ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
ข้อ 1 บางเตยสั่งซื้อผ้าไหมจากบริษัทคลองตัน จำกัด เพื่อใช้ในการผลิตเสื้อส่งออก โดยมีข้อตกลงว่าระยะเวลา 5 ปี ที่จะซื้อขายกันนั้นบริษัทฯ จะส่งผ้าไหมให้ตามจำนวนที่บางเตยสั่งซื้อพร้อมกับแจ้งราคาผ้าไหมที่จะต้องชำระไปพร้อมกันโดยบางเตยต้องตรวจสอบคุณภาพของผ้าไหมว่าตรงกับที่ต้องการหรือไม่ถ้าพบว่ามีความชำรุดบกพร่องไม่ได้คุณภาพก็ให้ส่งกลับคืนบริษัทฯ และบริษัทฯจะนำราคาผ้าไหมที่ส่งกลับนั้นหักลบออกจากราคาที่เคยแจ้งไปครั้งแรกแล้วแจ้งกลับไปอีกครั้งหนึ่งซึ่งบางเตยจะต้องชำระภายใน 45 วันนับแต่รับคำบอกกล่าว ถ้ายังไม่ชำระบริษัทฯจะลงรายการในบัญชีว่าบางเตยเป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใดและจะต้องชำระในคราวต่อๆไปหรือเมื่อมีการคิดบัญชีทุกๆ 1 ปี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน จำกัด เป็นบัญชีเดินสะพัดหรือไม่เพราะเหตุใด
ข ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมาตรา 983 บัญญัติไว้ว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้… (5) ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน” ดังนั้นถ้ามีผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีรายการตามที่มาตรา 983 บัญญัติไว้ครบถ้วนโดยมีการระบุชื่อบุคคลเป็นผู้รับเงิน แต่มีการเขียนว่า ให้ใช้เงินแก่ “หรือผู้ถือ” ด้วย ดังนี้คำว่า “หรือผู้ถือ” มีผลอย่างไรหรือไม่กับตั๋วสัญญาใช้เงิน
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน จำกัด นั้นเป็นการซื้อขายผ้าไหมที่บางเตยลูกหนี้ผู้ซื้อมีหนี้ที่จะต้องชำระราคาให้กับบริษัทคลองตัน จำกัด ผู้ขายเจ้าหนี้ แม้จะมีการหักลบราคาผ้าไหมที่ไม่ได้คุณภาพออกจากราคาที่เคยแจ้งไปก็เป็นการหักลบหนี้ที่บางเตยลูกหนี้จะต้องชำระให้กับเจ้าหนี้เท่านั้น ไม่มีหนี้ในส่วนที่บริษัทคลองตัน จำกัดเป็นลูกหนี้และบางเตยเป็นเจ้าหนี้ ข้อตกลงระหว่างลางเตยกับบริษัทคลองตัน จำกัด จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นหรือในชั่วเวลาอันกำหนดให้มีการนำหนี้ที่ต่างฝ่ายเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาตัดทอนบัญชีโดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด
สรุป ข้อตกลงระหว่างบางเตยกับบริษัทคลองตัน จำกัด จึงมิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข อธิบาย
ตามมาตรา 983(5) ได้วางหลักว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินไว้เสมอ ถือเป็นรายการสำคัญที่ต้องมี ถ้ามิได้ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมไม่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามมาตรา 984 วรรคแรก จะละไว้ในฐานที่เข้าใจไม่ได้ หรือจะระบุเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินแก่ผู้ถือดังเช่นตั๋วแลกเงินและเช็คไม่ได้
ดังนั้นการที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีรายการตามมาตรา 983 ครบถ้วนโดยมีการระบุชื่อบุคคลเป็นผู้รับเงิน แต่มีการเขียนว่าให้ใช้เงินแก่ “หรือผู้ถือ” ด้วย ดังนี้
วินิจฉัย
ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวยังคงเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีความสมบูรณ์ เพราะมีการระบุชื่อของบุคคลเป็นผู้รับเงิน ตามมาตรา 983(5) แล้ว แม้ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะได้เขียนถ้อยคำเพิ่มเข้าไปว่าให้ใช้เงินแก่ “หรือผู้ถือ” ด้วยก็ตาม แต่ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะเป็นกรณีที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเขียนข้อความลงในตั๋วเงินแต่เป็นข้อความที่กฎหมายตั๋วเงินมิได้มีบัญญัติไว้ ข้อความนั้นๆย่อมไม่มีผลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่เป็นผลให้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลายเป็นตั๋วผู้ถือ ตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
