การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเก่งจดทะเบียนสมรสกับนางกิ่ง นางกิ่งเอาประกันชีวิตนายเก่งไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะจํานวนเงินเอาประกัน 5 แสนบาท มีกําหนดระยะเวลา 20 ปี โดยนางกิ่ง เป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทําสัญญา 5 ปีต่อมา นายเก่งจดทะเบียนหย่าขาดจากนางกิ่งเนื่องจาก นายเก่งสืบทราบว่านางกิ่งแอบคบกับผู้ชายคนหนึ่งอยู่ ต่อมาอีก 5 เดือน นายเก่งถึงแก่ความตาย เพราะอุบัติเหตุรถยนต์ นางกิ่งมายื่นขอรับเงินประกันจํานวน 5 แสนบาท แต่บริษัทปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่าการที่นางกิ่งได้หย่าขาดจากนายเก่งแล้วนั้น นางกิ่งจึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางกิ่งไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเก่งอีกต่อไป
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้
คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้
อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
วินิจฉัย
สัญญาประกันชีวิตนั้นถือว่าเป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง จึงต้องนําเอาบทบัญญัติใน หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย คือจะต้องมีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้เอาประกันภัยด้วย ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นก็ได้ สัญญาประกันชีวิตจึงจะมีผลผูกพันคู่สัญญา (มาตรา 863)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งจดทะเบียนสมรสกับนางกิ่ง และต่อมานางกิ่งเอาประกันชีวิต นายเก่งไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะนั้น ถือว่าเป็นการประกันชีวิตของผู้อื่น ซึ่งเมื่อ พิจารณาตัวผู้เอาประกันภัยคือนางกิ่งจะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับนายเก่งในฐานะคู่สมรส จึงถือว่านางกิ่ง มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 และประการสําคัญส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันจะต้องมีอยู่ ในขณะทําสัญญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะทําสัญญานางกิ่งมีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเก่งเนื่องจาก ขณะนั้นยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา แม้ต่อมาส่วนได้เสียจะหมดไปเพราะหย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทําให้สัญญาที่มีผลผูกพันกันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันกันในภายหลัง
และในสัญญาประกันภัยนั้นตามมาตรา 863 ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ที่จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าผู้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ ประกันภัยด้วยแต่อย่างใด อีกทั้งตามมาตรา 862 วรรคท้าย ก็ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้ ดังนั้น เมื่อนายเก่งถึงแก่ความตายภายในกําหนดเวลาของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทประกันชีวิตจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่นางกิ่งผู้รับประโยชน์ตามสัญญา การที่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่ นางกิ่งโดยอ้างว่า การที่นางกิ่งได้หย่าขาดจากนายเก่งแล้วนั้น นางกิ่งจึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางกิ่ง ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเก่งอีกต่อไปนั้น ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 ห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภเป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อราคา 2 ล้านบาท ได้นํารถคันดังกล่าวไปทําสัญญาประกันภัยประเภทที่ 3 คือคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอก จํานวนเงิน ซึ่งเอาประกันภัย 1 ล้านบาท หลังจากทําสัญญาได้ 2 เดือนต่อมา ห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภขายรถ ที่เอาประกันให้นายโชคดีราคา 1 ล้านบาท โดยตกลงชําระราคาเดือนละ 1 แสนบาท และกรรมสิทธิ์ โอนเมื่อจ่ายครบ 10 เดือน อีก 3 เดือนต่อมาในระหว่างสัญญาประกันภัยมีผลบังคับ นายดวงดีลูกจ้าง ของนายโชคดีขับรถบรรทุกคันดังกล่าวชนท้ายรถของนายมีโชคโดยประมาทตีราคาความเสียหาย 3 แสนบาท นายมีโชคจึงเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่านายมีโชคไม่มีสิทธิ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายมีโชคมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อ ได้นํารถคันดังกล่าว ไปทําสัญญาประกันภัยประเภทที่ 3 คือคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอก