การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  พลับพลามีรถยนต์บรรทุกดินเป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกกับการเติมน้ำมันให้กับรถบรรทุกดิน  พลับพลาจึงทำข้อตกลงกับบริษัท  ปตอ  จำกัด  ผู้ให้บริการน้ำมันโดยรถยนต์บรรทุกดินทุกคันของพลับพลาเข้าเติมน้ำมันที่บริษัท  ปตอ  จำกัด  จะให้สินเชื่อกับพลับพลาโดยเติมน้ำมันในกับรถยนต์ไปก่อนและพลับพลาจะชำระราคาน้ำมันให้กับบริษัท  ปตอ  จำกัด  ทุกๆ  45  วัน  โดยบริษัท  ปตอ จำกัด  จะส่งรายการบัญชีและใบเสร็จค่าน้ำมันให้พลับพลา  เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนทุกๆ  30  วัน  เพื่อทราบยอดเงินที่ต้องชำระ  และบริษัท  ปตอ  จำกัด  จะลงรายการในบัญชีว่าเป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใด  และจะเรียกเก็บในรอบบัญชีต่อไป  ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ปตอ  จำกัด  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่เพราะเหตุใด

ข  อาวัล  คืออะไร  และทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

พลับพลามีหนี้ที่จะต้องชำระ  คือ  ราคาน้ำมันให้กับบริษัท  ปตอ  จำกัด  แต่ในส่วนของบริษัท  ปตอ  จำกัด  ไม่มีหนี้สินอันใดจะต้องชำระให้กับพลับพลาแต่อย่างใด  ดังนั้นข้อตกลงระหว่างพลับพลากับบริษัท  ปตอ  จำกัด  จึงไม่ใช่ข้อตกลงว่าสืบแต่นั้นไป  หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค  จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท  ปตอ  จำกัด  ไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

อาวัลหรือการรับอาวัล  คือ  การที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้วเข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมด  หรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วเงินต่อผู้ที่เป็นเจ้าหนี้  ซึ่งตั๋วเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลหลายคนได้และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่าประกันผู้ใด  ถ้าไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการประกันผู้สั่งจ่าย

กฎหมายได้บัญญัติให้มีการรับอาวัลได้  2  กรณี  ได้แก่  การรับอาวัลตามแบบ  และการรับอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1       การรับอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา  คือ  ทำได้โดย

            การเขียนข้อความลงบนตั๋วเงินหรือใบประจำต่อว่า  ใช้ได้เป็นอาวัล  หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้น  เช่น  เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย  และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล  ซึ่งการรับอาวัลในกรณีนี้จะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้  (มาตรา 939  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่)

            โดยการที่ผู้รับอาวัลลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าตั๋วโดยไม่ต้องเขียนข้อความก็ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  939  วรรคสาม)

2       อาวัลโดยผลของกฎหมาย  คือ  ถ้ามีการสลักหลังโอนตั๋วเงินผู้ถือเมื่อใด  กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย  จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย  (มาตรา  921  และมาตรา  940  วรรคแรก)

 

ข้อ  2  ก  กฎหมายกำหนดเวลาที่ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คไว้หรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ข  นายแดงเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารมั่นคงจำกัด  (มหาชน)  สาขาหัวหมาก  ต่อมานายแดงได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน  100,000  บาท  จากบัญชีดังกล่าว  ชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านถนนรามคำแหงให้แก่นายขาว  เมื่อนายขาวได้เช็คนั้นมาก็ละเลยมิได้นำเช็คนั้นไปยื่นให้ธนาคารมั่นคงฯ  ใช้เงินจนเวลาล่วงเลยนับแต่วันออกเช็คมาเป็นเวลาหกเดือนเศษ  นายขาวจึงนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารมั่นคงฯ  ใช้เงินตามเช็ค  แต่ปรากฏว่าธนาคารมั่นคงฯตกเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก  จึงไม่สามารถชำระเงินให้แก่นายขาวได้

หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ถ้านายขาวนำเช็คมาขึ้นเงินก่อนที่ธนาคารมั่นคงฯ  จะตกเป็นบุคคลล้มละลาย  ธนาคารมั่นคงฯ  ก็ยังสามารถชำระเงินตามเช็คให้แก่นายขาวได้  ดังนี้  นายแดงจะยังคงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายขาวอยู่หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

กำหนดเวลาที่ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้น  มาตรา  990  วรรคแรก  ได้วางหลักให้ผู้ทรงยื่นเช็คแก่ธนาคารภายในระยะเวลาจำกัดดังนี้

–                    ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน  (จังหวัดเดียวกัน)  กับที่ออกเช็ค  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คนั้นให้ธนาคารใช้เงินภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่ออกเช็ค  (วันที่ลงในเช็ค) นั้น

–                    ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น  (เช็คที่มิได้ออกและให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันหรือจังหวัดเดียวกัน)  ผู้ทรงต้องยื่นเช็คนั้นให้ธนาคารใช้เงินภายใน  3  เดือนนับแต่วันที่ออกเช็ค  (วันที่ลงในเช็ค) นั้น

ถ้าผู้ทรงเช็คละเลยเสียไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ย่อมเป็นผลเสียแก่ผู้ทรงดังนี้  คือ

1       ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังทั้งปวง  และ

2       ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้สั่งจ่าย

และมาตรา  990  วรรคท้าย  ยังได้วางหลักในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะความเสียหายดังกล่าว  ให้ผู้ทรงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายไปไล่เบี้ยเอากับธนาคารนั้นได้

ข  อธิบาย

มาตรา  990  วรรคแรก  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น  ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

