การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
(ก) การโอนตั๋วแลกเงินนั้น ต้องทำอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
(ข) จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน สั่งให้บุญมีจ่ายเงินให้กับทองไทยและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกแล้วมอบให้แก่ทองไทย เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า จำนวน 500,000 บาท ทองไทย สลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงิน ต่อมาพุธได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส ต่อมาพฤหัสสลักหลังลอยตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่อาทิตย์ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่ 2 ชนิด คือ ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ” ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า “หรือผู้ถือ” รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินผู้ถือ” ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น
ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ
1 กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ มาตรา 917 วรรคแรก บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ
อนึ่งการสลักหลังมี 2 วิธี คือ สลักหลังเฉพาะ (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง) ซึ่งมาตรา 919 ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้
(ก) สลักหลังเฉพาะ (Specific Endorsement) ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคแรก)
(ข) สลักหลังลอย (Blank Endorsement) ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ (ผู้รับสลักหลัง) มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคสอง
ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน (ก) หรือ (ข) แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้ แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก 3 วิธี ทั้งนี้ตามมาตรา 920 วรรคสอง คือ
(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้
(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป หรือ
(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง
2 กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ มาตรา 918 บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน
มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์ แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินให้กับทองไทย และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกแล้วมอบให้แก่ทองไทยเพื่อเป็นการวางมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ย่อมเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ การโอนต่อไปจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 917 วรรคแรกคือ สลักหลังและส่งมอบ จะโอนตั๋วแลกเงินโดยการส่งมอบให้แก่กันเพียงอย่างเดียวเท่านั้นตามมาตรา 918 ไม่ได้ เพราะกรณีมิใช่ตั๋วแลกเงินผู้ถือ สำหรับการที่ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงิน ถือเป็นการโอนตั๋วแลกเงินโดยการสลักหลังเฉพาะ ตามมาตรา 919 วรรคแรก ซึ่งการโอนต่อไปจะต้องสลักหลังและส่งมอบเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าต่อมาพุธเพียงแต่ส่งมอบตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่พฤหัสเท่านั้น หาได้มีการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยไม่ ทั้งกรณีไม่ใช่การโอนตั๋วแลกเงินต่อจากผู้สลักหลังลอยแต่อย่างใด การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
สรุป การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2
(ก) การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีใดบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย (10 คะแนน)
(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน สั่งให้เดี่ยวจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท มอบให้แก่ทองไทยระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อฟักทองเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ต่อมาฟักทองได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ศรีทอง เมื่อตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดวันใช้เงิน ศรีทองได้นำตั๋วแลกเงินนั้นไปให้เดี่ยวผู้จ่ายใช้เงินให้กับตน แต่เดี่ยวไม่ยอมใช้เงิน ศรีทองได้ทำคำคัดค้านโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ เอก ทองไทย ฟักทอง ใครต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้นต่อศรีทอง เพราะเหตุใด (15 คะแนน)
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
กฎหมายได้บัญญัติให้มีการรับอาวัลได้ 2 กรณี ได้แก่ การรับอาวัลตามแบบ และการรับอาวัลโดยผลของกฎหมาย
1 การรับอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา คือ ทำได้โดย
การเขียนข้อความลงบนตั๋วเงินหรือใบประจำต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้ (มาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่)
