การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก นายโอซังออกเงินและสิ่งของให้แก่นายโอกิมเพื่อเป็นทุนทำการประมง ซึ่งนายโอซังมีสมุดบัญชีเบิกเงินรายวันและราคาสิ่งของเป็นหลักฐาน เมื่อได้ปลามานายโอกิมจะส่งปลาให้กับนายโอซังในฐานะตัวแทนนำปลาไปขายให้กับนางทองแถมซึ่งนายโอซังจะได้เงินห้าเปอร์เซ็นต์ของราคาปลาเป็นค่าตอบแทน เมื่อนายโอซังได้รับบิลและเงินค่าปลาจากนางทองแถมแล้ว นายโอซังจะลงสมุดบัญชีการขายปลาของตนไว้ แล้วมอบบิลให้นายโอกิมไปลงบัญชีของฝ่ายนายโอกิมเพื่อจะได้มาตรวจสอบคิดหักทอนบัญชีกัน ทำให้รู้ว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันจำนวนเงินเท่าใดและจะทำเช่นนี้ทุกๆครั้งที่นายโอกิมได้ปลามา ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมกับนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ อย่างไร
ข ผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่มีธนาคารเป็นผู้จ่ายเงิน ขีดคร่อมตั๋วแลกเงินนั้นไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะ จะเกิดผลอย่างไรบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
นายโอกิมกับนายโอซัง ต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน และบุคคลทั้งสองได้ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นให้มีการนำหนี้ที่เกิดขึ้น แต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองที่ต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั้นมาตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยหักกลบลบกัน และชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมกับนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856
สรุป นิจิสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมและนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข อธิบาย
มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่
อธิบาย
ตามกฎหมายตั๋วเงิน แม้จะมีการบัญญัติให้ผู้สั่งจ่าย ผู้ทรง ธนาคาร ขีดคร่อมเช็คไม่ว่าจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม แต่ในส่วนของตั๋วแลกเงินนั้นมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม การขีดคร่อมนั้นๆย่อมไม่มีผลต่อตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด ตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
ข้อ 2 ก “ผู้ทรงตั๋วโดยชอบด้วยกฎหมาย” มีหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ข นิด ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้ วี จ่ายเงินให้แก่ เพ็ญ เป็นตั๋วแบบระบุชื่อ ต่อมา เพ็ญ สลักหลังเฉพาะระบุชื่อจ๋า แล้วส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้ จ๋า จากนั้น จ๋า นำตั๋วนั้นไปสลักหลังลอยขายลดให้แก่ชิต ซึ่งต่อมาชิต ก็ได้ส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้แก่โชติ แล้ว โชติก็สลักหลังตั๋ว นั้นโดยระบุชื่อเอก แล้วส่งมอบให้ เอก เพื่อชำระหนี้
จากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น เอก ถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
อธิบาย
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ
1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)
2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย
อนึ่ง การสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน
ข อธิบาย
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด
วินิจฉัย
จากข้อเท็จจริงตามกฎหายถือว่าชิตเป็นผู้ทรงตั๋วเงินระบุชื่อที่ได้มาจากการสลักหลังลอยของจ๋า จึงมีสิทธิส่งมอบตั๋วชำระหนี้ให้กับโชติต่อไปได้ ตามาตรา 920 วรรคสอง (3) ซึ่งก็จะถือว่าโชติเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วมาจากการสลักหลังลอยของจ๋าโดยตรงโดยไม่ผ่านมือของชิตเลย เพราะชิตได้โอนตั๋วมาโดยการส่งมอบจึงไม่ปรากฏลายมือชื่อของชิตในตั๋ว โดยไม่ถือว่าการโอนตั๋วนี้ขาดสายแต่อย่างใด ตามมาตรา 905 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อโชติถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋ว โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาโชติได้สลักหลังตั๋ว ชำระหนี้ให้เอก เอกก็ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
สรุป เอกเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) อาจใช้ดุลพินิจในการจ่ายเงินและอาจต้องสิ้นสุดอำนาจแล้หน้าที่ในการจ่ายเงินตามเช็คไว้อย่างไร