ข้อ 2 ก ธนาคารสามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้นำมาขึ้นเงินกับธนาคารได้หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ข นายนิคได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงทอง จำกัด (มหาชน) โดยในคำขอเปิดบัญชีนั้นมีข้อความหนึ่งระบุว่า “ถ้าผู้ฝากเงินออกเช็คจ่ายเงินมาแล้ว” เงินในบัญชีไม่พอจ่ายธนาคารจ่ายเงินไปผู้ฝากเงินจะต้องชดใช้คืนเงินให้แก่ธนาคาร” ต่อมานายนิคได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายเต้เพื่อชำระค่าสินค้าและเมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงิน นายเต้ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารฯ ใช้เงินตามเช็คปรากฏว่าเงินในบัญชีฯ คงเหลืออยู่เพียงจำนวน 99,000 บาท แต่ธนาคารฯก็ยินยอมจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายเต้ไปเป็นจำนวน 100,000 บาท เพราะเห็นว่ามีข้อตกลงกันไว้แล้วในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่า ถ้าธนาคารจ่ายไปผู้ฝากก็จะต้องชำระคืนแก่ธนาคารตามข้อความที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชี
ถามว่า จากกรณีดังกล่าวการกระทำของธนาคารที่ชำระเงินเต็มจำนวนที่ระบุไว้ในเช็คให้แก่นายเต้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และธนาคารจะสามารถเรียกเงินในส่วนที่จ่ายเกินไปจำนวน 1,000 บาทนั้นคืนจากนายนิคได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) มีความผูกพันทางกฎหมาย (นิติสัมพันธ์) ในการใช้เงินตามเช็คต่อผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่าย) จากบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายคือ ธนาคารผู้จ่ายจำต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เคยค้า) ได้เซ็นสั่งจ่ายเพื่อเบิกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายอาจใช้ดุลพินิจจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามคำสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ได้ หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 991 ดังนี้คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่าย) เป็นเจ้าหนี้พอจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) มีผู้นำเช็คที่ผู้เคยค้าเป็นผู้สั่งจ่ายนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินเมื่อพ้น 6 เดือน นับแต่วันออกเช็ค (วันเดือนปีที่ลงในเช็ค) หรือ
(3) มีการบอกกล่าวว่าเช็คที่ธนาคารรับไว้นั้นเป็นเช็คที่หายหรือถูกลักไป
อนึ่ง มาตรา 992 ได้วางหลักว่าในกรณีดังต่อไปนี้เป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายสิ้นอำนาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าได้เซ็นสั่งจ่ายเบิกเงินจากบัญชีของเขา คือ
(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยผู้สั่งจ่ายเช็คเอง
(2) ธนาคารผู้จ่ายทราบว่าผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นถึงแก่ความตาย
(3) ธนาคารผู้จ่ายรู้ว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น
ข อธิบาย
มาตรา 991 ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารให้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็คหรือ
(3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป
วินิจฉัย
ตามปกติธนาคารมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คที่ลูกค้าของธนาคารสั่งจ่ายออกไปให้มาเบิกกับธนาคาร แต่ก็มีข้อยกเว้นโดยกฎหมายที่ให้ธนาคารมีสิทธิใช้ดุลพินิจที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คก็ได้ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 991 คือ
(1) เงินในบัญชีของลูกค้าไม่พอจ่าย
(2) ยื่นเช็คให้ใช้เงินเกิน 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค
(3) มีคำบอกกล่าวว่าเช็คหายหรือถูกลักไป
ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่เงินในบัญชีของนายนิคลูกค้าของธนาคารกรุงทองมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่เนื่องจากมีข้อตกลงกันไว้ว่า ถ้าผู้ฝากเงินมีเงินไม่พอจ่าย ธนาคารสามารถจ่ายเงินตามเช็คได้โดยผู้ฝากเงินต้องชดใช้คืนให้กับธนาคาร ดังนั้นการที่ธนาคารฯจ่ายเงินเต็มจำนวนในเช็คคือ 100,000 บาท ให้แก่นายเต้จึงชอบด้วยกฎหมาย และธนาคารก็สามารถเรียกเงินในส่วนที่จ่ายเกินไป 1,000 บาทนั้นคืนจากนายนิคได้ เพราะมาตรา 991 นั้นเป็นเหตุที่ธนาคารจะใช้ดุลพินิจจ่ายหรือไม่ก็ได้ ประกอบกับมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ธนาคารจึงมีสิทธิที่จะจ่ายได้ (แต่ถึงแม้จะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวนั้นไว้ก็ตาม ธนาคารก็อาจใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คไปก็ได้ เพื่อเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของลูกค้าและสามารถเรียกเงินคืนได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันวิธีปฏิบัติแบบนี้กลายเป็นจารีตประเพณีทางการค้าไปแล้ว)