โดยบริษัทผู้รับ ประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยนั้น สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นสัญญา ประกันภัยค้ำจุน และถึงแม้ว่าต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภจะได้ขายรถที่เอาประกันให้แก่นายโชคดีก็ตาม บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาประกันภัยค้ำจุนรายนี้คือ ห้างหุ้นส่วนจํากัดผู้เอาประกันภัยและบริษัทผู้รับประกันภัย ตามมาตรา 887 วรรคหนึ่ง สัญญาประกันภัยค้ำจุนนั้น เป็นสัญญาซึ่งผู้รับประกันภัยได้ตกลง ว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่ง ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ แต่ตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีที่วินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดจากผู้เอาประกันภัย คือห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่บุคคลอื่นคือนายดวงดีลูกจ้างของนายโชคดีซึ่งเป็นผู้ที่ ซื้อรถไปโดยมีเงื่อนไข ได้ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวไปชนท้ายรถของนายมีโชคโดยประมาท ทําให้รถของนายมีโชค ได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เป็นกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดมีลาภผู้เอาประกันภัยจะต้อง รับผิดชอบแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน กล่าวคือ บริษัทผู้รับประกันภัย จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยให้แก่นายมีโชค ดังนั้น นายมีโชคจึงไม่มีสิทธิ ที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
สรุป
นายมีโชคไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ในการนี้ได้
ข้อ 3 นายรุ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกุ้ง นายรุ่งทําสัญญาประกันชีวิตแบบมรณะไว้กับบริษัท เรืองรองประกันชีวิต จํากัด วงเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท มีกําหนด 20 ปี และระบุให้นางกุ้ง เป็นผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ ได้จัดส่งกรมธรรม์ให้นางกุ้งเก็บไว้แล้ว ต่อมาทั้งสองมีปัญหากัน นายรุ่งจึงทําหนังสือถึงบริษัทฯ แสดงความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์เป็นนายบุ้งบุตรชาย ที่เกิดจากภริยาเก่า อีก 1 ปีต่อมา นายรุ่งขับรถไปประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นางกุ้งจึงมาขอรับเงิน ประกันในสัญญา บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายโดยอ้างว่าบริษัทฯ อนุมัติจ่ายให้นายบุ้งไปแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางกุ้งจะมีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอา ประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่า ตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรุ่งซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกุ้ง ได้ทําสัญญา ประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งความมรณะไว้กับบริษัท เรืองรองประกันชีวิต จํากัด วงเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท มีกําหนด 20 ปี และระบุให้นางกุ้งเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่านายรุ่งผู้เอาประกันภัย มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อทําสัญญาประกันชีวิต ได้ 1 ปี นายรุ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ซึ่งเป็นการเสียชีวิตภายในกําหนดเวลาที่เอาประกันไว้ บริษัทฯ จึงต้องใช้เงิน จํานวน 2 ล้านบาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นตามมาตรา 889
สําหรับผู้รับประโยชน์ที่มีสิทธิได้รับเงินจํานวน 2 ล้านบาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เดิมนายรุ่งได้ระบุให้นางกุ้งเป็นผู้รับประโยชน์และนางกุ้งได้รับมอบกรมธรรม์ไว้แล้ว แต่เมื่อนางกุ้งยังไม่ได้ทํา หนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น สิทธิของนางกุ้งจึงยังไม่สมบูรณ์ นายรุ่ง ผู้เอาประกันภัยจึงสามารถโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่นายบุ้งบุตรชายได้ตามมาตรา 891 และเมื่อผู้ถือว่า นายกุ้งเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น การที่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่นางกุ้งโดยอ้างว่าบริษัทฯ ได้อนุมัติจ่าย ให้แก่นายบุ้งไปแล้วนั้น การที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินให้กับนายบุ้งจึงชอบด้วยกฎหมาย นางกุ้งไม่มีสิทธิเรียกร้องเงิน ดังกล่าว เพราะถือว่านางกุ้งมิใช่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา
สรุป นางกุ้งไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว