การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
(ก) ผู้ทรงเช็คถ้าต้องการโอนเช็คชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน
(ข) บัวขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คของธนาคารศรีทองที่มีบัวแดงเป็นผู้สั่งจ่าย และได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก บัวขาวสลักหลังระบุชื่อบัวทองเป็นผู้รับประโยชน์และส่งมอบเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่บัวทอง ต่อมาบัวทองสลักหลังลอยและส่งมอบชำระหนี้ให้กับบัวหลวง บัวหลวงสลักหลังระบุชื่อบัวผันเป็นผู้รับประโยชน์ และส่งมอบตั๋วชำระหนี้ให้กับบัวผัน บัวผันส่งมอบตั๋วเพื่อชำระหนี้ให้กับบัวเผื่อน ครั้นเมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บัวเผื่อนได้นำเช็คไปให้ธนาคารศรีทองจ่ายเงิน แต่ธนาคารศรีทองปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการโอนเช็คฉบับนี้จากบัวขาวถึงบัวเผื่อนได้ทำถูกต้องตามกฎหมายตั๋วเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
ในกรณีที่ผู้ทรงเช็คต้องการโอนเช็คชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนนั้น การโอนจะถูกต้องตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ต้องปฏิบัติดังนี้ คือ
1 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ
1) ถ้าผู้ทรงเช็ค เป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากผู้สั่งจ่าย ดังนี้ การโอนเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คจะต้องทำการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นให้เจ้าหนี้ของตน ซึ่งการสลักหลังนั้นอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ ตามมาตรา 917 วรรคแรก 919 และ 989
“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้โอนหรือผู้สลักหลังได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนในเช็คนั้น (หรือในใบประจำต่อ) ซึ่งเรียกว่าเป็นการสลักหลังเฉพาะ โดยจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของเช็คก็ได้ หรืออาจจะลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังเช็คโดยไม่ระบุชื่อของเจ้าหนี้ผู้รับสลักหลัง ซึ่งเรียกว่าเป็นการสลักหลังลอยก็ได้
2) ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากการสลักหลังของผู้ทรงคนก่อน
(1) ถ้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คมาจากการสลักหลังเฉพาะ (การสลักหลังระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1) คือ ต้องทำการสลักหลังและส่งมอบเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้
(2) ถ้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คมาจากการสลักหลังลอย ถ้าผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน ผู้ทรงเช็คสามารถที่จะโอนเช็คต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้น หรืออาจจะโอนเช็คต่อไปโดยการส่งมอบเช็คนั้นให้กับเจ้าหนี้ของตนโดยไม่ต้องสลักหลังใดๆก็ได้ ตามมาตรา 920 วรรคสอง (2)(3) และ 989
2 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ กรณีนี้ไม่ว่าผู้ทรงเช็คจะเป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากผู้สั่งจ่ายหรือจะได้รับเช็คนั้นมาเพราะผู้อื่นโอนให้ ดังนี้ถ้าจะโอนเช็คนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้โดยการส่งมอบเช็คนั้นให้แก่เจ้าหนี้ของตน โดยไม่ต้องสลักหลังใดๆทั้งสิ้น ตามมาตรา 918 และ 989
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”
มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา … 914 ถึง 923
วินิจฉัย
เมื่อเช็คที่บัวแดงออกให้แก่บัวขาว เป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ เพราะมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ดังนั้นเมื่อบัวขาวได้โอนให้แก่บัวทองโดยการสลักหลังและส่งมอบ การโอนเช็คดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก และ 989 วรรคแรก
การที่บัวทองได้สลักหลังลอยและส่งมอบเช็คให้แก่บัวหลวง การโอนเช็คถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก 919 และ 989 วรรคแรก
การที่บัวหลวงได้สลักหลังระบุชื่อบัวผัน และส่งมอบเช็คให้แก่บัวผัน การโอนเช็คถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก 920 วรรคสอง (2) และ 989 วรรคสอง
แต่การที่บัวผันได้รับการโอนเช็คจากบัวหลวงโดยการสลักหลังระบุชื่อ แล้วนำไปโอนโดยการส่งมอบเช็คให้กับบัวเผื่อนโดยไม่มีการสลักหลังนั้น การโอนระหว่างบัวผันกับบัวเผื่อนถือว่าเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะบัวผันไม่ใช่ผู้ทรงที่ได้รับตั๋วมาโดยการสลักหลังลอย จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนตั๋วเงินต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการสลักหลังตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) และ 989 วรรคแรก ดังนั้น ตามกฎหมายถ้าบัวผันจะโอนเช็คให้กับบัวเผื่อน บัวผันต้องสลักหลังและส่งมอบเช็คให้แก่บัวเผื่อนการโอนจึงจะถูกต้อง
สรุป การโอนเช็คฉบับนี้ จากบัวขาวถึงบัวผันได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่การโอนเช็คระหว่างบัวผันกับบัวเผื่อนเป็นการทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ 2
(ก) วิธีการอาวัลเช็คนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
(ข) บางเขนเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารบางบัวทองเป็นผู้จ่าย มีบางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกแล้ว บางเขนจะสลักหลังและส่งมอบเช็คดังกล่าวให้แก่หลักสี่เพื่อชำระราคาสินค้าที่ซื้อจากหลักสี่ แต่หลักสี่ให้บางเขนนำเช็คไปให้บางซื่อรับอาวัลก่อน บางเขนจึงเอาเช็คไปให้บางซื่อลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็ค หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวจากบางเขน ครั้นเช็คถึงกำหนดหลักสี่ได้นำเช็คไปให้ธนาคารบางบัวทองใช้เงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเงินในบัญชีของบางขวางผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าหลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางซื่อให้รับผิดในฐานะผู้รับอาวัลเช็คฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
วิธีการอาวัลหรือรับอาวัลเช็คนั้น มีวิธีการเช่นเดียวกับการอาวัลตั๋วแลกเงิน กล่าวคือ จะต้องทำตามวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้ คือ
1 บุคคลที่จะเข้ามารับอาวัลคู่สัญญาในตั๋วเงิน ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลภายนอกหรืออาจจะเป็นคู่สัญญาเดิมในตั๋วเงินนั้น ตามมาตรา 938 จะต้องเขียนข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน เช่น “รับประกัน” หรือ “ค้ำประกัน” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วเงิน หรือในใบประจำต่อ ทั้งนี้ต้องระบุไว้ด้วยว่ารับอาวัลให้แก่ผู้ใด หากไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแก่ผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่ หรือ
2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วเงินนั้น กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลแล้ว เป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย เว้นแต่กรณีที่เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายเท่านั้นที่จะลงแต่ลายมือชื่อเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าจะเข้ารับอาวัลผู้ใดจะต้องเขียนข้อความ และลงลายมือชื่อของตนตามวิธีที่ 1 เสมอ ตามมาตรา 939 วรรคสาม
และเมื่อมีการรับอาวัลตามแบบวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลทำให้ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับบุคคลที่ตนประกัน ตามมาตรา 940 วรรคแรก
อนึ่ง ในกรณีที่มีการสลักหลังตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย และต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 921 และ 940 วรรคแรก
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 939 วรรคสาม อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สลักหลัง
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา … 914 ถึง 923 , 938 ถึง 940
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการรับอาวัลผู้เป็นคู่สัญญาตามเช็ค ผู้รับอาวัลจะต้องเขียนข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือข้อความอื่นที่มีความหมายเดียวกัน และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังเช็ค หรือผู้รับอาวัลอาจจะลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหน้าของเช็คก็ได้ ตามมาตรา 939 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ เช็คที่บางขวางออกให้แก่บางเขนนั้นเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ เมื่อบางเขนนำเช็คไปให้บางซื่อรับอาวัล กรณีที่จะถือว่าบางซื่อได้เข้ามารับอาวัลเช็คฉบับนี้แล้ว บางซื่อจะต้องปฏิบัติตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 939 ดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บางซื่อได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังเช็คโดยมิได้เขียนข้อความว่า ใช้ได้เป็นอาวัลหรือข้อความอื่นที่มีความหมายเดียวกัน จึงไม่ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้รับอาวัลเช็คแต่อย่างใด