สรุป การกระทำของธนาคารชอบด้วยกฎหมาย และธนาคารสามารถเรียกเงินส่วนที่เกินคืนจากนายนิคได้
ข้อ 3 ก ตั๋วเงินที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญ เช่น จำนวนเงินอันจะพึงใช้ และตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอม จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขปพร้อมอ้างอิงหลักกฎหมาย และอนุญาตให้นำหลักกฎหมายไปใช้ในการวินิจฉัยในข้อ ข
ข ข้อเท็จจริงได้ความว่าโทเป็นผู้รับเงินตามเช็คธนาคารอ่าวไทย เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่สั่งจ่ายล่วงหน้าโดยเอก ระบุจำนวนเงินในเช็ค 50,000 บาท โทถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดตรีทายาทรายหนึ่งของโทได้แก้ไขจำนวนเงินตามเช็คเป็น 150,000 บาท ได้อย่างแนบเนียนพร้อมกับปลอมลายมือชื่อโทสลักหลังลอย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าธนาคารอ่าวไทยจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เพียงใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
กรณีตามปัญหา มีประเด็นอธิบาย 2 ประเด็น คือ การแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน และการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน กล่าวคือ
(1) ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน เช่น จำนวนเงินอันจะพึงใช้ (มาตรา 1007 วรรคสาม) นั้น กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติผลตามกฎหมายไว้ 2 กรณี คือ
กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นประจักษ์ กล่าวคือ มองเห็นได้หรือมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินเสียไป แต่ยังคงใช้ได้กับผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น (มาตรา 1007 วรรคแรก)
กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ประจักษ์ กล่าวคือ มองไม่เห็น หรือมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นตามเนื้อความเดิมก็ได้ (มาตรา 1007 วรรคสอง)
(2) ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น ขณะเดียวกันกฎหมายตั๋วเงิน ป.พ.พ. มาตรา 1008 ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้
2.1 ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท (ถูกกฎหมายปิดปาก) มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้
2.2 ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม
2.3 ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท (ถูกกฎหมายปิดปาก) มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้
อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป
ข อธิบาย
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
มาตรา 1007 ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง
แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้
กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย
วินิจฉัย
เช็คธนาคารอ่าวไทยเป็นเช็คที่มีการแก้ไขจำนวนเงินอันจะพึงใช้อันเป็นรายการสำคัญรายการหนึ่งได้อย่างแนบเนียน กับทั้งมีการสลักหลังปลอมลายมือชื่อผู้รับเงิน โดยการกระทำของตรีซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรีจึงมิใช่ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 905 ดังนี้ แม้ว่าธนาคารอ่าวไทยผู้จ่ายจะจ่ายเงินไปให้ธนาคารสินไทยโดยสุจริต เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของตรี ธนาคารอ่าวไทยก็ไม่สามารถหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เลย (ทั้งจำนวนเงินตามเนื้อความเดิมและจำนวนเงินตามที่แก้ไขใหม่) เพราะตรีมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย (ตามมาตรา 1007 วรรคสองและวรรคสาม)
สรุป ธนาคารอ่าวไทยไม่สามารถหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของเอกได้เลย