วินิจฉัย

กรณีดังกล่าวเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน  ซึ่งผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายใน  1  เดือน  นับแต่วันเดือนปีที่ลงในเช็ค  มิฉะนั้นจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลัง  หรือผู้สั่งจ่ายเท่าที่เสียหาย  โดยจากข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่านายขาวยื่นเช็คให้ธนาคารมั่นคงฯ  ใช้เงินตามเช็คล่วงเลยเวลามาถึง  6  เดือนเศษ  แต่ธนาคารมั่นคงฯ  ล้มละลาย  จึงไม่สามารถชำระเงินตามเช็คให้แก่นายขาวได้  ซึ่งส่งผลให้นายขาวสิ้นสิทธิในการไล่เบี้ยเงินตามเช็คกับนายแดงผู้สั่งจ่าย  ทั้งนี้เพราะจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า  หากนายขาวยื่นเช็คให้ธนาคารมั่นคงฯ  ใช้เงินก่อนที่จะล้มละลาย  ธนาคารมั่นคงก็จะยังสามารถชำระเงินให้แก่นายขาวได้  ดังนั้นการกระทำของนายขาวทำให้นายแดงเสียหาย

สรุป  นายแดงผู้สั่งจ่ายจึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดชอบชำระเงิน  100,000  บาท  ตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายขาวแต่อย่างใด

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินปลอม  อาจเกิดขึ้นได้จากกรณีใดบ้าง  และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่ผู้ทรงซึ่งชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

ข  ชื่อได้รับเช็คพิพาทจากการส่งมอบของโกงเพื่อชำระราคาสินค้าจำนวน  60,000  บาท  (หกหมื่นบาทถ้วน)  ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คพิพาทดังกล่าวมีกล้วยเป็นผู้สั่งจ่ายระบุโกงเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออกแล้วมอบให้โกงไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันในการผลิตและส่งมอบสินค้าตามสัญญาให้แก่กล้วย  จำนวน  50,000  บาท  (ห้าหมื่นบาทถ้วน)  ระหว่างนั้นต้นทุนการผลิตสินค้าตามสัญญามีราคาสูงขึ้น  โกงจึงแก้ไขจำนวนเงินในเช็คทั้งจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือเป็น  60,000  บาท  (หกหมื่นบาทถ้วน)  แล้วลงลายมือชื่อด้านหลังเพื่อเตรียมไปฝากให้ธนาคารที่ตนมีบัญชีเรียกเก็บให้  แต่ได้เปลี่ยนใจแล้วนำเช็คพิพาทนั้นไปส่งมอบชำระราคาสินค้าให้แก่ซื่อซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเนื่องจากไม่ปรากฏร่องรอยการแก้ไขหรือมีพิรุธอย่างใด  ต่อมาธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะกล้วยได้บอกห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาทนั้น  เนื่องจากโกงไม่ส่งมอบสินค้าตามสัญญา  พร้อมกับยกเหตุผลนั้นขึ้นต่อสู้ซื่อด้วย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื่อจะฟ้องบังคับไล่เบี้ยกล้วยและโกงได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด  

ธงคำตอบ

ก  ตั๋วเงินปลอม  อาจเกิดขึ้นได้จาก  2  กรณี  ได้แก่  การปลอมด้วยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงินนั้น  (มาตรา  1007) และการปลอมด้วยการลงลายมือชื่อปลอมหรือลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจ  (มาตรา  1008) 

1       ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน  เช่น  จำนวนเงินอันพึงจะใช้  (มาตรา  1007  วรรคสาม)  นั้น  ป.พ.พ.  ได้บัญญัติผลตามกฎหมายไว้  2  กรณีคือ

กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นประจักษ์  กล่าวคือ  มองเห็นได้หรือมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง  โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินเสียไป  แต่ยังคงใช้ได้กับผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  (มาตรา  1007  วรรคแรก)

            กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ประจักษ์  กล่าวคือ  มองไม่เห็น  หรือมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน  หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้  เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นตามเนื้อความเดิมก็ได้  (มาตรา  1007  วรรคสอง)

2       ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน  ป.พ.พ.  มาตรา  1006  ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว  ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น  ขณะเดี่ยวกัน  ป.พ.พ.  มาตรา  1008  ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลยผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้

            ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้  เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง  อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

            ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้  เว้นแต่  ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม

            ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้  เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น  กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น  กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป

ข  อธิบาย

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  916  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน           นั้นได้ไม่  เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา  959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ

(ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา …  914  ถึง  923  959  967

มาตรา  1007  ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด  หรือในคำรับรองตั๋วเงินใด  มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้  ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย  เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด                ๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

วินิจฉัย

เช็คพิพาทดังกล่าวมีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คแบบไม่ประจักษ์  เช็คพิพาทยังคงมีผลบังคับกับโกงตามเนื้อความที่แก้ไขเสมือนมิได้มีการแก้ไขเลย  และยังคงบังคับเอากับกล้วยให้ต้องรับผิดตามเนื้อความเดิม  (จำนวนคงเดิม)  ได้อีกด้วยตามมาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม

ดังนั้น  ในกรณีที่ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน  ชื่อซึ่งเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยโกง  ผู้สลักหลังเช็คพิพาทได้ตามจำนวนเงินที่แก้ไขใหม่  (60,000  บาท)  และหรือบังคับไล่เบี้ยกล้วยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้รับผิดตามจำนวนเงินเดิม  (50,000  บาท) โดยรับผิดร่วมกัน  อีกทั้งกล้วยไม่อาจยกเหตุผลที่มีต่อโกงขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้  เพราะเป็นความเกี่ยวพันระหว่างตนที่มีต่อโกงผู้ทรงคนก่อนตามมาตรา  900  วรรคแรก  914  916  959  ก)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  ซื่อสามารถฟ้องบังคับไล่เบี้ยกล้วยได้  50,000  และโกงได้  60,000  บาท โดยรับผิดร่วมกัน

Advertisement