ดังนั้น แม้ว่าบางซื่อจะต้องรับผิดตามเช็คเพราะได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็ค แต่หลักสี่จะฟ้องให้บางซื่อรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลไม่ได้
สรุป หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องให้บางซื่อรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลไม่ได้
ข้อ 3
(ก) ข้อความที่สำคัญในตั๋วเงินถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดผลอย่างไรกับตั๋วเงิน และคู่สัญญาทั้งหลายบ้าง
(ข) ข้อเท็จจริงได้ความว่ายอดทองผู้สั่งจ่ายเช็ค สั่งธนาคารอันดาให้ใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่เกาเหลาและได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก เป็นเช็คลงวันที่ 10 กันยายน 2552 ต่อมาเกาเหลาสลักหลังและส่งมอบเช็คใบนั้นชำระหนี้ให้แก่ทาริน ทารินนำเช็คนั้นสลักหลังและส่งมอบชำระหนี้ทองทา ต่อมาทองทาแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในเช็คเป็น 5,000,000 บาท และลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข จากนั้นนำเช็คไปสลักหลังและส่งมอบเพื่อชำระหนี้ให้แก่มาวิน เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน 2552 มาวินนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอันดา และธนาคารได้จ่ายเงินให้กับมาวินไป 5,000,000 บาท
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ธนาคารอันดาจะหักเงินในบัญชีของยอดทอง จำนวน 5,000,000 บาท ได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007
ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆแก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงินไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย ตามมาตรา 1007 วรรคสาม จะเกิดผลกับตั๋วเงินและคู่สัญญาทั้งหลายตามตั๋วเงิน ดังนี้ คือ
1 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นได้ประจักษ์นั่นเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นเสียไป แต่ยังคงใช้ได้กับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ตามมาตรา 1007 วรรคแรก
2 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ถือว่าตั๋วเงินนั้นไม่เสียไป และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะถือเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้น เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้ ตามมาตรา 1007 วรรคสอง
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1007 วรรคแรกและวรรคสาม ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง
กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย
วินิจฉัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคแรกและวรรคสามนั้น ถ้าตั๋วเงินใดมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วเงินนั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสำคัญ และถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นผู้เป็นคู่สัญญาที่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคน ถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นได้ประจักษ์ ให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นเป็นอันเสียไปใช้บังคับกันไม่ได้
ตามอุทาหรณ์ การที่ยอดทองผู้สั่งจ่ายเช็ค สั่งให้ธนาคารอันดาจ่ายเงิน 500,000 บาท ให้แก่เกาเหลา แล้วต่อมาทองทาได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในเช็คเป็น 5,000,000 บาท และลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขไว้ ดังนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสำคัญตามมาตรา 1007 วรรคสาม และเมื่อเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ประจักษ์ คือ เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการแก้ไข ย่อมมีผลตามมาตรา 1007 วรรคแรก คือให้ถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวเป็นอันเสียไปใช้บังคับไม่ได้ เมื่อมาวินนำเช็คไปยื่นเบิกเงินจากธนาคารอันดา และธนาคารอันดาได้จ่ายเงินให้มาวินไป 5,000,000 บาท ย่อมถือได้ว่าธนาคารอันดาได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยไม่สุจริตหรือโดยประมาทเลินเล่อ ดังนั้นธนาคารอันดาจะหักเงินในบัญชีของยอดทองไม่ได้
สรุป ธนาคารอันดาจะหักเงินในบัญชีของยอดทองไม่ได้ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น