การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด จำนวน 200,000 บาท ได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชี โดยนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา ภายหลังลูกค้ามีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีเพียงเล็กน้อย จึงทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น รายเดือนตามประเพณีธนาคารเป็นเวลา 2 ปี บุญมีนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี บุญมีตายลง ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชนจำกัดเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา 2 ปี ตามสัญญาได้หรือไม่อย่างไร
หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 655 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ… ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดีในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนไม่”
ข กรณีของตั๋วแลกเงินและเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายจะสั่งให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอนให้กับผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินด้วย โดยคิดจากจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายได้หรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
การที่บุญมีเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด 200,000 และได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เป็นกรณีที่บุญมีใช้สิทธิเบิกเงินตามที่บุญมีฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเก่า มิใช่กรณีที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ ตามมาตรา 856 ต่อมาบุญมีทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี 500,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคารและมีการนำเงินเข้าฝากและถอนเรื่อยมานั้น การเบิกเงินเกินบัญชีของบุญมีดังกล่าว เป็นการที่บุญมีผู้ฝากเงินซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารได้ขอเบิกเงินเกินกว่าที่ตนเองมีสิทธิและเมื่อธนาคารยอมให้เบิก ธนาคารย่อมเป็นเจ้าหนี้และเมื่อมีการฝากถอนเงินไปใช้เรื่อยมา
ดังนี้ย่อมเป็นการที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดประเภทที่มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามมาตรา 856 และเมื่อบุญมีตายลงย่อมทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเรื่องการเฉพาะตัวของบุญมีสิ้นสุดลง ธนาคารย่อมหมดสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่บุญมีตายเท่านั้นจะคิดตามกำหนด 2 ปี ตามสัญญาไม่ได้ ตามมาตรา 655 (ฎ. 1862/2518)
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา 2 ปีตามสัญญาไม่ได้
ข อธิบาย
กรณีตั๋วแลกเงิน
ผู้สั่งจ่ายสามารถสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้ ตามมาตรา 911 ซึ่งมีหลักว่า
“ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้นถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน”
ดังนั้นถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินไม่ลงข้อกำหนดดอกเบี้ยลงในตั๋วแลกเงิน ผู้รับเงินหรือผู้ทรงก็จะเรียกดอกเบี้ยตามมาตรานี้ไม่ได้ สำหรับดอกเบี้ยนั้นตามปกติต้อไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าเกินต้องลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี และถ้าผู้สั่งจ่ายได้เขียนกำหนดดอกเบี้ยลงไว้ในตั๋วแลกเงิน แต่มิได้กำหนดว่าร้อยละเท่าใด ดังนี้ต้องนำมาตรา 7 มาบังคับ คือคิดร้อยละ 7.5 ต่อปี
สำหรับการคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 911 ถ้ามิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น ให้เริ่มนับจากวันที่ลงในตั๋วแลกเงินหรือวันออกตั๋วแลกเงิน
กรณีเช็ค
ผู้สั่งจ่ายไม่สามารถสั่งให้ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้ ดังนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คจะกำหนดดอกเบี้ยในเช็คไม่ได้ เพราะมาตรา 989 วรรคแรกมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 911 ไปใช้บังคับกับเช็คด้วย การคิดดอกเบี้ยในเช็คคงคิดได้ตามหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ กล่าวคือ คิดตามมาตรา 224 คือร้อยละ 7.5 ต่อปีในระหว่างผิดนัด (ฎ. 901/2505) ถ้ามีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในเช็ค กรณีย่อมเป็นผลตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า “ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่”
