การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
ข้อ 1 นายชิตได้ตกลงเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารแสงโสมจำกัด (มหาชน) โดยในคำขอเปิดบัญชีฯนั้นมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่า “ถ้าเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็คแต่ธนาคารได้จ่ายเงินให้ไปก่อน ผู้ฝากเงินจะต้องจ่ายเงินส่วนที่จ่ายเกินไปนั้นคืนให้แก่ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารและธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีนั้นเป็นดอกเบี้ยแบบทบต้นได้” และต่อมานายชิตได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีฯ ดังกล่าว และสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเรื่อยมา ซึ่งบางครั้งเงินในบัญชีไม่พอจ่ายธนาคารแสงโสมฯ ก็ยินยอมจ่ายเงินตามเช็คที่นายชิตสั่งจ่ายมานั้นทุกครั้ง และนายชิตก็ได้นำเงินมาชำระคืนในส่วนที่เกินบัญชีนั้นทุกครั้งเช่นกัน ในกรณีดังกล่าวนั้นถือว่านายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมฯจำกัด (มหาชน) หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข ในกรณีของตั๋วแลกเงินนั้น ผู้ทรงสามารถที่จะทำการผ่อนเวลาการใช้เงินตามตั๋วฯ ให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรองได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงนั้น ข้อความที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชีฯ ประกอบด้วยการกระทำของนายชิตจากการจ่ายเช็คเกินวงเงินในบัญชี และธนาคารฯ ก็ยินยอมจ่ายให้โดยที่นายชิตก็ได้นำเงินมาชำระคืนในส่วนที่เกินนั้นทุกครั้ง อย่างนี้ให้ถือว่าตกลงทำสัญญาเดินสะพัดต่อกันแล้ว ดังนั้นจึงถือว่านายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมแล้ว (ฎ. 1629/2537)
สรุป นายชิตได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารแสงโสมแล้ว
ข อธิบาย
โดยหลักแล้วในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น กฎหมายตั๋วเงินห้ามมิให้ผู้ทรงยอมผ่อนเวลาในการใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 903
ในกรณีของตั๋วแลกเงินก็เช่นเดียวกัน ผู้ทรงจะต้องไม่ยอมผ่อนเวลาในการใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง แต่ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนวันใช้เงินให้แก่ผู้จ่ายหรือผู้รับรอง ย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยคู่สัญญาคนก่อนๆ (ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังคนก่อนๆ) ซึ่งมิได้ตกลงด้วยในการผ่อนวันใช้เงินนั้นตามมาตรา 906 ประกอบมาตรา 948
ข้อ 2 ก ตามกฎหมายนั้นได้มีบทบัญญัติที่ระบุข้อที่ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้หรือไม่ อย่างไร
ข นายจิตสั่งจ่ายเช็คจำนวน 500,000 บาท ชำระหนี้ค่าเหล็กเส้นให้แก่นางจอย ต่อมานางจอยนำเช็คฉบับดังกล่าวโอนชำระหนี้ค่าซื้อขายทองคำ 99% ที่นางจอยตกลงซื้อมาจากนางสาวเจี๊ยบให้แก่นางสาวเจี๊ยบ โดยในสัญญาซื้อขายทองคำนั้นได้มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขไว้ว่าหากได้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทองคำดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามิใช่ทองคำ 99% จริงก็ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายนั้นไม่มีผลบังคับต่อกัน ซึ่งปรากฏว่าเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบทองคำดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นทองคำ 50% เท่านั้น นางจอยจึงทำการส่งมอบทองคำนั้นคืนให้แก่นางสาวเจี๊ยบและขอเช็คฉบับดังกล่าวคืนจากนางสาวเจี๊ยบด้วย แต่ปรากฏว่านางสาวเจี๊ยบกลับนำเช็คฉบับดังกล่าวนั้นมาฟ้องนายจิตให้รับผิดใช้เงินตามเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย กรณีดังกล่าวนี้นายจิตมีข้อต่อสู้หรือข้ออ้างใดๆที่จะสามารถอ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระเงินให้แก่นางสาวเจี๊ยบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตไว้ในมาตรา 916 ซึ่งมีหลักคือ “บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล”
จากหลักดังกล่าวนี้สามารถอธิบายได้ว่า ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายคนใดได้รับตั๋วมาโดยสุจริตมิได้คบคิดฉ้อฉลกับผู้โอนตั๋วมาให้ตนแต่ประการใด ผู้ทรงคนนั้นมีสิทธิฟ้องให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วต้องรับผิดชอบตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นได้ทุกคน ผู้ที่ถูกไล่เบี้ยจะอ้างว่าข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือตนกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นมาต่อสู้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตนั้นไม่ได้
อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า แม้ผู้ทรงนั้นจะสุจริตและเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่ถ้าปรากฏว่าข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงนั้น เป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินนั้นเอง เช่น ตั๋วขาดอายุความใช้เงินแล้ว ฯลฯ เหล่านี้สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมายนั้นได้