ข มกราได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารสินไทยในฐานะเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจลงนามตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทสินสยาม ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าระบุกุมภาเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ แต่กุมภาขอร้องให้มกรานำเช็คไปให้ธนาคารสินไทยรับรองก่อน และธนาคารสินไทยก็ได้ประทับตรามีข้อความรับรองและมีลายมือชื่อผู้แทนธนาคาร แล้วกุมภาได้สลักหลังขายลดเช็คนั้นให้แก่มีนา ก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงิน มกราได้โทรศัพท์และมีหนังสือบอกกล่าวไปที่ธนาคารสินไทยให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับนั้น เนื่องจากกุมภาไม่สามารถส่งมอบสินค้าเกษตรตามข้อตกลง และธนาคารทราบแล้ว ครั้นถึงวันกำหนดใช้เงินตามเช็คดังกล่าว มีนาได้นำเช็คนั้นไปมอบให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินแทน ผู้จัดการธนาคารสินไทยไม่แน่ใจว่าจะต้องจ่ายเงินหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นหรือไม่ ในฐานะที่ท่านเป็นทนายความที่ปรึกษากฎหมายของธนาคารขอให้ท่านแนะนำพร้อมอ้างอิงหลักกฎหมายตั๋วเงินให้แก่ธนาคาร อนึ่งธนาคารได้จ่ายเงินไปตามเช็คนั้นโดยฝ่าฝืนคำบอกห้ามของมกรา ธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกรา หรือเรียกร้องให้มกรารับผิดใช้เงินคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) อาจใช้ดุลพินิจในการจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่ก็ได้ในกรณีใดดรณีหนึ่งหรือหลายกรณีดังนี้ คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่าย) เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) ผู้ทรงยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค/วัน เดือน ปี ที่ลงในเช็ค หรือ
(3) ธนาคารทราบจากการที่มีคนบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป (มาตรา 991)
ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) ต้องสิ้นสุดอำนาจและหน้าที่ในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีใดกรณีหนึ่ง หรือหลายกรณีดังนี้ คือ
(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้น (โดยผู้สั่งจ่าย/ตัวแทน)
(2) ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายเช็ค (ส่วนบุคคล) ถึงแก่ความตาย
(3) ธนาคารได้รู้แล้วว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งนั้น (มาตรา 992)
ข อธิบาย
มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 992 หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
มาตรา 993 ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่น คำว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคำใดๆอันแสดงผลอย่างเดียวกันท่านว่าธนาคารผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น
ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้น ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น
ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและปวงผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่
วินิจฉัย
มกราผู้สั่งจ่ายเป็นผู้นำเช็คไปให้ธนาคารรับรอง และธนาคารก็ได้รับรองให้แล้ว ตามนัยมาตรา 900 วรรคแรก และ 993 วรรคแรก และวรรคสาม เป็นผลให้มกราผู้สั่งจ่ายยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อมีนาผู้ทรงเช็ค และมีผลทำให้ธนาคาร ต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็คตามนั้น การที่มกราได้มีคำบอกห้ามการจ่ายเงินตามเช็คในภายหลังที่ธนาคารได้รับรองไปแล้วตามมาตรา 992 (1) ธนาคารไม่จำต้องปฏิบัติตามคำบอกห้ามดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อธนาคารรับรองไปแล้วจะอ้างสิทธิไม่จ่ายเงินตามมาตรา 992 ไม่ได้ เพราะมาตราดังกล่าวหมายถึงธนาคารไม่ได้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ถ้าธนาคารไปรับรองแล้วก็เป็นลูกหนี้ชั้นต้น จะอ้างมาตรา 992 มาเป็นข้อยกเว้นอีกไม่ได้ จึงแนะนำให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้นได้ และสามารถหักเงินตามที่จ่ายไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกราได้ หรือเรียกร้องให้มกราชดใช้เงินตามที่จ่ายไปนั้นได้
สรุป ธนาคารสามารหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกราหรือเรียกร้องให้มกรารับผิดใช้เงินคืนได้