ข้อ 2 ก ธนาคารผู้มีหน้าที่ใช้เงินตามเช็คจะสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข ในวันที่ 15 ตุลาคม 2547 นายวันสั่งจ่ายเช็คธนาคารไกรทอง จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมากซึ่งตนเป็นลูกค้าอยู่จำนวน 100,000 บาท ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ระบุชื่อนายเดือนเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออกแล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านถนนรามคำแหงให้แก่นายเดือน ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2547 นายเดือนก็ยังไม่นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ ใช้เงิน เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ ต่อมาเมื่อนายเดือนเดินทางกลับมาจากต่างประเทศในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 นายเดือนได้รีบนำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ ใช้เงินในวันเดียวกันนั้นทันที เมื่อธนาคารไกรทองฯ ทำการตรวจสอบเงินในบัญชีของนายวันผู้สั่งจ่ายแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีที่ธนาคารจะสามารถจ่ายได้ จำนวน 1,000,000 บาท ต่อจากนั้นธนาคารไกรทองฯได้ทำการสอบถามไปยังนายวัน เมื่อนายวันทราบเรื่องก็แจ้งให้ธนาคารไกรทองฯ ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวทันที เพราะเห็นว่าเป็นเช็คที่ล่วงเลยเวลาใช้เงินตามเช็คมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ดังนี้ ธนาคารไกรทองฯ จะสามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
โดยหลักแล้ว ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) มีความผูกพันทางกฎหมาย (นิติสัมพันธ์) ในการใช้เงินตามเช็คต่อผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่ายเช็ค) จากบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายคือ ธนาคารผู้สั่งจ่ายจำต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เคยค้า) ได้เซ็นสั่งจ่ายเพื่อเบิกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น เว้นแต่ธนาคารผู้สั่งจ่ายอาจใช้ดุลพินิจจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามคำสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ได้ หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 991 ดังนี้คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่าย) เป็นเจ้าหนี้พอจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) มีผู้นำเช็คที่ผู้เคนค้าเป็นผู้สั่งจ่ายนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินเมื่อพ้น 6 เดือน นับแต่วันออกเช็ค (วันเดือนปีที่ลงในเช็ค) หรือ
(3) มีการบอกกล่าวว่าเช็คที่ธนาคารรับไว้นั้นเป็นเช็คที่หายหรือถูกลักไป
อนึ่งมาตรา 992 ได้วางหลักว่าในกรณีดังต่อไปนี้เป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายสิ้นอำนาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าได้เซ็นสั่งจ่ายเลิกเงินจากบัญชีของเขา คือ
(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นเอง
(2) ธนาคารผู้จ่ายทราบว่าผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นถึงแก่ความตาย
(3) ธนาคารผู้จ่ายรูว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น
ข อธิบาย
มาตรา 990 วรรคแรก ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น
มาตรา 992 หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารในกรุงเทนมหานคร เพื่อชำระหนี้ในกรุงเทพมหานคร จึงถือว่าเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน ดังนั้นผู้ทรงคือนายเดือนจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารฯจ่ายเงินภายใน 1 เดือนนับแต่วันลงในเช็ค คือภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 มิฉะนั้นจะมีผลตามมาตรา 990 วรรคแรก แต่ถึงแม้ในข้อเท็จจริงนายเดือนจะยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเลยระยะเวลานับแต่วันที่ลงในเช็คมากว่า 3 เดือนเศษแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าผู้สั่งจ่ายคือ นายวันยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 990 วรรคแรก ทั้งนี้เพราะมิได้ปรากฏว่าธนาคารไกรทองฯ ล้มละลายนายวันจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (ฏ. 1865/2492)
แต่ไม่ว่านายวันจะหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ก็ตาม หากปรากฏว่านายวันผู้สั่งจ่ายแจ้งกับธนาคารฯให้ธนาคารระงับการจ่ายแล้วก็ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายมีคำบอกกล่าวห้ามใช้เงินแล้ว ตามมาตรา 992(1) เมื่อธนาคารฯทราบแล้วธนาคารจะใช้ดุลยพินิจจ่ายเงินไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
สรุป ธนาคารไกรทองฯไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้
ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินที่ได้บัญญัติให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร หากปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะได้ประโยชน์ตามกฎหมายอย่างไร ตรงกันข้าม หากฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร
ข เหลืองได้รับโอนเช็คธนาคารสินไทย สาขาคลองจั่นจากดำไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เนื่องจากมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คดังกล่าว แดงเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายล่วงหน้าระบุขาวเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ และได้ขีดคร่อมทั่วไปไว้ แต่แดงได้ทำตกหายไปโดยไม่รู้ตัว ต่อมาเหลืองได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารกรุงทอง สาขารามคำแหงซึ่งเป็นสาขาที่เหลืองมีบัญชีเงินฝากเพื่อเรียกเก็บ พนักงานธนาคารกรุงทองได้ใช้ตราประทับซ้ำรอยขีดคร่อมทั่วไป เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทยเข้าบัญชีของเหลืองได้สำเร็จ และเหลืองได้ถอนเงินที่เดรียกเก็บมานั้นไปใช้แล้วบางส่วน
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักกฎหมายโดยสังเขปในประเด็นดังต่อไปนี้
(1) บุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คดังกล่าว
(2) ธนาคารทั้งสอง ยังคงต้องรับผิดต่อใครหรือไม่
(3) ธนาคารสินไทยจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(4) แดงได้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขาวแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงินด้วยการจำแนกเช็คขีดคร่อม 3 ประเภท ได้แก่ เช็คขีดคร่อมทั่วไป เช็คขีดคร่อมเฉพาะ และเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าหนึ่งธนาคารหนึ่งขึ้นไป กล่าวคือ
(1) กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมทั่วไป
ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็คนั้น จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างธรรมดาเช่นเช็คธรรมดาที่มิได้ขีดคร่อมมิได้ (มาตรา 994 วรรคแรก)
(2) กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะ
ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาหรือจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้มิได้ (มาตรา 994 วรรคท้าย)
(3) กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารมากกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป
ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้ (มาตรา 995 (4) ประกอบมาตรา 997 วรรคแรก)
อนึ่ง ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัย มาตรา 1009) กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ปกติให้แก่ผู้ทรงเดิม) และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้ (มาตรา 998)
ตรงกันข้าม หากธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คขีดคร่อมเป็นอย่างอื่น เช่น ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คแทนที่จะเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเช็ค หรือใช้เงินสดให้แก่พนักงานธนาคารอื่นผู้ยื่นเช็ค หรือใช้เงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ หรือมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินกรณีที่มีการขีดคร่อมเฉพาะเกินกว่า 1 ธนาคาร หรือใช้เงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามหลักเกณฑ์ (1) (2) และ (3) ดังกล่าวข้างต้น กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายยังจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายจากการที่มิได้ใช้ประโยชน์จากเช็คขีดคร่อมนั้น (มาตรา 997 วรรคสองตอนท้าย) อีกทั้งไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่าย เพราะถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ (มาตรา 1009)
ข อธิบาย
มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว
มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่
มาตรา 1009 ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
วินิจฉัย
(1) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของแดงผู้สั่งจ่าย ต้องถือว่าแดงยังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้
(2) ธนาคารทั้งสอง ได้แก่ ธนาคารสินไทยฯ ในฐานะธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะและธนาคารกรุงทองในฐานะธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คที่ตนเองได้ขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของเหลืองผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายต่างก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะแล้วย่อมไม่ต้องรับผิดต่อแดงเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาทรายนี้ ตามมาตรา 998 และมาตรา 1000
(3) ธนาคารสินไทยจ่ายเงินไปตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะตามมาตรา 998 แล้ว ย่อมถือว่าได้จ่ายเงินไปโดยถูกระเบียบย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้ตามนัย มาตรา 1009
(4) แดงไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขายแต่อย่างใดทั้งมูลหนี้เดิม และมูลหนี้ตามเช็ค เนื่องจากเป็นมูลหนี้เดียวกัน เพราะเช็คพิพาทนั้นยังมิได้ตกไปถึงมือขาวผู้รับเงินตามมาตรา 998