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมาปิ่นได้ไปเล่นพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศในบ่อนพนันของปอ  แล้วปิ่นแพ้พนันต้องจ่ายเงินค่าพนันให้กับปอเป็นเงิน  100,000  บาท  แต่ปิ่นไม่มีเงินจ่ายค่าพนันให้แก่ปอ  ปอจึงขู่ว่าจะให้ลูกน้องทำร้ายปิ่นหากปิ่นไม่ยินยอมชำระเงินค่าพนันให้แก่ปอ  ด้วยความกลัวปิ่นจึงได้สลักหลังเช็คฉบับที่รับมาจากปริกดังกล่าวนั้น  แล้วส่งมอบชำระหนี้พนันให้แก่ปอไป  ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน  ปอได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค  แต่ธนาคารฯปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  ปอจึงมาเรียกให้ปิ่นใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  โดยอ้างว่าปิ่นเป็นผู้สลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอจึงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่ปอ  ปิ่นจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะต้องรับผิดจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ปอตามที่ปอเรียกร้องมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ให้นักศึกษาตอบคำถามโดยอาศัยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสัญญาตั๋วเงินตามที่ได้ศึกษามา)

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ความรับผิดของผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินเป็นไปตามมาตรา  940  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักคือ

ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน  หมายถึง  รับผิดในจำนวนเงินเท่ากับผู้ที่ตนเข้าประกัน  (เว้นแต่ผู้รับอาวัลจะขอรับอาวัลบางส่วน)

ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเสมอ  แม้บางกรณีผู้ซึ่งตนประกันอาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากทำผิดแบบหรือระเบียบ  (มาตรา  940  วรรคสอง)

การหลุดพ้นความรับผิดตามตั๋วแลกเงินของผู้รับอาวัลนั้น  โดย

 1       ตามมาตรา  940  วรรคสอง  กล่าวคือ  ตั๋วเงินนั้นผิดแบบหรือผิดระเบียบ  เช่น  ตั๋วเงินขาดรายการสำคัญ  การสลักหลังลอยผิดแบบ  การรับรองผิดแบบ  ฯลฯ  ผู้รับอาวัลสามารถอ้างตนให้หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้

2       ผู้รับอาวัลมีข้อต่อสู้กับผู้ทรงเป็นของตัวผู้รับอาวัลเองหรือผู้ทรงตั๋วแลกเงินนั้นมีสิทธิบกพร่อง

ข  อธิบาย

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากเพราะทำผิดระเบียบ  ท่านว่าข้อสัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  สามารถโอนได้ด้วยการส่งมอบตามมาตรา  918  แต่การที่ปิ่นสลักหลังโอนเช็คให้แก่ปอนั้นถือว่าเป็นการโอนเช็คให้แก่ปอแล้วแต่มิได้ส่งผลให้การสลักหลังนั้นเป็นการสลักหลังโอน  แต่เป็นการรับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็คตามมาตรา  921 ปิ่นจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็ค  ตามมาตรา  921,  940  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  มิใช่มีฐานะเป็นผู้สลักหลัง  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปอได้เช็คมาจากปิ่นโดยไม่สุจริตเพราะรับเช็คมาเพื่อชำระหนี้การพนัน  และปิ่นโอนเช็คให้ปอเพราะปอข่มขู่ปิ่น  ดังนั้นปอจึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  904,  905  จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ใดต้องรับผิดตามเช็คนี้ได้เลย

สรุป  ปิ่นจึงมิต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ปอแต่อย่างใด

 

ข้อ  3  ก  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามเช็คได้อย่างไร  จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นางส้มปลอมลายมือชื่อของนายดำผู้เป็นสามีของตน  สั่งจ่ายเช็คของนายดำเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือแล้วส่งมอบให้แก่นางซื่อเพื่อชำระราคาค่าแหวนเพชรที่นางส้มซื้อมาจากร้านของนางซื่อ  โดยนางซื่อรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริต  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ซึ่งนายดำก็ทราบถึงการปลอมลายมือชื่อของนางส้มดังกล่าวแต่ก็มิได้แจ้งให้ธนาคารผู้ต้องจ่ายเงินตามเช็คให้ทราบ  เพราะเกรงว่านายส้มจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา  ต่อมานายคดลูกจ้างในร้านของนางซื่อได้งัดตู้เซฟที่นางซื่อใช้เก็บของมีค่าภายในร้านและได้ขโมยเอาเช็คฉบับที่นางส้มส่งมอบชำระราคาค่าแหวนเพชรให้นางซื่อดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในตู้เซฟไปขึ้นเงินกับธนาคารผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามเช็ค  ธนาคารฯก็หลงเชื่อว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนั้นเป็นลายมือชื่อของนายดำเจ้าของบัญชีจริงๆ  เพราะปลอมได้เหมือนมาก  ธนาคารฯจึงจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายคดไป  และทำการหักบัญชีของนายดำตามจำนวนเงินที่ธนาคารจ่ายไป  คือ  100,000  บาท นายดำทราบเรื่องก็ไม่ยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีของตนโดยอ้างว่าธนาคารจ่ายเงินตามเช็คไปทั้งที่ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมธนาคารจะต้องรับผิดชอบเอง  ดังนี้  ข้ออ้างของนายดำนั้นถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

โดยหลักมาตรา  1009  ธนาคารจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินไปตามเช็คก็ต่อเมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       ธนาคารได้ใช้เงินไปตามทางค้าปกติ

2       ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  และ

3       ธนาคารไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตั๋วเงินนั้นจะมีการสลักหลังปลอมหรือสลักหลังโดยปราศจากอำนาจหรือไม่  เพียงแต่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ปลอมก็เพียงพอแล้ว  และให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

ส่วนกรณีของเช็คขีดคร่อมนั้น  มีวิธีพิเศษตามมาตรา  994  ซึ่งธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงใดต้องบังคับตามมาตรา  998  กล่าวคือ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  โดย

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995(4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใดๆอันกล่าวมาในมาตรานี้  ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายในกรณีที่ตั๋วฯ  มีลายมือชื่อปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  เว้นแต่จะมีมาตราอื่นบัญญัติไว้เป็นพิเศษ  เช่น  มาตรา  1009  แต่เนื่องจากมาตรา  1009  เป็นกรณีเกี่ยวกับบทคุ้มครองธนาคารผู้จ่ายเงินตามตั๋วฯ  ที่มีลายมือชื่อผู้สลักหลังปลอม  มิใช่กรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม  ดังนั้นหากเป็นกรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมจะต้องบังคับตามมาตรา  1008

ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ลายมือชื่อนายดำผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมที่นางส้มปลอมขึ้น  ซึ่งปกติแล้วธนาคารผู้จ่ายจะอ้างความหลุดพ้นตามาตรา  1009  ไม่ได้  เพราะถ้ากรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  ซึ่งธนาคารจะไม่สามารถบังคับอ้างให้หลุดความรับผิดโดยอาศัยลายมือชื่อปลอมได้เช่นกัน  แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงดำทราบเรื่องแต่ไม่แจ้งให้ธนาคารทราบ  จึงถือว่าดำตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ดังนั้นธนาคารสามารถหักเงินจากบัญชีของดำได้

สรุป  ข้ออ้างของดำจึงไม่ถูกต้อง

Advertisement