โดยการที่ผู้รับอาวัลลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าตั๋วโดยไม่ต้องเขียนข้อความก็ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)
อนึ่ง เมื่อมีการรับอาวัลตามแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าวข้างต้น กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเช่นเดียวกับบุคคลที่ตนประกัน (มาตรา 900 วรรคแรกประกอบมาตรา 940 วรรคแรก)
2 อาวัลโดยผลของกฎหมาย คือ ถ้ามีการสลักหลังโอนตั๋วเงินผู้ถือเมื่อใด กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย (มาตรา 921 และมาตรา 940 วรรคแรก)
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
มาตรา 921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย
มาตรา 940 วรรคแรก ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินให้เดี่ยวจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท มอบให้แก่ทองไทยระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในตั๋วแลกเงินนั้นออก ตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวจึงเป็นตั๋วแลกเงินที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือซึ่งจะโอนให้กันด้วยการส่งมอบก็ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำต้องสลักหลังแต่อย่างใด
อนึ่ง ตั๋วแลกเงินที่ออกให้ใช้เงินกับผู้ถือนั้น ถ้ามีการสลักหลังเช็คแล้วมอบให้กับผู้รับโอนไปผู้ที่ทำการสลักหลังนั้นจะมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล (ประกัน) ผู้สั่งจ่าย การที่ทองไทยได้สลักหลังขายลดตั๋วแลกเงิน โดยระบุชื่อฟักทองเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ทองไทยจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล (ประกัน) เอกผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ดังนั้น เมื่อศรีทองได้นำตั๋วแลกเงินนั้นไปให้เดี่ยวผู้จ่ายใช้เงินให้กับตน แต่เดี่ยวไม่ยอมใช้เงินศรีทองได้ทำคำคัดค้านโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามมาตรา 914 จึงมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอากับเอกผู้สั่งจ่าย ทองไทยผู้รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 940 วรรคแรก ส่วนฟักทองผู้ที่โอนตั๋วแลกเงินด้วยการส่งมอบให้แก่ศรีทองไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงิน ทั้งนี้ตามมาตรา 900 วรรคแรก
สรุป เอกและทองไทยต้องรับผิดต่อศรีทอง ส่วนฟักทองไม่ได้รับผิด
ข้อ 3
(ก) เช็คที่ไม่มีการขีดคร่อมนั้นธนาคารต้องปฏิบัติอย่างไรในการจ่ายเงินจึงจะได้รับการคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม (10 คะแนน)
(ข) ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คธนาคารลายไทยที่แดงปลอมลายมือชื่อทองพูนผู้เป็นเจ้าของบัญชีออกเช็คชำระหนี้เหลือง ซึ่งเหลืองรับไว้โดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ และเหลืองได้สลักหลังลอยชำระหนี้ให้กับทับทิม ต่อมาทับทิมได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารลายไทยจ่ายเงินและรับเงินไปแล้ว ดังนี้ธนาคารลายไทยจะหักเงินจากบัญชีของทองพูนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด (15 คะแนน)
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 1009 ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
ตามมาตรา 1009 ดังกล่าวข้างต้น ธนาคารจะได้ความคุ้มครองและหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินไปตามเช็ค แม้ลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม ก็ต่อเมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
1 ธนาคารได้ใช้เงินไปตามทางค้าปกติ
2 ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ และ
3 ธนาคารไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตั๋วเงินนั้นจะมีการสลักหลังปลอมหรือสลักหลังโดยปราศจากอำนาจหรือไม่ เพียงแต่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ปลอมก็เพียงพอแล้ว และให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1009 ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทับทิมนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารลายไทย แม้ว่าธนาคารลายไทยนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ และธนาคารลายไทยได้ตรวจสอบแล้วว่ามีการสลักหลังเรียบร้อยไม่ขาดสาย แม้ว่าธนาคารลายไทยไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม แต่ธนาคารลายไทยผู้จ่ายต้องตรวจสอบลายมือชื่อของทองพูนผู้สั่งจ่ายเป็นสำคัญว่าต้องเป็นลายมือชื่อที่ถูกต้อง ไม่เป็นลายมือชื่อปลอม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าธนาคารลายไทยได้จ่ายเงินให้กับทับทิมไปทั้งๆที่ลายมือของทองพูนผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม จึงถือไม่ได้ว่าธนาคารลายไทยได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ ธนาคารลายไทยจะหักเงินจากบัญชีของทองพูนไม่ได้
สรุป ธนาคารลายไทยจะหักเงินจากบัญชีของทองพูนไม่ได้