การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด จำนวน 200,000 บาท และมีการสะพัดทางบัญชีตลอดมา ภายหลังบุญมีเหลือเงินฝากในบัญชีเพียงเล็กน้อยไม่พอที่จะใช้จ่ายในการลงทุน จึงยื่นคำร้องต่อธนาคารขอเบิกเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชี วงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละบาทต่อเดือนในระบบดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคาร หากเมื่อมีการหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าบุญมีเป็นหนี้ธนาคาร จนกว่าจะชำระส่วนที่เป็นหนี้ครบถ้วน หลังจากนั้นบุญมีได้สะพัดทางบัญชีโดยมีการออกเช็คสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ของบุญมีและมีการฝากเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อหักทอนบัญชีตลอดมา ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ เพราะเหตุใด ต่อมาธนาคารได้มีการหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าบุญมีเป็นหนี้ธนาคาร 3,000,000 บาท ธนาคารจึงบอกเลิกสัญญาเรียกให้บุญมีชำระหนี้ในจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
ข ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
มาตรา 859 คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใดๆก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้
วินิจฉัย
ธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด กับบุญมี ต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน และบุคคลทั้งสองได้ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นให้มีการนำหนี้ที่เกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองที่ต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั้น มาตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 และเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ดังนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใดๆก็ได้ ตามมาตรา 859
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ดังนั้นธนาคารฯมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้บุญมีชำระหนี้ได้
ข อธิบาย
การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน
สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล
อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้
การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้
1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน
2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน
– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น
ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน
ข้อ 2 ก “ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” มีหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ข มะลิออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำปีจ่ายเงินให้แก่จำปาเป็นตั๋วแบบระบุชื่อ ต่อมาจำปาสลักหลังเฉพาะระบุชื่อกุหลาบ แล้วส่งมอบตั๋วฯ นั้นชำระหนี้ให้กุหลาบ จากนั้นกุหลาบนำตั๋วฯ นั้นไปสลักหลังลอยขาดลดให้แก่ลั่นทมซึ่งต่อมาลั่นทมก็ได้ส่งมอบตั๋วฯ นั้นชำระหนี้ให้แก่ชวนชม แล้วชวนชมก็สลักหลังตั๋วฯนั้นโดยระบุชื่อราตรี แล้วส่งมอบให้แก่ราตรีเพื่อชำระหนี้
จากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ราตรีถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
อธิบาย
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผูทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ
1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)
2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อ หรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย
อนึ่งการสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน
ข อธิบาย
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(3)โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด
วินิจฉัย
ลั่นทมเป็นผู้ทรงตั๋วเงินระบุชื่อที่ได้มาจากการสลักหลังลอยของกุหลาบ จึงมีสิทธิส่งมอบตั๋วฯ ชำระหนี้ให้กับชวนชมต่อไปได้ ตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) ซึ่งถือว่าชวนชมเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วฯ มาจากการสลักหลังลอยของกุหลาบโดยตรงโดยไม่ผ่านมือของลั่นทมเลย เพราะลั่นทมได้โอนตั๋วฯมาโดยการส่งมอบ จึงไม่ปรากฏลายมือของลั่นทมในตั๋วฯ โดยไม่ถือว่าการโอนตั๋วฯนี้ขาดสายแต่อย่างใด ตามมาตรา 905 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อชวนชมถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วฯ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาชวนชมสลักหลังตั๋วฯ ชำระหนี้ให้ราตรี ราตรีก็ยอม “เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย” เช่นเดียวกัน ตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคแรก
สรุป ราตรีเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 ก เช็คที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับเช็คที่มีการลงลายมือชื่อ โดยปราศจากอำนาจนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่คู่สัญญาในเช็คนั้นอย่างไร ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ข เอกได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าชำระราคาสินค้า จำนวน 300,000 บาท ระบุชื่อบริษัทผู้ขายเป็นผู้รับเงิน พร้อมกับขีดคร่อมทั่วไปและได้ขีดฆ่าเฉพาะคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นโดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า “or bearer” ในเช็คนั้นออกแต่อย่างใด ต่อมาตรีได้สลักหลังเช็คแทนโดยที่โทผู้จัดการบริษัทผู้ขายมิได้มอบอำนาจในการสลักหลังขายลดเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่จัตวาซึ่งได้เข้าทำสัญญารับซื้อลดเช็คพิพาทนั้นไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าตรีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทผู้ขายนั้น ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อหรือเป็นเช็คผู้ถือ จัตวาเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทหรือไม่ หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จัตวาจะบังคับไล่เบี้ยเอก โท และตรีให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
เช็คที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับเช็คที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน กล่าวคือ
– กรณีที่เหมือนกัน คือ เช็คนั้นย่อมเสียไปทั้งฉบับสำหรับเจ้าของลายมือชื่อ ซึ่งถูกปลอมลายมือชื่อ และเจ้าของลายมือชื่อซึ่งมิได้มอบอำนาจ อีกทั้งเป็นผลให้ผู้ใดจะแสวงสิทธิจากลายมือชื่อทั้งสองนั้นเพื่อยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็ดี หรือเพื่อทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินตามเช็คนั้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คนั้นก็ดี ย่อมไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่บุคคลซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง หรือจะพึงถูกบังคับการใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ (มาตรา 1008 วรรคแรก) หรือเว้นแต่กรณีที่ธนาคารผู้ใช้เงินตามเช็คระบุชื่อที่มีการสลักหลังปลอมหรือลงโดยปราศจากอำนาจตามนัยมาตรา 1009
– กรณีที่แตกต่างกัน คือ เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม “ไม่อาจให้สัตยาบันได้” หากแสดงออกด้วยการยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อตนเอง กรณีย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทหรือถูกปิดปากมิให้ยกลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ขณะที่ลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอำนาจ เจ้าของลายมือชื่อที่เขาลงไว้โดยมิได้มอบอำนาจอาจให้สัตยาบันได้ และกลายเป็นการลงลายมือชื่อโยได้รับมอบอำนาจ (มาตรา 1008 วรรคท้าย)
ข อธิบาย
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
มาตรา 959 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ
(ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน
มาตรา 967 วรรคแรก ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา … 914 ถึง 923 959 967 967
มาตรา 1008 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
วินิจฉัย
เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อบริษัทผู้ขายเป็นผู้รับเงิน เมื่อได้มีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ที่เป็นภาษาไทยแล้ว ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าเป็นเช็คระบุชื่อ ย่อมโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)
การที่ตรีได้ลงลายมือชื่อโทผู้จัดการบริษัทผู้ขายในฐานะเป็นผู้รับเงิน ซึ่งมิได้อนุญาตหรือมอบอำนาจไว้ไปสลักหลังขายลดเช็คพิพาทให้แก่จัตวา กรณีย่อมเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นผลให้ลายมือชื่อโทนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ตามนัยมาตรา 1008 วรรคแรก เท่ากับว่าจัตวาได้รับเช็คพิพาทนั้นมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 และ 905 วรรคแรกและวรรคสอง แม้ว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จัตวาก็จะบังคับให้เอก โท และตรี ให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 900 วรรคแรก 914 959 ก) 967 วรรคแรก และมาตรา 989 วรรคแรก
สรุป – เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อ
– จัตวาไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย
– จัตวาไล่เบี้ยเอก โท และตรีมิได้