ข อธิบาย
มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923…
วินิจฉัย
โดยปกติบุคคลผู้ถูกฟ้องตามตั๋วเงินไม่อาจจะยกข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ใดๆที่ว่าไม่มีมูลหนี้ตามตั๋วเงินฉบับนี้ได้ 2 กรณี คือ
1 ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวกันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้ถูกฟ้องกับผู้สั่งจ่าย
2 ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างผู้ถูกฟ้องกับผู้ทรงคนก่อนๆคือ ผู้ทรงคนก่อนจากผู้ทรงคนปัจจุบันที่เป็นผู้ฟ้อง และรวมถึงผู้สลักหลังคนก่อนๆด้วย
แต่หากไม่เกี่ยวกับ 2 กรณีนี้เลย ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 916 ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีที่สิทธิของนางสาวเจี๊ยบซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายจิตนั้นบกพร่องเสียเอง กล่าวคือ เงื่อนไขบังคับก่อนไม่สำเร็จ สัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวเจี๊ยบกับนางจอยไม่มีต่อกันแล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ที่นางสาวเจี๊ยบจะได้รับเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวเลย ดังนั้นนางสาวเจี๊ยบจึงฟ้องเรียกเงินจากนายจิตไม่ได้ นายจิตสามารถยกขึ้นต่อสู้นี้ขึ้นอ้างเพื่อจะต้องไม่ชำระเงินให้แก่นางสาวเจี๊ยบได้ (ฎ. 2932/2519)
ข้อ 3 ก ตั๋วเงินที่มีการปลอมลายมือชื่อหรือมีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นทำให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง
ข แอนออกเช็คฉบับหนึ่งสั่งธนาคารตามเช็คให้จ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่อ้อมเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน ต่อมาอั๋นซึ่งเป็นบุตรชายของอ้อมได้ปลอมลายมือชื่อของอ้อมสลักหลังโอนเช็คนั้นให้กับกิ๊กซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของอ้อมจากนั้นกิ๊กได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับก้องเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน เมื่อก้องได้รับเช็คมาแล้วก้องก็ได้สอบถามอ้อมว่าได้สลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้กิ๊กมาหรือไม่ เพราะลายมือชื่อของอ้อมที่ปรากฏในเช็คแตกต่างจากลายมือชื่อของอ้อมที่ตนเคยเห็นมาก่อนและอ้อมก็ยอมรับว่าลายมือชื่อนั้นเป็นของตนจริงๆ เพราะเกรงว่าอั๋นจะได้รับโทษจากการปลอมลายมือชื่อ ดังนี้หากต่อมาอ้อมโกรธอั๋นจึงทำการเรียกเช็คนั้นคืนจากก้องโดยอ้างว่าเช็คฉบับดังกล่าวมีลายมือชื่อปลอม ตนมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อนั้นในเช็คแต่อย่างใด ก้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเช็คฉบับดังกล่าวนั้นไว้ต้องคืนให้แก่ตน จากกรณีดังกล่าวนั้นก็จะต้องคืนเช็คให้แก่อ้อมตามที่อ้อมเรียกร้องมาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นมีผลทางกฎหมายดังนี้
– กรณีที่เหมือนกัน คือ ตั๋วเงินนั้นย่อมเสียไปทั้งฉบับสำหรับเจ้าของลายมือชื่อ ซึ่งถูกปลอมลายมือชื่อ และเจ้าของลายมือชื่อซึ่งมิได้มอบอำนาจ อีกทั้งเป็นผลให้ผู้ใดจะแสวงสิทธิจากลายมือชื่อทั้งสองนั้นเพื่อยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็ดี หรือเพื่อทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในตั๋วเงินนั้นก็ดี ย่อมไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่บุคคลซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง หรือจะพึงถูกบังคับการใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ (มาตรา 1008 วรรคแรก)
– กรณีที่แตกต่างกัน คือ ตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม “ไม่อาจให้สัตยาบันได้” หากแสดงออกด้วยการยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อตนเอง กรณีย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทหรือถูกปิดปากมิให้ยกลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ขณะที่ลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอำนาจ เจ้าของลายมือชื่อที่เขาลงไว้โดยมิได้มอบอำนาจอาจให้สัตยาบันได้ และกลายเป็นการลงลายมือชื่อโยได้รับมอบอำนาจ (มาตรา 1008 วรรคท้าย)
ข อธิบาย
มาตรา 1008 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
วินิจฉัย
การกระทำของอ้อมที่ยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อของตนจริงๆเพราะเกรงว่าอั๋นจะได้รับโทษจากการปลอมลายมือชื่อนั้น เป็นการทำให้ตนเองนั้นถูกตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือข้ออ้างให้ต้องคืนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามมาตรา 1008 วรรคแรก ดังนั้นจากกรณีดังกล่าว ก้องไม่ต้องคืนเช็คให้แก่อ้อมตามที่อ้อมเรียกร้องมาแต่อย่างใด
สรุป ก้องไม่ต้องคืนเช็คให้แก่อ้อม