การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก พลับพลาได้งานถมดินสนามบินหนองงูเหลือมต้องใช้รถยนต์บรรทุกดินเป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกกับการเติมน้ำมันให้กับรถบรรทุกดินพลับพลาจึงทำข้อตกลงกับบริษัท ป.ต.อ. จำกัด ผู้ให้บริการน้ำมันที่ตำบลหนองงูเหลือม โดยรถยนต์บรรทุกดินของพลับพลาจะเติมน้ำมันที่บริษัท ป.ต.อ. จำกัด จนกว่างานถมดินจะเสร็จโดยบริษัท ป.ต.อ. จำกัด จะเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ของพลับพลาไปก่อนและส่งใบเสร็จค่าน้ำมันและยอดเงินที่พลับพลา จะต้องชำระให้พลับพลาตรวจทุกๆ 45 วัน ส่วนพลับพลาจะชำระราคาน้ำมันให้กับบริษัท ป.ต.อ. จำกัดภายใน 15 วันนับแต่ที่ทางบริษัท ป.ต.อ. จำกัด ส่งใบเสร็จค่าน้ำมันและยอดเงินที่ต้องชำระ ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท ป.ต.อ. จำกัด เป็นบัญชีเดินสะพัดหรือไม่เพราะเหตุใด
ข ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้สั่งจ่ายเช็ค จะเขียนข้อกำหนดว่า ให้ผู้จ่ายผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ธนาคารผู้ใช้เงิน ชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วเงินด้วยได้หรือไม่ ถ้าได้จะคิดดอกเบี้ยกันแต่วันใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท ป.ต.อ. จำกัด นั้นเป็นการซื้อขายน้ำมันกันโดยที่บริษัท ป.ต.อ. จำกัด ส่งมอบน้ำมันให้กับพลับพลาไปก่อนแล้วพลับพลาจะชำระราคาให้ในภายหลัง ดังนั้นพลับพลาผู้ซื้อจึงเป็นลูกหนี้บริษัท ป.ต.อ. จำกัด ผู้ขายอยู่ฝ่ายเดียวที่จะต้องชำระราคาน้ำมัน โดยที่บริษัท ป.ต.อ. จำกัดก็เป็นเจ้าหนี้อยู่ฝ่ายเดียวเช่นกันที่มีสิทธิที่จะได้รับชำระราคา ทั้งคู่จึงไม่ได้ตกลงกันตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแก่กิจการในระหว่างพลับพลากับบริษัท ป.ต.อ. จำกัด โดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท ป.ต.อ. จำกัดจึงมิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856
ข อธิบาย
1 กรณีเป็นตั๋วแลกเงิน ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินว่าให้ผู้จ่ายชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วแลกเงินด้วยก็ได้ และจะเริ่มคำนวณนับดอกเบี้ยกันเมื่อใดก็สุดแล้วแต่ผู้สั่งจ่ายจะกำหนดไว้ หากมิได้กำหนดไว้กฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันเดือนปีที่ลงในตั๋วแลกเงินนั้น (มาตรา 911)
2 กรณีเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินว่าจะชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยก็ได้ และจะเริ่มคำนวณนับดอกเบี้ยกันเมื่อใดก็สุดแล้วแต่ผู้ออกตั๋วจะกำหนดไว้ หากมิได้กำหนดไว้กฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันเดือนปีที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเช่นเดียวกับตั๋วแลกเงิน เนื่องจากมาตรา 985 วรรคแรก บัญญัติให้นำมาตรา 911 มาใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย (ฎ. 193/2536)
3 กรณีเป็นเช็ค ผู้สั่งจ่ายเช็คจะเขียนข้อกำหนดลงไว้ในเช็คว่าให้ธนาคารผู้จ่ายชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้กับผู้ทรงเช็คด้วยไม่ได้ เนื่องจากมาตรา 989 วรรคแรก มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 911 มาใช้บังคับกับเช็คด้วย (ฎ. 3421/2525)
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างพลับพลากับบริษัท ป.ต.อ. จำกัด มิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข้อ 2 ก ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้นผู้สลักหลังสามารถที่จะทำการสั่งห้ามมิให้ทำการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนั้นต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายมาโดยละเอียด
ข นาย A สั่งจ่ายเช็คจำนวน 100,000 บาท ระบุชื่อนาย B เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกแล้วส่งมอบให้แก่ นาย B เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่มีต่อกัน ต่อมานาย B ได้สลักหลังเช็คฉบับนั้นชำระค่าเช่าอาคารให้แก่นาย C พร้อมทั้งระบุข้อความ “ห้ามสลักหลังต่อไป” ลงไว้ในเช็คฉบับนั้นด้วย ต่อมานาย C นำเช็คนั้นไปสลักหลังขายลดให้กับนาย D ต่อมานาย D สลักหลังเช็คนั้นให้แก่นาย E เพื่อเป็นค่าสินค้า เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระเงินนาย E นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น
ถามว่า นาย E จะสามารถบังคับไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย C ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 923 “ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง”
จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิผู้สลักหลังระบุข้อความห้ามโอนหรือห้ามสลักหลังต่อลงไว้ในตั๋วแลกเงินได้เช่นเดียวกับผู้สั่งจ่าย ซึ่งถ้าผู้รับสลักหลังฝ่าฝืนข้อห้ามทำการสลักหลังโอนต่อไปอีก ผลก็คือ ผู้สลักหลังที่ระบุข้อความห้ามโอนไว้ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนสุดท้ายตลอดจนบรรดาผู้สลักหลังทั้งหลายที่สลักหลังภายหลังผู้สลักหลังที่ถูกระบุห้ามโอนนั้น
