การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1 

(ก)  อาวัลตั๋วแลกเงินนั้นคืออะไร  เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย (10 คะแนน)

(ข)  คมบางสั่งจ่ายเช็คธนาคารพิมพ์ไทยมหาชน  จำกัด  จำนวนเงิน  500,000  บาท  ระบุดอกดินเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ”  ในเช็คออกมอบให้กับดอกดินเพื่อชำระหนี้  ต่อมาดอกดินสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นชำระราคาสินค้าให้แก่เหลือง  เหลืองรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริตเพราะเชื่อเครดิตของคมบางผู้สั่งจ่าย  ดังนี้หากต่อมาเหลืองยื่นเช็คให้ธนาคารพิมพ์ไทยมหาชน  จำกัด  ใช้เงินแต่ธนาคารพิมพ์ไทยมหาชน  จำกัด  ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว  โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีของคมบางผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย  ดังนี้  เหลืองจะใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ดอกดินรับผิดใช้เงินตามเช็คนี้ได้หรือไม่ในฐานะใด

ธงคำตอบ

(ก)  อาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วเงิน  (Aval)  คือ  การที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว  เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมด  หรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วเงินต่อผู้ที่เป็นเจ้าหนี้  ซึ่งตั๋วเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลหลายคนได้  และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่าประกันผู้ใด  ถ้าไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการประกันผู้สั่งจ่าย

กฎหมายได้บัญญัติให้มีการรับอาวัลได้  2  กรณี  ได้แก่  การรับอาวัลตามแบบ  และการรับอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1       การรับอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา  คือ  ทำได้โดย

การเขียนข้อความลงบนตั๋วเงินหรือใบประจำต่อว่า  ใช้ได้เป็นอาวัล  หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้น  เช่น  เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล  ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้ มาตรา  939  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่

โดยการที่ผู้รับอาวัลลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าตั๋วโดยไม่ต้องเขียนข้อความก็ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  939  วรรคสาม)

อนึ่ง  เมื่อมีการรับอาวัลตามแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าวข้างต้น  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเช่นเดียวกับบุคคลที่ตนประกัน  (มาตรา  900  วรรคแรกประกอบมาตรา  940  วรรคแรก)

2       อาวัลโดยผลของกฎหมาย  คือ  ถ้ามีการสลักหลังโอนตั๋วเงินผู้ถือเมื่อใด  กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย  จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย  มาตรา  921  และมาตรา  940  วรรคแรก

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  วรรคแรก  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  …. 914 ถึง 923  938  ถึง  940

วินิจฉัย

การที่คมบางสั่งจ่ายเช็คธนาคารพิมพ์ไทยมหาชน  จำกัด  จำนวนเงิน  500,000  บาท  ระบุให้ดอกดินเป็นผู้รับเงิน  แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คออก  เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  ซึ่งจะโอนให้กันด้วยการส่งมอบก็ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่จำต้องสลักหลังแต่อย่างใด  อนึ่งเช็คที่ออกให้ใช้เงินกับผู้ถือนั้นถ้ามีการสลักหลังเช็คแล้วมอบให้กับผู้รับโอนไปนั้นผู้ที่ทำการสลักหลังนั้นจะมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล   (ประกัน)ผู้สั่งจ่าย  ดังนั้นการที่ดอกดินผู้รับเงินได้สลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นชำระราคาสินค้าให้แก่เหลือง  ดอกดินจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล  (ประกัน)  คมบางผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  921  หากเหลืองยื่นเช็คให้ธนาคารพิมพ์ไทยมหาชน  จำกัดใช้เงิน  แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีของคมบางผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย  ดังนี้เหลืองจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ดอกดินรับผิดใช้เงินตามเช็คนี้ได้ในฐานะเป็นผู้รับอาวัล (ประกัน)  คมบางผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  940  วรรคแรกประกอบมาตรา  989 วรรคแรก

สรุป  เหลืองสามารถไล่เบี้ยดอกดินให้รับผิดใช้เงินตามเช็คได้

 

ข้อ  2 

(ก)  กรณีที่  ผู้สั่งจ่ายเช็ค  ทำการระบุข้อความว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  ลงในเช็คจะมีผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร  จงอธิบาย

(ข)  นางสาวฟ้ารุ่งสั่งจ่ายเช็คเป็นเงินจำนวน  500,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่นางสาวน้ำฝนและขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ในเช็คออก  พร้อมทั้งเขียนระบุข้อความว่า  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงที่ด้านหน้าเช็ค  แล้วส่งมอบชำระหนี้ให้แก่นางสาวน้ำฝน  ต่อมาหากนางสาวน้ำฝนต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นายสายฟ้า  จะต้องกระทำอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

(ก)   อธิบาย

ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตั้งข้อจำกัดการโอนเช็ค  โดยระบุข้อความว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  หรือ  เปลี่ยนมือไม่ได้  หรือคำอื่นอันได้ความทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  ห้ามโอน  หรือ  ห้ามสลักหลังต่อ  หรือระบุความว่า  จ่ายให้นาย  ก  เท่านั้น  หรือ  จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น  (A/C  PAYEE  ONLY  หรือ  ACCOUNT  PAYEE  ONLY)  ย่อมมีผลเป็นการห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช็คนั้นต่อไป  กล่าวคือ

ผู้รับเงิน  (ผู้ทรง)  จะโอนเช็คนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบ  ตามมาตรา  917  วรรคแรก  ไม่ได้  แต่เช็คนั้นก็ยังโอนต่อไปอีกได้ตามแบบสามัญหรือตามหลักการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง  ตามมาตรา  306  กล่าวคือ  ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ตามเช็คนั้นระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน  และผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย  หรือให้ผู้สั่งจ่ายยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  917  วรรคสอง  เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า  เปลี่ยนมือไม่ได้  ดังนี้ก็ดี  หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี  ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริง  เช็คฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่าย  คือ  นางสาวฟ้ารุ่งสั่งจ่ายโดยตั้งข้อจำกัดการโอนไว้ตามมาตรา  917  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  โดยคำว่า  “A/C  PAYEE  ONLY”  มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า  เปลี่ยนมือไม่ได้  นางสาวน้ำฝนจึงโอนเช็คนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา  917  วรรคแรก  ไม่ได้  แต่อย่างไรก็ดี  หากนางสาวน้ำฝนต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสายฟ้าจะต้องโอนต่อไปโดยรูปแบบการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ  ตามมาตรา  306  มิใช่การโอนด้วยวิธีการโอนตั๋วเงินทั่วๆไป  กล่าวคือ  ต้องทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนนั่นเอง

สรุป  นางสาวน้ำฝนต้องโอนเช็คได้ด้วยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย 

 

ข้อ  3

(ก)  กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คที่มีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คไว้อย่างไร

 (ข)  เช็คพิพาทมีการแก้ไขจำนวนเงินจากน้อยไปมากได้อย่างแนบเนียนโดยผู้ทรงเช็ค  ต่อมาธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทไปโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักกฎหมายว่าธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)  ในกรณีที่มีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็ค  ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน  (มาตรา  1007  วรรคสาม)  นั้น  กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินไว้  2  กรณี  คือ

1.1            กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินเป็นประจักษ์  กล่าวคือ  มองเห็นได้หรือมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง  โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นเสียไป  แต่ยังคงใช้ได้กับผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  และหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  (มาตรา  1007  วรรคแรก)

1.2  กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินไม่ประจักษ์  กล่าวคือ  มองไม่เห็น  หรือมีการแก้ไขอย่างแนบเนียน  หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์  และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้  เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นตามเนื้อความเดิมก็ได้  (มาตรา  1007  วรรคสอง)

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม  แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ผู้ทรงเช็คเป็นผู้แก้ไขจำนวนเงินในเช็คพิพาทจากน้อยไปมากเพียงใด  ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย  จึงเป็นผู้ทรงซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย  กรณีย่อมไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องจำนวนเงินในเช็คทั้งจำนวนที่แก้ไขใหม่  และจำนวนเงินเดิมก่อนการแก้ไข  ตามนัยมาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม  ดังนั้นธนาคารจึงหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายไม่ได้  แม้ตามเนื้อความเดิม  เนื่องจากเป็นผู้ทรงเช็คที่มิชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ธนาคารหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายไม่ได้

Advertisement