ข อธิบาย
มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
มาตรา 923 ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง
มาตรา 967 วรรคแรก ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว หรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923…967 971
วินิจฉัย
จากข้อเจจริงนาย B ได้สลักหลังโดยระบุข้อความห้ามสลักหลังต่อไปไว้ด้วยนั้น มิได้ทำให้สภาพการเปลี่ยนมือได้ของเช็คฉบับนั้นสิ้นสุดลงแต่ประการใด เพียงแต่มีผลให้นาย E ไม่สามารถไล่เบี้ยนาย B ได้เท่านั้น แต่สำหรับผู้สลักหลังรายอื่นๆแล้ว ยังคงต้องรับผิดต่อนาย E อยู่ ตามมาตรา 900 ประกอบมาตรา 914 , 967 วรรคแรกและสอง
ดังนั้น นาย E จึงสามารถบังคับไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย C ได้ ตามมาตรา 900 , 914 , 923 , 967 วรรคแรกและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก
สรุป นาย E สามารถไล่เบี้ยเอาเงินตามเช็คจากนาย C ได้
ข้อ 3 ก ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายในกรณีที่ธนาคารจ่ายเงินโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม
ข แดงลงลายมือชื่อเขียนแล้วขีดคร่อมทั่วไป สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพสาขาคลองจั่น จ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท ระบุขาวเป็นผู้รับเงินโดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระราคาคอมพิวเตอร์ให้แก่ขาว ก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามเช็ค ขาวทำเช็คนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว ดำเก็บได้จึงปลอมลายมือชื่อขาวสลักหลังโอนเช็คนั้นให้แก่เหลืองซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจำนวน 1 ห้อง ต่อมาเหลืองได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารทหารไทยสาขาหัวหมากที่ตนมีบัญชีเงินฝากเรียกเก็บเงินได้สำเร็จ และได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วทั้งหมด ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าขาวจะเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย แดง และเหลือง ให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank)
– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้ (มาตรา 994 วรรคแรก)
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้ (มาตรา 994 วรรคสอง)
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้ (มาตรา 995 (4) ประกอบมาตรา 997 วรรคแรก)
(2) ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม
– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี
ผล ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น (ผู้ทรงเดิม) ในการที่น่าต้องเสียหาย (มาตรา 997 วรรคสอง) และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้ เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม (มาตรา 1009)
ข อธิบาย
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว
มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่
มาตรา 1008 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
วินิจฉัย
การที่แดงเขียนสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นพร้อมทั้งส่งมอบให้ขาวแล้วอีกทั้งไม่ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ ได้จ่ายเงินตามเช็คให้ธนาคารทหารไทยผู้เรียกเก็บเข้าบัญชีของเหลืองผู้ทรงไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ย่อมถือว่าธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทหารไทยต่างได้กระทำการโดยมิได้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การจ่ายและรับเงินตามเช็คขีดคร่อม ธนาคารกรุงเทพจึงหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้อันเป็นผลให้แดงย่อมได้สิทธิเช่นเดียวกันกับธนาคารกรุงเทพผู้จ่าย เสมือนว่าแดงได้ชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่ขาวแล้ว ตามมาตรา 998 อีกทั้งธนาคารไทยผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเหลืองลูกค้าของตนโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อ แม้เหลืองจะไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิบกพร่อง ธนาคารทหารไทยก็ไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คนั้นต่อขาว ตามมาตรา 1000
อนึ่ง การที่เช็คดังกล่าวมีลายชื่อขาวเป็นลายมือชื่อปลอม แม้ว่าเหลืองจะรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม เหลืองย่อมอยู่ในฐานะที่ไม่อาจไปบังคับไล่เบี้ยจากขาวได้ อีกทั้งจะยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็มิได้ ดังนี้ ขาวย่อมเรียกร้องให้เหลืองคืนเงินตามเช็คนั้นให้แก่ขาวได้ ตามมาตรา 905 วรรคแรก และวรรคสอง ประกอบมาตรา 1008 วรรคแรก